เบื้องหลัง ครม.รอพิจารณา CPTPP เก้อ พาณิชย์ยันคำเดิมยังไม่นำเสนอ

19 พ.ค. 2563 | 11:09 น.

วงในระบุสมคิดเตรียมชง ครม.ดันไทยร่วมเจรจา CPTPP ด้วยตัวเองจริง แต่สุดท้ายรอเก้อ แจ้งป่วยกะทันหัน เจ้าหน้าที่โล่งไม่ต้องเผชิญแรงกดดันจากภาคส่วนที่ไม่เห็นด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงาน โดยอ้างแหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลว่า วันนี้(19 พ.ค.63)นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีได้ลาป่วยกะทันหัน โดยไม่ทราบสาเหตุ หลังข่าวเผยแพร่ว่าเขาจะเสนอให้ คณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก(CPTPP) ในการประชุมครม.วันนี้

 

ขณะที่มีข่าวแพร่สะพัดตั้งแต่เมื่อวานนี้ว่า กระทรวงและหน่วยงานสำคัญ ได้รับเอกสารความหนา 19 หน้า โดยได้รับแจ้งว่า วาระการเข้าร่วม CPTPP จะเป็นวาระจรในการประชุมครม. โดยมีนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) จะเป็นผู้เสนอด้วยตัวเอง หลังจากก่อนหน้านี้ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตนรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ถอนเรื่องดังกล่าวออกไป(เมื่อวันที่ 27 เม.ย.ก่อนประชุมครม.วันที่ 28 เม.ย.2563)

ทั้งนี้ฝ่ายวิชาการของหลายกระทรวงที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมขนข้อมูลเพื่อพิจารณาหน้าห้องประชุมคณะรัฐมนตรีตั้งแต่เช้า แต่ต้องประหลาดใจ และบางส่วนระบุว่าโล่งใจ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่ารองนายกฯ สมคิดขอลาป่วยกะทันหัน

 

อย่างไรก็ดีมีผู้ปล่อยข่าวว่า การเปิดเผยเรื่องวาระจร เพื่อให้ ครม.พิจารณาเรื่อง CPTPP ครั้งนี้ เป็นกระบวนการดิสเครดิตนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แต่เอกสาร 19 หน้าที่หลายหน่วยงานได้รับยืนยันว่ามีการเตรียมเสนอให้มี ครม. พิจารณาเรื่องนี้จริง ๆ

นางอรมน  ทรัพย์ทวีธรรม กล่าวย้ำกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า เรื่อง CPTPP ยังได้รับการคัดค้านจากหลายภาคส่วน และมีเรื่องโควิด-19 ที่มีความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นกระทรวงพาณิชย์จึงจะยังไม่นำเรื่องนี้เสนอเพื่อขอความเห็นจาก ครม.ตามบัญชาของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งที่มีข่าวว่าในวันนี้ว่าจะนำเรื่อง CPTPP  เข้าสู่การพิจารณา ครม. นายจุรินทร์ก็ได้ตอบคำถามไปแล้วว่า ไม่สามารถตอบข่าวปล่อยได้ ต้องไปถามคนปล่อยข่าว แต่ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ขอยืนยันว่าไม่มีการเสนอเรื่องเข้า ครม.

ขณะแหล่งข่าวจากกลุ่มศึกษาความตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน(เอฟทีเอ ว็อทช์) ระบุว่า เมื่อ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาทางกลุ่มได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ของหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับการร้องขอจากผู้บริหารระดับสูงของรัฐบาลคนหนึ่ง ให้เร่งเผยแพร่ข้อมูลเพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนสนับสนุนการเข้าร่วม CPTPP ตอบโต้ข้อมูลฝ่ายคัดค้าน ทั้ง ๆ ที่หลายฝ่าย เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยห่วงเรื่อง UPOV1991 จะมีผลกระทบกับผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ยังไม่เห็นพ้องต้องกันในเรื่องดังกล่าว จนต้องถอดเอกสารเผยแพร่โฆษณาข้อดีในการเข้าร่วม CPTPP ออกไป