เปิดข้อเสนอแก้รธน.60 ตั้งส.ส.ร.รื้อใหม่ทั้งฉบับ

12 ก.ย. 2563 | 03:00 น.

 

ผลการศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ได้นำเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2563 ที่ผ่านมา

 

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นประธานคณะกรรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาเรื่องนี้ ได้สรุปเนื้อหารายงานต่อที่ประชุมสภาฯ มีสาระสำคัญต่อข้อเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่น่าสนใจ ดังนี้

 

ข้อเสนอเกี่ยวกับ “การเลือกตั้ง” ให้กลับไปเป็นระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบคือ เลือกส.ส. เขตมี 400 คน และ ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 คน ทั้งนี้เพราะเห็นว่าแนวทางรัฐธรรมนูญปี 2540 มีความเหมาะสม และไม่เห็นด้วยให้เสนอชื่อนายกฯ ไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงให้ยกเลิกวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือแก้ไขวิธีการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น

 

ส่วน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ควรให้มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ และข้าราชการระดับสูงได้ ตลอดจนให้แก้ไขที่มาส.ว. ไม่ให้เลือกกันเองในกลุ่มอาชีพเดียวกัน ขณะเดียวกัน ผู้ที่เป็นรัฐมนตรีไม่สามารถดำรงตำแหน่งส.ส.ได้ในเวลาเดียวกัน

 

ในส่วนการตรวจสอบการทำหน้าที่ของผู้พิพากษา ควรมีระบบในลักษณะการถ่วงดุลอำนาจในระบอบประชาธิปไตยระหว่างองค์กรที่ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ มิใช่ให้ฝ่ายตุลาการตรวจสอบกันเอง ขณะที่ฝ่ายตุลาการสามารถตรวจสอบฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารได้ '

 

                                     เปิดข้อเสนอแก้รธน.60 ตั้งส.ส.ร.รื้อใหม่ทั้งฉบับ

 

 

นอกจากนี้ ฝ่ายนิติบัญญัติ ควรมีอำนาจตรวจสอบการใช้ดุลพินิจในคำพิพากษา คำชี้ขาดของตุลาการได้ในหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อถ่วงดุลการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งกันและกัน รวมถึงบัญญัติให้ผู้พิพากษา ตุลาการ สามารถถูกกล่าวหาต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีใช้ดุลพินิจโดยมิชอบได้ 

 

ส่วนหมวดศาลรัฐธรรมนูญนั้น ควรให้รัฐสภาที่เป็นตัวแทนประชาชนมีอำนาจตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญได้ในบางกรณีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ขณะเดียวกันควรกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจและอำนาจขององค์กรอิสระให้เหมาะสมมากขึ้น และกรรมการองค์กรอิสระก็ไม่ควรดำรงตำแหน่งนานเกินไป

 

 

 

สำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 256 นั้น เสียงส่วนใหญ่ของกรรมาธิการฯ เห็นว่า ควรยกเลิกเงื่อนไขการแก้รัฐธรรมนูญที่ต้องใช้เสียงส.ว.เห็นชอบ 1 ใน 3 เป็นการใช้เสียงข้างมากของรัฐสภา โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจากประชาชน มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ยกเว้นหมวด 1 และ 2 และจัดให้มีการออกเสียงประชามติหลังจากยกร่าง รัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว 

 

ขณะที่เรื่องการปฏิรูปประเทศ ควรนำออกจากรัฐธรรมนูญไป เพราะไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศ และล่าช้า ควรกำหนดให้การปฏิรูปประเทศไปอยู่ในกฎหมายรองๆ ลงไป 

 

ส่วนศาลยุติธรรม มีข้อเสนอว่าไม่ควรตั้งผู้พิพากษาเป็นกรรมการในหน่วยงานหรือองค์กรอื่นของรัฐ รวมถึงไม่ควรเข้ารับการอบรมของหน่วยงานของรัฐ ขณะที่ศาลไม่ควรตั้งหลักสูตร อบรม เพราะจะเปิดช่องให้เกิดความใกล้ชิด สร้างสัมพันธ์ส่วนตัวซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนได้  

 

ศาลปกครองไม่ควรใช้มติของที่ประชุมใหญ่ของศาลเพื่อแก้ไขกฎหมายเอง ขณะที่ศาลทหารเสนอให้จำกัดกรอบพิจารณาเฉพาะเจ้าหน้าที่ทหาร เว้นกรณีมีศึกสงคราม 

 

 

ส่วนบทเฉพาะกาล มาตรา 269 เรื่องที่มาส.ว.นั้น มีความเห็นเป็น 2 แนวทางคือ 1. ยกเลิกวุฒิสภาที่มาจากบทเฉพาะกาลตามมาตรา 269 และ 2. วุฒิสภาชุดปัจจุบันให้ทำหน้าที่ต่อไปจนครบ 5 ปี แต่อาจปรับบทบาทหน้าที่ เช่น เรื่องการโหวต เลือกนายกฯ 

 

ขณะที่มาตรา 272 เรื่องการให้ส.ว.มีอำนาจลงมติเลือกนายกฯ นั้น เสียงส่วนใหญ่เห็นสมควรให้ยกเลิกมาตรา 272 โดยให้การเลือกนายกฯ ทำได้ในสภาฯ เหมือนในอดีต 

 

สำหรับมาตรา 279 นั้น กรรมา ธิการฯ มีความเห็นในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ ควรยกเลิก เพราะทำให้ไม่สามารถตรวจสอบประกาศ คำสั่งของคณะปฏิวัติได้ ขณะที่อีกความเห็นคือไม่ควรแก้ไข เพราะกังวลว่าจะมีผล กระทบทางกฎหมาย แต่หากคำสั่ง หรือประกาศใดที่ควรยกเลิกนั้น ควรใช้กลไกของรัฐสภาออกเป็นพระราชบัญญัติ 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,609 หน้า 10 วันที่ 13 - 16 กันยายน 2563