“วราวุธ”สั่งตรวจ“วินโพรเสส”  ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

29 ต.ค. 2563 | 12:09 น.

“วราวุธ”สั่งตรวจ“วินโพรเสส”  ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ เตรียมฟ้องเรียกค่าเสียหาย หลัง ปล่อยน้ำเสีย-สายเคมี กระทบชาวระยอง

 

 

 

 

 

การประกอบกิจการโรงงานในท้องที่จังหวัดระยอง ของ “วินโพรเสล”  สร้างผลกระทบในวงกว้างทั้งผลิตผลทางการเกษตร และคุณภาพชีวิต ความเป็นภายในชุมชน กรณีการปล่อยน้ำเสีย รวมถึงสารพิษจากสารเคมี     ล่าสุด นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)เปิดเผยว่า นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการ ทส. ได้สั่งการให้ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พล.) กรมควบคุมมลพิษ บินสำรวจบริเวณโดยรอบโรงงานของบริษัท วินโพรเสส จำกัด

“วราวุธ”สั่งตรวจ“วินโพรเสส”  ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

เพื่อประเมินผลกระทบกรณีน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงาน ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ทำให้ต้นยางยืนต้นตาย ไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการเพาะปลูก รวมทั้งส่งผลกระทบต่อคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดินที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง และเข้าสำรวจภายในโรงงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ประสานการปฏิบัติที่ 4 กอ.รมน. กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดระยอง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ กรมโรงงานอุตสาหกรรม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านค่าย องค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร พร้อมเจ้าหน้าที่ศูนย์ปฏิบัติการพิทักษ์สิ่งแวดล้อม (ศปก.พท.) และประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงานฯ ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน การทำเกษตรกรรม และส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบริเวณใกล้เคียง

 

 

“วราวุธ”สั่งตรวจ“วินโพรเสส”  ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

 

 

นายอรรถพล กล่าวว่า คพ. ได้เข้าร่วมดำเนินการแก้ไขรวมทั้งให้ข้อเสนอแนะทางวิชาการมาอย่างต่อเนื่องต่อคณะกรรมการไตรภาคีแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมบริเวณหนองพะวา อำเภอบ้านค่าย จังหวัดระยอง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขผลกระทบที่เกิดขึ้นและได้มีการจัดประชุมเป็นระยะ โดยจากการตรวจสอบโรงงานพบการกักเก็บสารเคมีทั้งของเหลว และของแข็ง เป็นจำนวนมาก และได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำ บริเวณอ่างกักเก็บน้ำของโรงงานฯ พบว่า มีค่าความเป็นกรดสูง (pH 1.0-2.0) ซึ่งมีการรั่วซึมเข้าไปในสวนยางพาราที่อยู่ติดกับโรงงาน ส่งผลให้ต้นยางพารายืนต้นตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนที่อยู่ในบริเวณโรงงาน ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ในการทำเกษตรกรรมได้ จึงอยากให้โรงงานปิดกิจการ ขนย้ายวัตถุอันตรายออกจากพื้นที่ให้หมด ทำการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมภายในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ

 

 

“วราวุธ”สั่งตรวจ“วินโพรเสส”  ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า จากการประชุมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสียจากการประกอบกิจการโรงงานฯ สรุปได้ ดังนี้ 1. เร่งกำหนดขอบเขตพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำเสียโรงงาน โดยใช้ผลการตรวจสอบคุณภาพของน้ำและดิน  2.ดำเนินการประกาศเขตควบคุมมลพิษ ควบคู่ไปกับประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยด้านสารเคมี เพื่อเร่งฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน 3. ฟ้องเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 มาตรา 96 และ 97 และดำเนินการทางกฎหมายกับแหล่งกำเนิดมลพิษอย่างถึงที่สุด 4. ให้แหล่งกำเนิดมลพิษเร่งเข้าเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบและหยุดการรั่วซึมของน้ำเสีย และ 5.ให้หน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้อำนาจทำตามหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ประชาชนต้องได้รับความเป็นธรรมและต้องไม่ได้รับความเดือดร้อน

“วราวุธ”สั่งตรวจ“วินโพรเสส”  ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