ศูนย์วิจัย MOVE ชี้ รัฐบาลตั้งธง EV 100% ในปี 2035 ยังช้าเกินไป

15 พ.ค. 2564 | 03:50 น.

ศูนย์วิจัย MOVE มจธ. ชี้นโยบายขาย EV 100% ในไทยในปี ค.ศ. 2035 ยังช้าเกินไป (ZEV รถพลังงานไฟฟ้าไม่ปล่อยมลพิษ รวมถึง รถฟิวเซลล์) 

รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนและหัวหน้าศูนย์วิจัย Mobility and Vehicle Technology Research Center (MOVE) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ร่วมเสวนาออนไลน์ภายใต้หัวข้อ ZEV@35 ยานยนต์ไฟฟ้า 100 % ปี ค.ศ. 2035 จุดเปลี่ยนสำคัญ อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ซึ่งจัดโดย สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย สมาคมเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงานไทย เเละบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์

รศ. ดร. ยศพงษ์ ลออนวล  ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็น ยานยนต์ไฟฟ้าโลก (Global Electric Mobility) ช่วงปี ค.ศ. 2019 เเละ ค.ศ. 2020 ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า จำนวนการจดทะเบียนยานยนต์ไฟฟ้าใหม่ในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศในเเถบ ยุโรป ตัวอย่างเช่น นอร์เวย์ ไอซ์เเลนด์ เเละสวีเดน จำนวนยานยนต์จดทะเบียนใหม่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ทั้งจากนโยบายการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในเเต่ละประเทศ ที่ช่วยกระตุ้นการซื้อยานยนต์ไฟฟ้าของประชาชน โดยทางทบวงพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency : IEA ) คาดการณ์การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในอนาคต ตามที่หลายประเทศประกาศนโยบายไว้ (Stated Policies Scenario) ว่าภายในปี ค.ศ.  2030 จะมีเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 140 ล้านคัน จากใน ปี ค.ศ. 2020 ที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคันทั่วโลก

ศูนย์วิจัย MOVE ชี้ รัฐบาลตั้งธง EV 100% ในปี 2035 ยังช้าเกินไป

สำหรับประเทศไทย ตามที่คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าเเห่งชาติ ตั้งเป้าหมายภายในปี ค.ศ. 2035 ให้ยานยนต์ที่จดทะเบียนใหม่ภายในประเทศ เป็นยานยนต์ไร้มลพิษ หรือ Zero Emission Vehicle (ZEV) ในสัดส่วน 100% โดยเร่งผลักดันมาตรการการผลิตยานยนต์ภายในประเทศเป็น ZEV ในสัดส่วน 30% ภายในปี ค.ศ. 2030

“จากการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนบนโซเชียลมีเดีย KMUTT MOVE: Mobility & Vehicle Technology Research Center ต่อเรื่องประเทศไทยจะยกเลิกขายยานยนต์เครื่องยนต์ ภายในปี ค.ศ. 2035 พบว่า 31% ให้ความเห็นเรื่องช่วงเวลาการยกเลิก เเละคิดว่าช่วงเวลาปี ค.ศ. 2035 ช้าเกินไป  โดยส่วนตัวคิดว่า หากมีมาตรการที่กระตุ้นทั้งผู้ซื้อ เเละผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างชัดเจน ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยมีผู้ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก เร็วกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ เช่นเดียวกับเเนวโน้มการใช้ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศในขณะนี้” รศ. ดร. ยศพงษ์

ปัจจุบันยานยนต์ ZEV ในประเทศเป็นยานยนต์ไฟฟ้าเเบตเตอรี่ หรือ Battery Electric Vehicle (BEV) ทั้งหมด ถึงเเม้ในปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2020) การจดทะเบียนใหม่เป็น BEV มีจำนวน 2,999 คัน คิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 1 % เทียบกับยานยนต์จดทะเบียนใหม่ทั้งหมด เเต่มีการเติบโตสูงขึ้นมากกว่า 90 % เมื่อเทียบกับในปี ค.ศ. 2019