2ยักษ์มอ’ไซค์ชิงแบรนด์ลอยัลตีฝ่า!ตลาดซบ

08 ก.พ. 2563 | 02:35 น.

ยอดขายไม่รุ่ง มุ่งมัดใจลูกค้า ตลาดรถจักรยานยนต์โดนปัจจัยลบเพียบ คาดปีนี้ตัวเลขรวมเหลือ 1.7 ล้านคัน “ฮอนด้า” กระหนํ่าแจกทอง พร้อมปรับโชว์รูม-บริการใหม่ รองรับไลฟ์สไตล์ และยกระดับเป็น Bikers’ Solution “ยามาฮ่า” ลุยกิจกรรมถี่ยิบ จัดรถใหม่ครบทุกเซ็กเมนต์ ให้การรับประกัน 5 ปี หรือ 5 หมื่นกม.ครั้งแรกในโลก

ตลาดรถจักรยานยนต์ไทยปี 2562 ปิดยอด 1.74 ล้านคัน ลดลง 3% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยปัจจัยหลักๆ ที่กระทบกับตลาดประกอบไปด้วยภาพรวมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว, หนี้ครัวเรือนสูง, ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังตกตํ่า รวมไปถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เห็นผลของเม็ดเงินที่ไหลเวียนเข้าสู่ระบบ

ด้วยปัจจัยทั้งหมดนี้จึงทำให้ตลาดในปีที่ผ่านมาหดตัวลง และเมื่อดูปี 2563 ปัจจัยลบทั้งหลายก็ยังไม่หยุดและทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ทำให้ราคาจักรยานยนต์บางรุ่นปรับขึ้นหลักร้อยไปจนถึงหลักพัน อีกหนึ่งปัจจัยที่ร้อนแรงในตอนนี้คือไวรัสโคโรนา ที่อาจจะกระทบกับการท่องเที่ยว ซึ่งถือเป็นธุรกิจหลักที่ทำรายได้ให้ประเทศไทย

“ต้องยอมรับว่าในไตรมาสแรกของปีนี้ยังมองไม่เห็นปัจจัยบวก แต่ฮอนด้าได้เตรียมการไว้หลายอย่าง อาทิ การปรับภาษีสรรพสามิตใหม่ ที่ได้ส่งสัญญาณมาก่อนหน้านี้ และเราก็ปรับพร้อมทั้งสะท้อนราคาที่แท้จริงไว้แล้ว ส่วนที่กะทันหันจริงๆ คือเรื่องไวรัสโคโรนาที่ต้องติดตามดูว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจในไทยระยะยาวหรือไม่” นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ.พี.ฮอนด้าจำกัด กล่าว

ฮอนด้าประเมินว่าท่ามกลางสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในตอนนี้ จะทำให้ตลาดรถจักรยานยนต์ในปี 2563 มีตัวเลขอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน ขณะที่ยอดขายของฮอนด้านั้นจะอยู่ที่ 1.35 ล้านคัน ลดลงจากปี 2562 ที่ทำได้ 1.37 ล้านคัน

2ยักษ์มอ’ไซค์ชิงแบรนด์ลอยัลตีฝ่า!ตลาดซบ

เรียกได้ว่าเหนื่อยหนักอย่างแน่นอนในปีนี้สำหรับตลาด 2 ล้อ ซึ่งฮอนด้าที่เป็นผู้นำพยายามงัดกลยุทธ์การตลาดออกมาเพื่อหวังจะกระตุ้นยอดขาย ทั้งการพัฒนารถรุ่นใหม่ให้ครอบคลุมความต้องการของลูกค้า ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ รถที่ใช้ในชีวิตประจำวัน, รถที่พัฒนาเพื่อการใช้งานตามความสนใจส่วนบุคคล และรถจักรยานยนต์ที่แสดงสถานะทางสังคม

อีกกลยุทธ์คือ การพัฒนาทัชพอยต์กับลูกค้า โดยมีแผนจะปรับปรุงพัฒนาเครือข่ายฮอนด้าวิงเซ็นเตอร์ ให้ไปสู่ Bikers’ Solution ของทศวรรษ 2020s ที่จะมอบประสบการณ์ที่เหนือความคาดหมาย และสร้างความไว้วางใจ พร้อมทั้งความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าจนเกิดเป็นแบรนด์ลอยัลตี

อย่างไรก็ดี เมื่อสำรวจจากแนวรบตั้งแต่ต้นปี จะพบว่าฮอนด้าทำแคมเปญใหญ่มูลค่ารวมกว่า 30 ล้านบาท และมีไฮไลต์คือการแจกทอง 1 กิโลกรัม ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในวงการ 2 ล้อที่จัดหนักขนาดนี้

