“กรณ์”ชี้แก้เหลื่อมล้ำ เมืองกับชนบท ต้องดึงพลังท้องถิ่นร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ

13 ก.ย. 2563 | 03:11 น.

“กรณ์”ชี้แก้เหลื่อมล้ำ เมืองกับชนบท ต้องดึงพลังท้องถิ่นร่วมพัฒนาเศรษฐกิจเพิ่มจีดีพีชาติ แนะลงทุนบิ๊กดาต้า ยกเครื่องระบบราชการล้าหลัง วางแผนช่วยเกษตรกร ปลดแอกนายทุนผูกขาด

นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวในเวทีสาธารณะ “ทิศทางการขับเคลื่อนระบบวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมของประเทศไทย” จัดโดย สกสว. โดยประเด็นที่นำมาหารือกันในครั้งนี้คือ  “ระเบิดเวลาของความเหลื่อมล้ำ กับดักของการพัฒนาประเทศ” 

นายกรณ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาการพัฒนาประเทศจะกระจุกตัวกันอยู่แต่ในเมืองหลวง อีกทั้งวัฒนธรรมการเมืองก็ตอกย้ำให้เป็นเช่นนั้น ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างสังคมเมืองกับชนบท ดังนั้นการจะเปลี่ยนแปลงให้เป็นรูปธรรมจับต้องได้ ต้องกระจายอำนาจและงบประมาณจากกรุงเทพฯ ไปสู่ต่างจังหวัด และต้องเปลี่ยนทัศนคติที่ว่า การตัดสินใจที่ดีต้องมาจากคนทั้งประเทศไม่ใช่เฉพาะคนในกรุงเทพฯเท่านั้น 

นายกรณ์ กล่าวว่า สมัยที่ตนเป็น รมว.การคลัง พบว่ามีการจับเก็บภาษีท้องถิ่นได้ต่ำมากประมาณ 7-8% เท่านั้น และไม่มีการผลักดันจากนักการเมืองท้องถิ่น เนื่องจากจะกระทบถึงคะแนนเสียง ท้องถิ่นจึงต้องรอเงินอุดหนุนจากภาครัฐ ที่มาพร้อมเงื่อนไขในการใช้เงิน 

 “กรณ์”ชี้แก้เหลื่อมล้ำ เมืองกับชนบท ต้องดึงพลังท้องถิ่นร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม มองว่านอกจากจะกระจายอำนาจแล้วต้องกระจายความรับผิดชอบตัวเองด้วย จากที่ได้มีโอกาสลงพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.ภูเก็ต ระดับการเก็บภาษีท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศค่อนข้างสูง แต่การได้กลับมาสู่ท้องถิ่นนั้นเขามองว่าไม่คุ้ม และถูกเอาเปรียบ 

นอกจากนี้วิธีการจัดสรรงบประมาณ ต้องไม่แบ่งตามจำนวนประชากร แต่ต้องแบ่งเชิงยุทธศาสตร์ที่เท่าเทียมและต้องมีตัวชี้วัดด้วย ยกตัวอย่างกระทรวงสาธารณสุข ที่วัดด้วยจำนวนหมอต่อประชากร เมื่อเทียบกับ  จ.ศรีษะเกษ สัดส่วนหมอต่อประชากร คือ หมอ 1 คน ต่อประชากร 5,000 คน ในขณะที่ในขณะที่กรุงเทพฯ หมอ 1 คน ต่อประชากร 500 คน จะเห็นว่ามีความเหลื่อมล้ำสูงมาก  

ดังนั้น การเข้าถึงสิทธิพื้นฐานขอองการรักษาพยาบาลจึงควรเท่าเทียมโดยการให้อิสระท้องถิ่นในการบริหารจัดการที่จำเป็นและให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชน ขณะเดียวกันการลงทุนระบบสาธารณูปโภคก็ต้องเพิ่มโอกาสในการทำมาหากิน การจัดสรรที่ทำกินก็ต้องคำนึงถึงการเข้าถึงน้ำที่ใช้ในการเพาะปลูกด้วย 

“โอกาสทางเศรษฐกิจ ต้องเป็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ประชาชนต้องสามารถทำมาหากินได้ทั่วประเทศ พรรคกล้า จึงได้แบ่งการบริหารออกเป็น 19 คลัสเตอร์ ตามธรรมชาติ ความเป็นอยู่ การคมนาคม รวมถึงวิถีชีวิตในหลายมิติ เช่น มีโซนอันดามัน โซนข้าวหอมมะลิ ซึ่งความต้องการในแต่ละโซนก็ต้องมาจากข้างล่างที่มีโอกาสเพิ่มมาตรฐานความเป็นอยู่ของเขาได้ “ 

 “กรณ์”ชี้แก้เหลื่อมล้ำ เมืองกับชนบท ต้องดึงพลังท้องถิ่นร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ

