เอ็มจีสู้อีโคคาร์ญี่ปุ่น เปิดตัว MG 5 ราคา 6 แสนบาท ปลายเดือนกรกฎาคม นี้

24 มิ.ย. 2564 | 01:30 น.

เอ็มจีเตรียมเปิดตัว MG 5 โฉมใหม่ ปลายเดือนกรกฎาคม นี้ คาดรุ่นเริ่มต้นราคาประมาณ 6 แสนบาท หวังปะทะอีโคคาร์แบรนด์ญี่ปุ่น ขณะที่ ฮอนด้า ซิตี้ แฮตช์แบ็ก ไฮบริด เตรียมเปิดตัวปลายเดือนมิถุนายนนี้

เอ็มจี (MG) รถยนต์แบรนด์อังกฤษเจ้าของจีน ทำตลาดในไทยโดยร่วมหุ้นกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) เตรียมสู้ศึกเก๋งเล็กเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรอีกครั้ง ด้วยการเปิดตัว MG 5 โฉมใหม่ ปลายเดือนกรกฎาคม นี้

  • อัพเดต (28/6/64) บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศเตรียมเปิดตัว All new MG 5 โฉมใหม่ วันที่ 20 กรกฎาคม 2564 ในเวลา 19.00 น. ผ่านช่องทางออนไลน์ 

MG 5 โฉมใหม่ จะถูกผลิตที่โรงงานเอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จ.ชลบุรี มาพร้อมรูปลักษณ์ที่ปราดเปรียวกับรถซีดาน 4 ประตูสไตล์คูเป้ท้ายลาด (คล้ายๆ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ซีแอลเอ) วางเครื่องยนต์เบนซิน 4 สูบ 1.5 ลิตร ส่งกำลังด้วยเกียร์ดูอัลคลัตช์ 7 สปีด และต้องมาลุ้นว่าจะมีรุ่น 1.5 ลิตร เทอร์โบ ทำตลาดด้วยหรือไม่

ทั้งนี้ การตั้งราคา MG 5 ใหม่ จะเกาะกลุ่มระดับ 6 แสนบาท ซึ่งท้าชนตรงๆ กับพวกอีโคคาร์ญี่ปุ่น เพียงแต่เอ็มจีไม่ได้ร่วมโครงการอีโคคาร์ของรัฐบาลที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางการลงทุนเพิ่มเติม เช่นเดียวกับภาษีสรรพสามิตของ MG 5 ที่ต้องโดนระดับ 20% (เงื่อนไขปล่อยไอเสียไม่เกิน 150 กรัม/กม. และรองรับนำ้มันแก๊สโซฮอล์ E85) ต่างจากกลุ่มอีโคคาร์ เฟส2 ที่เสียภาษีสรรพสามิตเพียง 12%

MG 5 โฉมใหม่

“ช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ เราเตรียมเปิดตัวรถยนต์นั่งตัวถังซีดานที่ผลิตจากโรงงานเอสเอไอซี มอเตอร์ -ซีพี โดยเข้ามาเจาะกลุ่มซับคอมแพ็กต์ หรือเก๋งระดับบีบวก ด้วยราคาที่สามารถแข่งขันได้”   นายพงษ์ศักดิ์ เลิศฤดีวัฒนวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็มจี เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว

ทั้งนี้ ตลาดอีโคคาร์ 5 เดือนแรก (ม.ค.- พ.ค. 64) จากรถยนต์ญี่ปุ่น 6 ยี่ห้อ โตโยต้า ฮอนด้า มาสด้า มิตซูบิชิ นิสสัน ซูซูกิ รวม 13 รุ่น ทำได้ 62,049 คัน โต 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563

แม้สถานการณ์เซ็กเมนต์อีโคคาร์เหมือนจะดูดี ด้วยยอดขายเป็นบวก 5% แต่เป็นการโตจากพื้นฐานตัวเลขที่ต่ำ เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์ทั้งประเทศ ส่งผลให้ยอดขายเดือนเมษายน และพฤษภาคม หายไปกว่า 50%

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณายอดขายอีโคคาร์เดือนเมษายน และพฤษภาคม ปี 2564 ที่ทำได้พอๆกัน เดือนละ 10,000 คัน ถือว่าลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าคือ กุมภาพันธ์ 13,232 คัน และมีนาคม 17,276 คัน ส่วนหนึ่งมาจากการแพร่ระบาดของไวรัสรอบ 3 ที่มียอดผู้ติดเชื้อมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคมจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวบริษัทผู้ผลิตรถยนต์หลายรายให้ข่าวตรงกันว่า มีลูกค้าจำนวนหนึ่ง หรือสัดส่วน 20-30% ขอเลื่อนการรับรถออกไปก่อน หรือยังไม่ยื่นเอกสารต่อไฟแนนซ์หลังวางเงินจองแล้ว เพื่อรอดูสถานการณ์

ประเด็นนี้ สอดคล้องกับการรายงานของโตโยต้าว่า ตลาดรถยนต์นั่ง (อีโคคาร์อยู่ในตลาดนี้) เดือนมกราคม-เมษายน 2564 ทำได้ 82,244 คัน ลดลง 5.7%แต่รถเพื่อการพาณิชย์ขายไป 170,025 คัน โต 18.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว จากตลาดรวม 252,269 คัน เพิ่มขึ้น 9.6%

“ตลาดรถยนต์ในเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากความกังวลต่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบที่ 3 มีความรุนแรงกว่าที่คาดไว้ ส่งผลด้านลบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจโดยรวม และทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์เช่นกัน” นายสุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัดกล่าว

ด้านดีลเลอร์รถยนต์ญี่ปุ่นรายใหญ่ในภาคอีสาน เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดรอบที่ 3 พบว่าสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อยากขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์นั่งขนาดเล็กหรือกลุ่มอีโคคาร์

“ไฟแนนซ์คุมเข้มในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ เมื่อเทียบกับสถานการณ์ปกติ อย่างเคสทั่วๆ ไปอนุมัติได้สบาย แต่เคสเดียวกันในวันนี้ไม่อนุมัติ โดยไฟแนนซ์ดูละเอียดว่า สถานะการเงินเป็นอย่างไร หรือใครประกอบธุรกิจยังดูว่า เคยปิดกิจการมาก่อนหรือเปล่า หรือเพิ่งกลับมาเปิดใหม่ ก็ไม่ปล่อยสินเชื่อเช่นกัน” ดีลเลอร์ กล่าว

ทั้งนี้ ปลายเดือนมิถุนายน 2564 บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล ประเทศไทย จำกัด เตรียมเปิดตัว ฮอนด้า ซิตี้ ตัวถังแฮตช์แบ็ก รุ่นไฮบริด เข้ามาเสริมทัพรุ่นเครื่องยนต์เบนซิน 1.0 ลิตร เทอร์โบ ที่เปิดตัวไปก่อนช่วงปลายปี 2563 อีกด้วย 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,690 วันที่ 24 - 26 มิถุนายน พ.ศ. 2564