โตโยต้า หนุนชุมชน ลดโลกร้อน

20 ก.ย. 2563 | 09:17 น.

ปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือ โลกร้อน มิใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ในทุกวันนี้เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว ขณะที่ประเทศไทยในช่วง 2 -3 ปีผ่านมาก็เริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมออกมา อันเป็นผลมาจากการตื่นตัวเรื่องของค่าฝุ่น PM 2.5 ที่พุ่งสูงต่อเนื่อง


ในส่วนของผู้ผลิตรถยนต์ที่ถูกจับตามองว่าเป็นส่วนสำคัญในการสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม -มลพิษ -มลภาวะต่างๆก็มิได้นิ่งนอนใจ เพราะในแง่ของการผลิตหรือพัฒนารถรุ่นใหม่ๆออกสู่ตลาด ก็สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมไปถึงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในแบบต่างๆ    นอกจากนั้นแล้ว สิ่งที่ค่ายผู้ผลิตทำคู่ขนานกันมา ก็เป็นพวกโครงการลดโลกร้อนในรูปแบบต่างๆ ที่เห็นเด่นชัดและน่าจะคุ้นหูคุ้นตากันดี ก็มี "โครงการโตโยต้าเมืองสีเขียว"

โตโยต้า หนุนชุมชน ลดโลกร้อน


ภายใต้โครงการดังกล่าว มีกิจกรรมยิบย่อยมากมาย และมีเป้าประสงค์หลักคือการสร้างจิตสำนึกให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงปัญหาด้านภาวะโลกร้อนและหนึ่งในกิจกรรมที่ประสบความสำเร็จและทำมานานกว่า 14 ปีคือ  “โตโยต้า ลดเมืองร้อน ด้วยมือเรา” 


โดยโตโยต้าได้จับมือกับสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เปิดโอกาสให้โรงเรียน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจากทั่วประเทศ จัดทำแผนงานส่งเข้าประกวดเพื่อรณรงค์การลดภาวะโลกร้อนภายในชุมชนของตน  โดยตลอดระยะเวลา 14 ปีของโครงการนี้โตโยต้าได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียน 299 แห่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 238 แห่ง และ ชุมชน 162 แห่ง ทั่วประเทศ เกิดเป็นโครงการที่สามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 23,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า


เรียกได้ว่าเห็นผลสัมฤทธิ์ เป็นรูปธรรมสามารถจับต้องได้  ล่าสุดเพื่อเป็นการขยายผลและต่อยอดความสำเร็จ ทางโตโยต้า กับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. ก็ได้จัดทำอีกหนึ่งโปรเจ็กต์ ภายใต้ชื่อ “โครงการลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า” 
 

โครงการดังกล่าวมุ่งส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนการดำเนินงานเพื่อลดมลพิษ ลดภาวะโลกร้อนในชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการให้ความสำคัญกับสถานศึกษาในการนำองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) มาพัฒนาเพื่อปรับใช้ในการจัดการปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม 


สำหรับโครงการ "ลดเปลี่ยนโลกกับโตโยต้า" ประกอบด้วย โครงการย่อย 2 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก และ 2.โครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก  

 

โดยรางวัลชนะเลิศโครงการนวัตกรรมเยาวชนลดเปลี่ยนโลก สายสามัญ ได้แก่ โรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัยนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช จากโครงการถุงนาโนคอมโพสิตจากยางพาราเสริมแรงด้วยนาโนเซลลูโลสจากเปลือกส้มโอ

ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงเรียนปิยะมหาราชาลัย จังหวัดนครพนม จากโครงการข้าวตอกที่เพิ่มและขยายรูพรุนด้วยการลดความดันอากาศภายในภาชนะอบเพื่อดูดซับสารสกัดจากใบกะเพราและใบยาสูบในการล่อและกำจัดแมลงวันทองในสวนผลไม้แทนการใช้ยาฆ่าแมลง 

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ โรงเรียนแสงทองวิทยา จังหวัดสงขลานครินทร์ จากโครงการระบบแผ่นกรองฝุ่น PM2.5 และ แบคทีเรียจากเส้นใยข้าวโพดเคลือบด้วยอนุภาคเงินนาโน

โตโยต้า หนุนชุมชน ลดโลกร้อน โตโยต้า หนุนชุมชน ลดโลกร้อน

ส่วนรางวัลชนะเลิศในสายอาชีพ ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากโครงการเครื่องเก็บขยะในทะเลโดยใช้เทคโนโลยีนาโน ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากโครงการเครื่องกำจัดขยะเศษอาหารเป็นปุ๋ยอัตโนมัติ และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ วิทยาลัยเทคนิคหนองคาย จังหวัดหนองคาย จากโครงการเครื่องปั่นไฟชีวมวล
 

เครื่องเก็บขยะในทะเล

ส่วนโครงการชุมชนลดเปลี่ยนโลก มี 12 แห่ง ที่ผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการโดยแต่ละแห่งได้วิเคราะห์ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในพื้นที่และดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา ลดการปล่อยมลพิษออกสู่สิ่งแวดล้อมและลดผลกระทบจากภาวะโลกร้อน 

ชุมชนร่วมกันปลูกป่า

 

โดยรางวัลชนะเลิศได้แก่ ชุมชนบ้านแม่ป๋าม เทศบาลตำบลปิงโค้ง จังหวัดเชียงใหม่ ,รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ชุมชนบ้านดอนยาวน้อย เทศบาลตำบลวังหิน จังหวัดนครราชสีมา และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ชุมชนบ้านวังโป่ง เทศบาลตำบลร้องกวาง จังหวัดแพร่


ผู้ชนะเลิศทั้ง 2 โครงการ  จะนำเสนอผลงานแก่ผู้บริหาร จากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชัน ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงศึกษาดูงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมต่าง ๆ จากญี่ปุ่น ทั้งนี้เพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดผลงานของตน

  โตโยต้า หนุนชุมชน ลดโลกร้อน

นอกจากนั้นแล้วชุมชนที่ชนะเลิศยังได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการพัฒนาชุมชนของตนให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ “ชุมชนลดเปลี่ยนโลก” ในระดับจังหวัดอีกด้วย  เช่นเดียวกับโรงเรียนที่ชนะเลิศจะได้รับการสนับสนุนเงินทุนสร้าง “นวัตกรรมต้นแบบ” ขนาดใช้ได้จริงเพื่อนำไปสู่ชุมชนต่อไป

 

หน้า 18 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,610 วันที่ 17 - 19  กันยายน พ.ศ. 2563