ข่าวปลอม ! ดื่มกาแฟถั่งเช่า ช่วยลดอาการปวดข้อ ปวดหลัง

28 ก.ย. 2563 | 09:25 น.

ตามที่มีข่าวปรากฏในสื่อต่างๆ เกี่ยวกับประเด็นเรื่อง ดื่มกาแฟถั่งเช่า ช่วยลดอาการปวดข้อ ปวดหลัง ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พบว่าประเด็นดังกล่าวนั้น เป็นข้อมูลเท็จ

 

กรณีที่มีการแชร์วิธีลดอาการปวดข้อ ปวดหลัง ด้วยการดื่มกาแฟถั่งเช่านั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า ทั้งกาแฟ และถั่งเช่า ไม่สามารถรับประทานเพื่อแก้ปวดข้อ และหลังได้ 

 

ซึ่งกาแฟมีสารสำคัญที่ชื่อว่า กาเฟอีน (Caffeine) ที่มีฤทธิ์ในการกระตุ้นประสาท ทำให้ร่างกายรู้สึกสดชื่น และมีสมาธิ ส่วนถั่งเช่า เป็นสมุนไพรที่พบได้บริเวณแถบทุ่งหญ้าบนภูเขาของประเทศจีน นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากหลาย ๆ คนเชื่อว่าสามารถบรรเทาอาการปวดข้อ และปวดหลังได้ แต่ความเป็นจริงยังไม่มีงานวิจัยใดสรุปได้ว่าสมุนไพรถั่งเช่านั้นสามารถบรรเทาอาการดังกล่าวได้

 

ทั้งนี้อาการปวดข้อ และหลังเกิดได้จากหลายสาเหตุ แต่สาเหตุหลัก ๆ นั้นมาจากการใช้งานที่มากเกินไป และด้วยอายุที่มากขึ้น จึงทำให้อาการปวดรุนแรงมากขึ้น โดยมากแล้วการรักษาอาการปวดข้อ และปวดหลังนั้นสามารถทำได้หลายอย่าง เช่น กินยา การทำกายภาพบำบัด เป็นต้น ส่วนยาที่บรรเทาอาการปวดมีหลายชนิด เช่น

 

1. ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) แนะนำให้กินห่างกันอย่างน้อย 4-6 ชั่วโมง และใน 1 วัน ไม่ควรกินยาเกิน 8 เม็ด หรือ 4,000 มิลลิกรัม

 

2. ยาบรรเทาอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) เช่น ไอบูโปรเฟน (Ibuprofen) นาโปรเซน (Naproxen) เป็นต้น โดยตัวยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียง คือ อาจทำให้ ระคายเคืองกระเพาะอาหารได้ จึงแนะนำให้กินหลังอาหารทันที และดื่มน้ำตามมาก ๆ และไม่ควรซื้อยามาใช้เอง เพราะอาจทำให้เกิดอันตราย หรือแพ้ยาได้

 

3. ยากลุ่มโอปิออยด์ (Opioid) เช่น มอร์ฟีน (Morphine) มีฤทธิ์ระงับปวดรุนแรง ซึ่งยาในกลุ่มนี้ต้องใช้โดยบุคลากรทางการแพทย์เท่านั้น ห้ามหาซื้อยาจากร้านที่มีการลักลอบขายโดยเด็ดขาด เพราะยาในกลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่อันตราย หากใช้ไม่ถูกต้องอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
 

 

ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สามารถติดตามได้ที่เว็บไซต์ www.fda.moph.go.th หรือโทร. 02 5907000
.