เอกซเรย์‘คดีดัง’ กก.บห.พลังประชารัฐ

01 ก.ค. 2563 | 02:00 น.

 

โฉมหน้ากรรมการบริหารพลังประชารัฐชุดใหม่ ภายใต้การนำของ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ไม่ได้สร้างความแปลกใหม่ให้สังคม ส่วนใหญ่เป็น ไปตามโผ ไม่ว่า นายอนุชา นาคาศัย เลขาธิการพรรค นางนฤมล ภิญโญสิน วัฒน์ เหรัญญิกพรรค นายบุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ นายทะเบียนพรรค

ส่วนกรรมการบริหารพรรคอีก 23 คน ได้แก่ 1. นายสันติ พร้อมพัฒน์ 2. นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ 3. นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ 4. นายสมศักดิ์ เทพสุทิน 5. นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 6. ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า 7. นายวิรัช รัตนเศรษฐ 8. นายไพบูลย์ นิติตะวัน 9. นายสุชาติ ชมกลิ่น 10. นายอิทธิพล คุณปลื้ม 11. นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ 12. นายสุพล ฟองงาม

13. นายพงศ์กวิน จึงรุ่งเรืองกิจ 14. นายชาญวิทย์ วิภูศิริ 15. นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 16. นายนิโรธ สุนทรเลขา 17. นายไผ่ ลิกค์ 18. นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ 19. นายสัมฤทธิ์ แทนทรัพย์ 20. นายสุรชาติ ศรีบุศกร 21. นายนิพันธ์ ศิริธร 22. นางประภาพ อัศวเหม 23. นายสกลธี ภัททิยกุล

สิ่งที่สังคมเฝ้าจับตาหนีก็คือ กรรมการบริหารพรรคบางคนยังมีคดีทุจริตที่ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการศาล ขณะที่บางคนมีคดีที่สร้างความฮือฮา และบางส่วนเป็นคดีการเมืองที่สิ้นสุดไปแล้ว 

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

เริ่มจาก เคยถูกคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบ และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้ว่า มีเจตนาไม่แสดงที่มาแห่งทรัพย์สิน กรณีครอบครองนาฬิกาหรูทั้งหมด 22 เรือน ยืมจาก นายปัฐวาท ศรีสุขวงศ์ ที่เป็นเพื่อนสนิท ต่อมาป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 3 ให้ข้อกล่าวหาดังกล่าวตกไป เพราะพยานหลักฐานยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยได้

 

อนุชา นาคาศัย 

อนุชา หรือ “เสี่ยแฮงค์” เลขา ธิการพรรคพลังประชารัฐคนใหม่ เคยถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี จากกรณียุบพรรคพรรคไทยรักไทย ในปี 2550 เนื่องจากเป็นกรรมการบริหารพรรค

 

สันติ พร้อมพัฒน์  

ในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “สันติ พร้อมพัฒน์” ถูกวิพากษ์วิจารณ์กรณีโยกย้าย นางพนิตา กำภู ณ อยุธยา ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพราะไปขัดแย้งเรื่องการก่อสร้างที่ทำการแห่งใหม่ ของกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ

ต่อมาตกเป็นหนึ่งใน 34 รัฐมนตรี สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่ถูกป.ป.ช.กล่าวหากรณีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทาง การเมือง พ.ศ. 2548-2553 โดยไม่มีกฎหมายรองรับ และเมื่อ 7 พฤษภาคม 2557 ถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้ พ้นจากความเป็นรัฐมนตรี เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องในการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ โดยขาดความชอบธรรม

 

ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ

ณัฏฐพล ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏ หลังร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. ขับไล่รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ จากกรณีผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรม แบบสุดซอย คดียังไม่สิ้นสุด

 

 

 

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ

สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ในปี  2550 เนื่องจากเป็นกก.บห.ไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรค นอกจากนั้น เขาเคยถูกร้องกรณีคดีทุจริตเครื่องตรวจสัมภาระภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือ CTX9000 ขณะเป็นรมว.คมนาคม ต่อมาในปี 2555 ป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์ยกคำร้องกรณีคดี CTX9000 

 

เอกซเรย์‘คดีดัง’ กก.บห.พลังประชารัฐ

 

 

สมศักดิ์ เทพสุทิน

สมศักดิ์ รู้จักดีในฐานะแกนนำ กลุ่มวังนํ้ายม เคยเป็น รมต.หลายกระทรวง ในปี 2550 ถูกตัดสิทธิเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากเป็นกก.บห.ไทยรักไทย ซึ่งถูกยุบพรรคการเมือง 

 

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ 

หลังลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ “พุทธิพงษ์” ร่วมเคลื่อนไหวกับ กปปส. ก่อนตกเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฏ และในปี 2561 ได้เป็นรองเลขาธิการนายกฯ ฝ่ายการเมือง ปฎิบัติหน้าที่โฆษกรัฐบาล โดยปี 2562 ได้ลาออกจากข้าราชการเมือง เพื่อเข้าสังกัดเป็นสมาชิกพลังประชารัฐ

 

ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า

ร.อ.ธรรมนัส เคยถูกปลดออกจากราชการ ในปี 2534 ฐานขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา อีกทั้งเคยถูกตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับวุฒิการศึกษา นอกจากนั้นเขาถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงคุณสมบัติว่าเหมาะสมกับการเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ หลังได้รับเสนอชื่อเป็น รมช.เกษตรและสหกรณ์ เนื่องจากเคยต้องโทษเกี่ยวกับคดียาเสพติด เมื่อปี 2536 ซึ่งอาจเป็นลักษณะต้องห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง หลังถูกศาลออสเตรเลียตัดสินจำคุก 4 ปี และมีคำร้องเรื่องนี้อยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ

ต่อมา ร.อ.ธรรมนัส ยืนยันไม่ได้เป็นผู้นำเฮโรอีนเข้าออสเตรเลียไม่ได้เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายยาเสพติด เขาเพียงไปเที่ยวซิดนีย์โดยเดินทางเข้าออสเตรเลีย ผ่านการตรวจค้นถูกต้องทุกขั้นตอน ก่อนจะถูกส่งตัวกลับไทย 

 

วิรัช รัตนเศรษฐ

วิรัช พร้อมด้วย นางทัศนียา (ภรรยา), นางทัศนาพร เกษเมธีการุณ (น้องสาวทัศนียา) ส.ส.นครราชสีมา เขต 8 พลังประชารัฐ และพวกรวม 24 ราย ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณเพื่อทำ การก่อสร้างสนามฟุตซอล ในพื้นที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพฐ.) จ.นครราชสีมา ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการสูงสุดว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

 

สุพล ฟองงาม

สุพล เคยดำรงตำแหน่งรมช.มหาดไทย ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และรมต.ประจำสำนักนายกฯ ในรัฐบาล สมชาย วงษ์สวัสดิ์ หลังพรรคพลังประชาชนถูกศาลธรรม มีคำสั่งยุบพรรค สุพล ต้องเว้นวรรค การเมือง 5 ปี เพราะเป็นกก.บห. นอกจากนั้นเขาเคยเป็นแกนนำ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) พื้นที่ภาคอีสาน ร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐประหาร 2549

 

 

ไผ่ ลิกค์ 

“ไผ่ ลิกค์” เป็นบุตรชาย นายเรืองวิทย์ ลิกค์ อดีตกก.บห.พรรคไทยรักไทย หนึ่งในสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ซึ่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี เริ่มเล่นการเมืองครั้งแรก เมื่อปี 2554 โดยได้รับเลือกเป็น ส.ส. กำแพงเพชร ในนามพรรคเพื่อไทย กระทั่งปี 2561 ย้ายมาสังกัดพรรคพลังประชารัฐ 

 

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

ชัยวุฒิ อดีตส.ส.สิงห์บุรี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์  ต่อมาย้ายมาอยู่กับพรรคชาติไทย ในตำแหน่งกก.บห. จนปี 2551 ได้ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี เนื่องจากพรรคชาติไทยถูกยุบพรรค 

 

นิโรธ สุนทรเลขา

นิโรธ อดีตส.ส.นครสวรรค์ พรรคชาติไทย ต่อมาได้ย้ายมาสังกัดพรรคไทยรักไทย ก่อนกลับมาต้น สังกัดเดิม คือ ชาติไทยพัฒนา ในปี 2550 หลังจากพรรคชาติไทยถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค พร้อมกับพรรคมัชฌิมาธิปไตย และพรรคพลังประชาชน

 

ชาญวิทย์ วิภูศิริ 

ชาญวิทย์ เคยสังกัดประชาธิปัตย์  ต่อมาลาออก มาสวมเสื้อพลังประชารัฐ ลงเขตมีนบุรี ต่อมาถูกร้องกรณีถือหุ้นในบริษัทที่ทำธุรกิจด้านสื่อ ชาญวิทย์ ชี้แจงในเวลาต่อมาว่า 20 กว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยดำเนินธุรกิจอื่นใดนอกจากการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แต่เนื่องจากตอนจดทะเบียนบริษัทมักจะนิยมจดทะเบียนวัตถุประสงค์ของบริษัทในบริคณห์สนธิไว้แบบครอบจักรวาล เพื่อความสะดวกในการประกอบธุรกิจ

 

สกลธี ภัททิยกุล

สกลธี เป็นรองผู้ว่าฯกทม. บุตรชาย พล.อ.วินัย ภัททิยกุล อดีตเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) เริ่มงานการเมือง เมื่อปี 2550 ด้วยการสมัคร ส.ส.กทม. ประชาธิปัตย์ ปี 2557 ลาออกจากสมาชิกประชาธิปัตย์ ร่วมชุมนุมกับ กปปส. ก่อนถูกจับตามหมายศาลในข้อหาชุมนุม ช่วงเดือนเมษายน ปีเดียวกัน แต่ได้ประกันตัวไปในวงเงิน 6 แสนบาท 

 

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,588 หน้า 10 วันที่ 2 - 4 กรกฎาคม 2563