ครม.ปรับเกณฑ์-ขยายเวลาสินเชื่อเพื่อเอสเอ็มอี อีก 1 ปี

19 ม.ค. 2564 | 19:10 น.

รองโฆษกรัฐบาล เผย รัฐบาลไฟเขียว "ปรับเกณฑ์-ขยายเวลา" โครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชนออกไปอีก 1 ปี คาดช่วยผู้ประกอบการได้กว่า 5,700 ราย รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 28,800 คน สร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบได้ไม่น้อยกว่า 43,510 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ว่า ตามที่รัฐบาลได้ออกมาตรการพิเศษเพื่อขับเคลื่อน SME สู่ยุค 4.0 ผ่านโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ลงทุน และปรับปรุงกิจการสำหรับผู้ประกอบการ SME วงเงินสินเชื่อรวม 50,000 ล้านบาท ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 7 ปี

 

โดยรัฐจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ธพว. อัตราร้อยละ 2 ต่อปี ใน 3 ปีแรก รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 3,000 ล้านบาท โดยโครงการสิ้นสุดไปแล้วเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2563 ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ธพว. ได้อนุมัติสินเชื่อ จำนวน 24,606 ราย วงเงินรวม 40,440 ล้านบาท มีวงเงินโครงการคงเหลือ 9,559 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้ประกอบการ SME ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้มากขึ้นและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ครม.จึงมีมติขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน (Local Economy Loan) ออกไปอีก 1 ปี คือ ไปสิ้นสุดวันที่ 18 ธันวาคม 2564 

 

กำหนดหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมาย มีดังต่อไปนี้

 

1.ผู้ประกอบการ SME ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในกลุ่มเป้าหมายที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับ

       -ธุรกิจเกษตรแปรรูป (Food/Non-Food)

       -ธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน ธุรกิจเกี่ยวเนื่องการท่องเที่ยว และธุรกิจที่ตั้งอยู่ในหมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ (CIV)

       -ผู้ประกอบการใหม่ หรือมีนวัตกรรม หรือธุรกิจผลิต หรือบริการอื่นๆ หรือธุรกิจค้าส่งค้าปลีก

 

2.เป็นการให้สินเชื่อใหม่ ทั้งลูกค้าเดิมหรือลูกค้าใหม่ และไม่ใช่ลูกหนี้ที่โอนหนี้ (Re-finance) มาจากสถาบันการเงินอื่น

อย่างไรก็ดี เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า กลุ่มเป้าหมายไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้เนื่องจากผู้ประกอบการ SME ส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันจึงใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เป็นผู้ค้ำประกัน แต่ บสย. มีวงเงินไม่เพียงพอในการค้ำประกัน ในการประชุมครั้งนี้จึงให้ตัดหลักเกณฑ์เดิมซึ่งเป็นอุปสรรคในการดำเนินโครงการออก คือ 

 

1.ต้องเป็นผู้ประกอบการ SME ที่ไม่เคยได้รับการอนุมัติและใช้วงเงินสินเชื่อจาก

        -โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Policy Loan)

        -โครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan

 

2.ต้องมีวงเงินสินเชื่อรวมทุกสถาบันการเงินต่อราย (ไม่รวมกิจการในกลุ่ม) ไม่เกิน 50 ล้านบาท ณ วันยื่นขอกู้

 

นางสาวรัชดา กล่าวเพิ่มเติมว่า การขยายระยะเวลาโครงการและปรับปรุงหลักเกณฑ์กลุ่มเป้าหมายในครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยผู้ประกอบการ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อีกประมาณ 5,760 ราย วงเงินกู้เฉลี่ยต่อรายไม่เกิน 1.65 ล้านบาท ภายใต้วงเงินโครงการคงเหลือ 9,559 ล้านบาท และสามารถรักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 28,800 คน อีกทั้งยังสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 43,510 ล้านบาท 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

"เราชนะ" มติครม.ล่าสุด 31.1 ล้านคนเฮ ได้สิทธิเงินเยียวยา 5 กลุ่มถูกตัดสิทธิ

ครม.เคาะ “เราชนะ - ลงทะเบียนคนละครึ่ง” แจกเงินเยียวยา 3500 วันนี้ 19 ม.ค.

รมว.คลัง เคลียร์ชัด หลักเกณฑ์รับเงินเยียวยา “เราชนะ”

ตั้ง"อาคม"เจรจา"เมียนมา"หาทางออก"ทวาย"

บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14 ล้านคน ได้เฮ หลัง ครม.ไฟเขียวรับเงินเยียวยา"เราชนะ" 3,500 บาท