"รถเก่าแลกรถใหม่" เกิดยาก เคาะเงื่อนไขช้า ฉุดตลาดปลายปี

29 พ.ย. 2563 | 05:15 น.

โครงการ “รถเก่าแลกรถใหม่” หรือ "รถแลกแจกแถม" เกิดยาก บริษัทผู้ผลิตรถยนต์หวั่น รัฐบาลเคาะเงื่อนไขช้า ฉุดกำลังซื้อตลาดช่วงปลายปี

ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” ชัดเจนเรื่องการผลักดันนโยบาย รถเก่าแลกรถใหม่ หวังช่วยเหลืออุตสาหกรรมยานยนต์ในภาวะยอดขายลดลง และจูงใจให้คนเปลี่ยนรถยนต์คันเก่า มาเป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดมลพิษในอากาศ

เมื่อเข้าฤดูหนาว ฝุ่นพิษ PM 2.5 เตรียมเคาะประตูบ้านอีกครั้ง ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ดจากไวรัสโควิด-19 ดังนั้นหน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้องเริ่มเสนอไอเดียต่างๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อ เวลานี้จึงเหมาะสมที่ “โครงการรถเก่าแลกรถใหม่” ( รถแลกแจกแถม ) จะถูกหยิบยกมาเป็นประเด็นอีกครั้ง

อย่างไรก็ตาม เงื่อนไขโครงการรถเก่าแลกรถใหม่ ทั้งรถเก่าอายุกี่ปีถึงจะมีสิทธิ์เข้าโครงการนี้ รวมถึงรถที่เปลี่ยนใหม่จะเป็นรถประเภทไหน อีวี (พลังงานไฟฟ้า 100%) หรือไฮบริด และปลั๊ก-อินไฮบริด เช่นเดียวกับเงินสนับสนุนของรัฐบาลจะใช้เท่าไหร่ นำมาจากไหน และระยะเวลาในการดำเนินโครงการ ยังไม่มีความชัดเจน (ล่าสุดมีแนวโน้มว่า จะให้นำค่าใช้จ่ายในการซื้อรถไปหักลดหย่อนภาษี เหมือนโครงการช้อปดีมีคืน)

โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ / รถแลกแจกแถม เงื่อนไข ยังไม่ได้ข้อสรุป

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เคยประกาศว่าปลายปีนี้ น่าจะมีความคืบหน้า หรือเงื่อนไขต่างๆ สะเด็ดนํ้าถึงขั้นนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้ “เราอยากกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากโควิด -19 ดังนั้นจึงมีแนวคิดเรื่อง รถเก่าแลกรถใหม่ เงื่อนไข ให้ประชาชนนำรถมาเข้าโครงการและรับส่วนลดภาษีไม่เกิน 1 แสนบาท แต่หากใครที่ไม่ได้เสียภาษีก็จะไม่ได้รับสิทธิในโครงการนี้ ซึ่งผลจากโครงการนี้นอกจากจะช่วยกระตุ้นยอดขายรถแล้ว ส่วนหนึ่งยังแก้ไขเรื่อง PM2.5 และซากรถ เพราะถือเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมลพิษ” นายสุริยะ กล่าวในช่วงเดือนสิงหาคม 2563

ส่วนความคืบหน้าล่าสุด รถเก่าแลกรถใหม่ ผ่านศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) ได้รับเรื่องนี้และที่ประชุมเห็นชอบในหลักการแล้ว

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ศบศ.เห็นชอบในหลักการข้อเสนอโครงการบริหารเศรษฐกิจระยะปานกลางและระยะยาวชุดที่ 2 ที่เสนอโดย คณะอนุกรรมการวิเคราะห์และเสนอแนะมาตรการบริหารเศรษฐกิจ และส่งเสริมการลงทุนในระยะปานกลางและระยะยาว ประกอบด้วยโครงการที่ควรได้รับการส่งเสริมแบ่งออกได้เป็น 5 กลุ่ม คือ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมยานพาหนะไฟฟ้า เพื่อให้ประเทศไทยเป็นเมืองสะอาด เช่น โครงการรถแลกแจกแถม (รถเก่าแลกรถใหม่ 100,000 คัน) ,โครงการจักรยานยนต์ไฟฟ้าไทยชนะ และโครงการจัดหารถโดยสารเพื่อประชาชนของขสมก. โดยการเช่ารถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้า เป็นต้น

นั่นเป็นคำยืนยันว่า พร้อมผลักดัน โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ ซึ่งมีอีกชื่อว่า รถแลกแจกแถม (จำนวน 1 แสนคัน) ซึ่งศบศ. จะประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคม นี้ เพื่อสรุปเงื่อนไขต่างๆ แต่เชื่อว่ายังต้องขอความคิดเห็นอีกหลายด่าน ทั้งบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ กระแสสังคม รวมถึงการฟังธงของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา

อย่างไรก็ตาม หลายบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต่าง ส่งเสียงไปในทิศทางเดียวกันว่า นโยบาย โครงการรถเก่าแลกรถใหม่  นี้ถูกนำเสนอผ่าน กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นปีแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า และทุกครั้งที่มีการหยิบประเด็นนี้มาพูดถึง (ว่ากำลังขับเคลื่อน) จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาด

“ถ้าเงื่อนไขยังไม่มีความชัดเจน จะทำให้ผู้บริโภคชะลอการตัดสินใจซื้อรถยนต์คันใหม่ ซึ่งปีนี้เหลืออีกเพียงเดือนเดียวที่จะปิดยอดขาย และถ้าล่วงเลยมาขนาดนี้ การกระตุ้นตลาดก็ไม่ควรจำกัดแค่ อีวี ควรจะให้เปลี่ยนเป็นรถใหม่ ทั้งไฮบริด อีโคคาร์ หรือปิกอัพ ด้วยเลย เพราะทุกวันนี้รถยนต์รุ่นใหม่มีมาตรฐานไอเสียดีขึ้น และปล่อยมลพิษตํ่าอยู่แล้ว” แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่กล่าว กับฐานเศรษฐกิจ

...โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ ( รถแลกแจกแถม ) แม้จะเป็นความตั้งใจดี แต่ไม่ง่ายในเชิงปฏิบัติ และหากยืดเยื้อ หรือมีแต่ข่าวว่าจะดำเนินการ แต่ยังไม่มีรายละเอียด และระยะเวลาที่ชัดเจน ย่อมส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อรถคันใหม่ นั่นจะยิ่งฉุดให้ตลาดรถยนต์ซบลงไปอีก ที่สำคัญ เมื่อเคาะเงื่อนไขต่างๆ ออกมาแล้ว ยังต้องโดนวิพากษ์วิจารณ์ว่า เอื้อประโยชน์ต่อใคร เหมาะสมแค่ไหนในการใช้งบประมาณ เหมือนเช่นเคย

เรื่อง : กรกิต กสิคุณ

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 หน้า 8 ฉบับที่ 3,630 วันที่ 26 - 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2563