อีกหนึ่งแผนงานที่อยู่ในความสนใจของลูกค้า คือรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทแม่ได้ประกาศว่าจะเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในราคาย่อมเยา เพื่อรับกับตลาดที่จะเติบโตในอนาคต อย่างไรก็ตามก่อนหน้านั้นได้เปิดตัว PCX EV มา 1 ปี แต่ยังไม่ได้จำหน่าย โดยเป็นการนำรถมาทำโปรเจ็กต์ร่วมกับมหา วิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของตลาดก่อน ส่วนเรื่องการจำหน่ายโดยตรงไปสู่ผู้ใช้นั้นยังไม่มีแผน เพราะราคายังไม่ดึงดูด และยังไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล

“เรายังไม่มีการขายPCX EV สู่ผู้ใช้รถเพราะยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐ ไม่เหมือนรถยนต์ และรถของเราไม่สามารถที่จะทำราคาถูกได้” นายคิมูระ กล่าวปิดท้าย

อีกหนึ่งผู้นำในตลาด 2 ล้อ อย่างยามาฮ่า ก็ยังไม่มีแผนเกี่ยวกับจักรยานยนต์ไฟฟ้า โดยยามาฮ่ายังมุ่งมั่นในการขายแกรนด์ ฟิลาโน่ ไฮบริด ซึ่งปี 2562 ทำยอดขายได้กว่า 7 หมื่นคัน ขณะที่แผนงานไฮไลต์ในปีนี้ของยามาฮ่าจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มศักยภาพของแบรนด์ให้สามารถแข่งขันได้ครบทุกเซ็กเมนต์

“ปีนี้จะเปิดตัวรถใหม่ 4 รุ่น พร้อมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าด้วยการรับประกันรถจักรยานยนต์ทั้งคัน 5 ปี หรือ 5 หมื่นกิโลเมตร ในรถระดับตํ่ากว่า 500 ซีซี.ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 ซึ่งการรับประกันถือเป็นครั้งแรกของโลกในกลุ่มสินค้าประเภทรถจักรยานยนต์ และทางบริษัทมั่นใจว่าจะสามารถเสริมความแข็งแกร่งให้กับแบรนด์ พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นยอดขายให้เติบโตได้มากกว่าปีที่ผ่านมา และพิเศษสำหรับลูกค้าที่ซื้อยามาฮ่า ฟินน์ รับประกัน 5 ปีไม่จำกัดระยะทาง” นายพงศธร เอื้อมงคลชัย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าว

นอกจากนั้นแล้วจะเพิ่มความถี่ในการจัดกิจกรรมมากขึ้น เพราะปีที่ผ่านมาจับมือกับผู้แทนจำหน่ายจัดงาน 5,663 ครั้ง และสามารถทำยอดขายได้กว่า 50,363 คัน ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับการจัดงานในปี 2561

ถือเป็นแผนรุกที่ยามาฮ่าวางไว้ และทำให้พวกเขามั่นใจว่าเป้าหมายการขายในปีนี้จะทำได้ 2.7 แสนคัน เพิ่มขึ้น 4% เมื่อเทียบจากปี 2562 และส่วนแบ่งการตลาดจาก 15% เพิ่มเป็น 16% ขณะที่ตลาดรวมนั้นจะอยู่ที่ 1.69 ล้านคัน ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562

“เรามั่นใจว่าตัวสินค้าที่เตรียมไว้จะได้รับการตอบรับที่ดีและบางเซ็กเมนต์ที่เราเข้าไปเจาะยังมีโอกาสเติบโตสูง โดยเฉพาะในกลุ่มเอ.ที.พรีเมียม ที่ในปีที่ผ่านมา X-MAX ในไทยขายได้เป็นที่ 1 ของยามาฮ่าทั่วโลก ส่วนในกลุ่มโมเพด ที่เรามียามาฮ่า ฟินน์ จะเน้นหนักมากขึ้น มีการโฆษณาประชาสัมพันธ์และแคมเปญเพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงส่วนกลุ่มสปอร์ต จะสร้างวัฒนธรรมให้กับรถในกลุ่มนี้ โดยเฉพาะในรุ่น XSR และ MT-15 ข้อสุดท้ายคือการรับประกัน 5 ปี จะช่วยดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาที่ร้านผู้แทนจำหน่ายของเรามากขึ้น” นายพงศธร กล่าวทิ้งท้าย 

 

หน้า 16-17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,546 วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2563