หัวหน้าพรรคกล้า กล่าวด้วยว่า ถ้ามองย้ำไป 30-40 ปี ที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจจะเน้นส่งเสริมทุนใหญ่โดยมองเพียงทำอย่างไรให้อุตสาหกรรมเติบโตขึ้น ทำอย่างไรให้นักลงทุนต่างประเทศมาลงทุน แต่หากเราพูดถึงความเจริญสู่ท้องถิ่นเราต้องเปลี่ยนวิธีคิด โจทย์คือทำอย่างไรให้ท้องถิ่นมีโอกาสพัฒนาเศรษฐกิจ เช่น อุตสาหกรรมพลังงาน 

“เราผิดหวังที่ รมว.พลังงานคนใหม่ มายกเลิกพลังงานชุมชน ทั้งที่เป็นการกระจายโอกาสของผู้ผลิตลงไปสู่ท้องถิ่น เกษตรกรสามารถมีส่วนร่วมในการผลิตพลังงานไบโอแก๊ส สร้างโอกาสและรายได้ให้กับประชาชน และยังได้สิทธิในการถือหุ้นด้วยการยกเลิกที่เกิดขึ้น เชื่อว่าน่าจะเป็นเรืองผลประโยชน์เฉพาะกลุ่ม เนื่องจากไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน และเป็นนโยบายที่สวนทางกับรัฐมนตรีท่านก่อน “

อย่างไรก็ตาม หากการตั้งโจทย์ครั้งแรกสามารถกำหนดทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่คำนึงถึงโอกาสในการเพิ่มการเข้าถึงของประชาชน จะทำให้เราเติบโตไปพร้อมๆ กัน มันอาจจะทำให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 5% จากการมีส่วนร่วมของชุมชน ความเหลื่อมล้ำก็น่าจะส่งผลในทางบวก ซึ่งมันอาจจะดีกว่าการที่เราตั้งเป้าจีดีพี 7% ที่เป็นการพัฒนาโดยการผูกขาดนายทุนใหญ่ไม่กี่ราย

 “กรณ์”ชี้แก้เหลื่อมล้ำ เมืองกับชนบท ต้องดึงพลังท้องถิ่นร่วมพัฒนาเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ หัวหน้าพรรคกล้า ยังมองว่าด้วยว่า การจะพัฒนาประเทศต้องรื้อระบบราชการ ซึ่งหากการดิสรัปชั่นจากข้างในทำได้ยาก ก็ต้องทำจากข้างนอกโดยใช้เทคโนโลยีที่เราสร้างระบบคู่ขนาน วันนี้เราทำได้ดีพอสมควร ยกตัวอย่างระบบของสรรพากร แต่ก็ยังเป็นแบบไซโล ต่างคนต่างทำ เราสามารถทำร่วมกันได้ด้วยระบบ  e-government สุดท้ายแล้วมันจะแทนที่ได้เอง 

ขณะเดียวกันก็ควรย้ายบางกระทรวงออกจากกรุงเทพฯ เพื่อลดความแออัด และส่งผลในทางจิตวิทยาที่ศูนย์อำนาจได้กระจายไป คุณภาพชีวิตอาจจะดีขึ้น และความได้เปรียบก็ไม่อยู่แต่ในกรุงเทพ ขณะเดียวกันในเรื่องของฐานข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญ รัฐบาลต้องลงทุนเพื่อการวางแผนพัฒนาประเทศในทุกมิติ 

“ผมเห็นความสำคัญของงานวิจัย โดยเฉพาะในเรื่องของข้อมูล นักการเมืองปกติก็ใช้ข้อมูลแบบนั่งเทียนกันเยอะ ในเรื่องของนโยบาย ข้อมูลที่ได้จากราชการก็ไม่ทันต่อยุคสมัย ดังนั้นงานวิเคราะห์ในการใช้ข้อมูล จะส่งผลอย่างมาก เช่น เรื่องการพัฒนาการเกษตร โอกาสทำมาหากิน ในภาคการเกษตรยังมีความสำคัญเพื่อให้ผู้ผลิตคือ เกษตรกรได้ประโยชน์ และปัจจัยที่ทำให้ดีขึ้นคือเข้าถึงตลาด ต้องมีการวางแผนการเพาะปลูก ข้อมูลจะนำไปสู่คำตอบได้ เพียงแต่เขาลงทุนไม่ได้ รัฐบบาลต้องมีหน้าที่จัดซื้อข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ถึงโอกาส ปัจจุบันข้อมูลเหล่านี้อยู่ในมือของต่างชาติเจ้าของแพลตฟอร์ม ทำให้เขารู้จักตัวตนเรามากว่าเรารู้จักตัวเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการ” นายกรณ์ ระบุ