"หมอธีระ"ชี้โควิด-19 เปรูทะลุล้านคนเป็นประเทศที่ 16 ของโลก

24 ธ.ค. 2563 | 02:00 น.

"หมอธีระ"ชี้โควิด-19 เปรูทะลุล้านคนเป็นประเทศที่ 16 ของโลก วันนี้ทั่วโลกทะลุ 79 ล้านราย

วันที่ 24 ธันวาคม  2563  รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความถึงสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกล่าสุด 24 ธันวาคม 2563 ผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat  ระบุว่า  วันนี้ตอนสาย จะแตะ 79 ล้าน

 

เปรูทะลุล้านคนเป็นประเทศที่ 16 ของโลก

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 675,510 คน รวมแล้วตอนนี้ 78,920,720 คน ตายเพิ่มอีก 13,805 คน ยอดตายรวม 1,734,672 คน

 

อเมริกา เมื่อวานติดเชิ้อเพิ่ม 219,419 คน รวม 18,841,563 คน ตายเพิ่มอีกถึง 3,334 คน ยอดตายรวม 333,110 คน

 

อินเดีย ติดเพิ่ม 24,241 คน รวม 10,123,544 คน

 

บราซิล ติดเพิ่มถึง 46,696 คน รวม 7,365,517 คน

 

รัสเซีย ติดเพิ่ม 27,250 คน รวม 2,933,753 คน

 

ฝรั่งเศส ติดเพิ่ม 14,929 คน รวม 2,505,875 คน

 

อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลายพันถึงหลักหมื่นต่อวัน

 

ฝั่งอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างอาร์เจนตินา โคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงอิหร่าน บังคลาเทศ ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย และเกาหลีใต้ ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลายหมื่น

 

แถบสแกนดิเนเวีย รอบทะเลบอลติก และแถบยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

 

เมียนมาร์ติดเพิ่มเฉียดพัน ส่วนจีน สิงคโปร์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่เวียดนาม และนิวซีแลนด์ ยังมีติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ ...สถานการณ์ในเมียนมาร์ เมื่อวานติดเพิ่มขึ้นอีก 923 คน ตายเพิ่มอีก 23 คน ตอนนี้ยอดรวม 118,869 คน ตายไป 2,507 คน อัตราตายตอนนี้ 2.1%

..ลองวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของไทยเรา...

 

Q1: ระบาดซ้ำ ระบาดระลอกสอง ระบาดครั้งใหม่ หรือระบาดอีกครั้ง (เอาคำไหนก็ได้ที่สบายใจ ความหมายเหมือนกัน) จะไปจบอยู่ที่ไหน?

 

A1: ลักษณะการระบาดแบบดาวกระจาย มีทั้งแรงงานต่างด้าว รวมถึงคนไทยที่ติดเชื้อ แล้วเดินทางไปมากมายหลายจังหวัด ดูไทม์ไลน์พบว่ากระจายไปทุกหัวระแหงในชุมชน ทั้งย่านธุรกิจ ห้างสรรพสินค้า ตลาด ฯลฯ ทำให้มีโอกาสกระจายได้มากเกินกว่าจะตามตรวจเชิงรุกได้หมดทุกคน

 

ส่วนตัวแล้วผมคิดว่ามีความเป็นได้สูงที่ยอดติดเชื้อเราจะเพิ่มขึ้นมากครับ ขึ้นอยู่กับว่าจะดำเนินมาตรการเข้มข้นได้อย่างครบถ้วนหรือไม่ และทันเวลาหรือไม่

 

Best scenario ที่มองตอนนี้คืออาจไปถึงอันดับประมาณฮ่องกง

 

แต่ Worst scenario ที่อาจเกิดขึ้นหากคุมไม่ได้ในอีกไม่ถึง 4 สัปดาห์ข้างหน้า ก็คงจะต้องสู้ยืดเยื้อยาวหลายเดือน และไปจบแถวๆ อันดับประมาณออสเตรเลียถึงฟินแลนด์

 

Q2: หลายคนถามมาตรงๆ ว่า จะทำตัวอย่างไรดี? ฟังแถลงก็เหมือนจะตะล่อมให้เข้าใจว่าเอาอยู่ๆ แต่ดูสถานการณ์แล้วยังนึกในใจว่า "จริงเหยอ"?

 

A2: ถามตรงๆ ก็ตอบตรงๆ ครับว่า "ตอนนี้วิกฤติ"ครับ

 

ดาวกระจายไปทั่วทุกภาค คนติดเชื้อเดินทางไปใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป ทุกที่เช่นนี้ หากดูตามบทเรียนของต่างประเทศทั่วโลก ไม่มีทางที่จะตามหาคนสัมผัสความเสี่ยงได้หมดอย่างแน่นอน

 

กลไกการค้นหาเชิงรุก และกลไกติดตามตัว จะมีศักยภาพเพียงระดับหนึ่ง และไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมทั้งหมดได้ครับ สหราชอาณาจักรก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของการออกมายอมรับว่าระบบ contact tracing นั้นไม่สามารถช่วยคุมการระบาดได้

 

ผมมองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ นอกจากจำเป็นต้องสู้กันอย่างพร้อมเพรียง อยู่กันนิ่งๆ ปีใหม่คงต้องฉลองกันแค่ในครอบครัว ลดละเลี่ยงการเดินทางระหว่างจังหวัด และต้องเพิ่มบริการตรวจโควิดให้มากกว่านี้ เพราะตอนนี้ตรวจน้อยมากไม่เพียงพอ ไม่มีทางที่จะควบคุมการระบาดได้

อีกไม่ถึง 4 สัปดาห์ถัดจากนี้ ขอให้รักตัวเอง ป้องกันตัวอย่าให้ติดเชื้อ

 

1. การกิน:

 

ปีใหม่นี้ควรซื้ออาหารกลับไปกินที่บ้าน หรือสั่งอาหารมาส่งที่บ้าน รับของแล้วก็พ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ด้วย

การกินที่ร้าน โดยเฉพาะที่เป็นระบบปิด ติดแอร์ อากาศไม่ถ่ายเท มีโอกาสแพร่และรับเชื้อได้ หากจะนั่งกิน ควรกินโดยใช้เวลาน้อยๆ

ร้านไหนแออัด...ควรเลี่ยง

เลี่ยงการแชร์ของกินหรืออุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น

 

2. การซื้อสินค้า/บริการ/การเดินทาง:

นำถุงผ้าของตัวเองไปซื้อของ จ่ายเงินแล้วแพ็คของใส่ถุงเอง อย่าลืมพ่นสเปรย์แอลกอฮอล์ด้วย และล้างมือด้วย

ลดละเลี่ยงกิจกรรมบริการที่แออัด บริการที่ถูกเนื้อต้องตัวใกล้ชิด หากไปใช้บริการ ควรสังเกตอาการ 14 วัน

ขนส่งสาธารณะต้องระวังอย่างยิ่ง ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ เลี่ยงการเดินทางช่วงแออัด ไม่ควรพูดคุยหรือโทรศัพท์โดยไม่จำเป็น

 

3. ที่อยู่อาศัย:

ทำความสะอาดบ้านหรือที่พัก

ควรจัดเตรียมห้อง หรือจัดที่ไว้สำหรับเวลาสมาชิกในครอบครัวไม่สบาย แยกออกจากคนอื่น

ถามไถ่กันเป็นประจำว่ามีอาการไม่สบายบ้างไหม หากสงสัยควรปรึกษาแพทย์หรือมีอาการก็รีบไปตรวจรักษา

จัดเตรียมเสบียงสำรองไว้ในบ้าน รวมถึงหยูกยาที่จำเป็น

 

4. การนอนหลับและพักผ่อนหย่อนใจ:

นอนพักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารและน้ำให้เพียงพอครบหมู่

ออกกำลังกายตามสมควร แต่ควรเลี่ยงการทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นยกเว้นคนในครอบครัว

ลดละเลี่ยงการไปกิจกรรมหรือกิจการเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ช่วงนี้ไม่แนะนำให้เดินทางไปตะลอนเที่ยว อยู่นิ่งๆ จะดีกว่า

 

5. การสื่อสาร/การพบปะกับคนรัก คนใกล้ชิด เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงาน:

ควรพบปะคนน้อยลง ใช้เวลาให้สั้นลง ติดต่อแบบออนไลน์จะดีกว่า

หากเจอกันตัวเป็นๆ ควรใส่หน้ากากเสมอ อยู่ห่างกันหน่อย

คอยสังเกตถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ หากใครไม่สบาย หรือไปในที่เสี่ยง ควรสังเกตอาการหรือไปตรวจ

 

6. การทำงาน:

คัดกรองไข้ทุกคนในที่ทำงาน

ใส่หน้ากากเสมอ แม้อยู่ในที่ทำงาน

ทำความสะอาดสถานที่และบริเวณที่มีการใช้ร่วมกัน ทั้งอุปกรณ์ต่างๆ ลิฟต์ ราวจับบันได ลูกบิดประตู สุขา

เตรียมเจลแอลกอฮอล์ให้เพียงพอ และครอบคลุมทุกพื้นที่

ติดป้ายเตือนให้ทุกคนระวังตัวเสมอ

ทำงานที่บ้านได้จะดีกว่า ลดความแออัดในที่ทำงาน

การประชุมในห้องควรงด ใช้ออนไลน์แทน

แบ่งทีมทำงานเป็นอย่างน้อยสองทีม จะได้สลับได้หากคนในทีมหนึ่งติดเชื้อ

 

7. การเรียนรู้ที่จำเป็น:

ควรติดตามข่าวสารโรคระบาดจากแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้

ได้ข้อมูลอะไรมา ควรคิดตาม และทำความเข้าใจถึงความเป็นเหตุผล หากบางอย่างดูไม่ตรงไปตรงมา ควรตรวจสอบจากแหล่งอื่น หรือเปรียบเทียบกับที่เราเห็นในสถานการณ์จริง

ฝึกตนเองและคนในครอบครัว ให้ใช้ชีวิตด้วยความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ใช้หลักความเป็นเหตุเป็นผลมากกว่ากิเลสและอารมณ์

ตระหนักเสมอว่า การจะอยู่รอดปลอดภัยในสถานการณ์โรคระบาดครั้งนี้ ต้องใช้ความรู้เป็นเข็มทิศนำทาง

ความอดทน ความพอเพียง และความมีระเบียบวินัย คือสิ่งจำเป็นต้องมีทั้งในระดับบุคคล ระดับครอบครัว และระดับสังคม

หากทำได้ เราจะชนะ

...ใส่หน้ากากกันเสมอนะครับ...

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

หมอมนูญ"ชี้โควิด-19 ระลอก 2 คนไทยต้องร่วมมือกัน อย่าตื่นกลัวมากเกินไป

"หมอธีระวัฒน์" ค้านล็อกดาวน์ ชงรัฐ ทำมาตรการเชิงรุกทั่วประเทศ

"หมอยง"ชี้โควิด-19 ความสำคัญไม่ได้อยู่ที่ตัวเลข