แบงก์พร้อมคิกออฟ e-KYC

07 ก.พ. 2563 | 12:41 น.

6 แบงก์ใหญ่เดินหน้า ทดสอบสแกนใบหน้าเปิดบัญชีข้ามธนาคาร ธปท.คาดเปิดใช้วงกว้างในสิ้นปี

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้เปิดให้ 6 ธนาคารพาณิชย์ประกอบด้วย บมจ.ธนาคารกรุงเทพ บมจ. ธนาคารกรุงศรีอยุธยาบมจ.ธนาคารกสิกรไทย  บมจ.ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บมจ.ธนาคารทหารไทย และ บมจ.ไทยพาณิชย์  ได้เข้าทดสอบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคารผ่านแพลตฟอร์ม เนชั่นแนลดิจิทัล ไอดี (National Digital ID หรือ NDID)ในวงจำกัด เพื่อเปิดบัญชีเงินฝาก ด้วยเทคโนโลยีการจดจำใบหน้า (Facial Recognition)ในกระบวนการรู้จักลูกค้า(KYC)ภายใต้ Regulatory Sandbox ของ ธปท.

นางสาวสิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธปท.เปิดเผยว่า ขณะนี้มีสถาบันการเงินและผู้ให้บริการชำระเงินรวม 13 รายได้เข้ามาทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคารผ่าน NDID และเทคโนโลยี Facial Recognition โดยนอกจาก 6 ธนาคารพาณิชย์ที่เข้าทดสอบแล้ว ในส่วนของ ธนาคาร กรุงไทยจะเข้าทดสอบในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งในจำนวน 14 รายนั้นเป็นธนาคารพาณิชย์ 7 แห่ง ที่เหลือเป็นผู้ให้บริการชำระเงินที่จะทยอยเข้าทดสอบ 

แบงก์พร้อมคิกออฟ e-KYC

อย่างไรก็ตาม  การยืนยันตัวตนรูปแบบดิจิทัลระหว่างธนาคาร( NDID)เป็นการยกระดับการทดสอบจากเฟสแรก ซึ่งทำ KYC ลูกค้าภายในธนาคารของตัวเอง ซึ่งคาดว่า การทดสอบในเฟสสองจะใช้เวลาประมาณ 6 เดือน หรือเมื่อธนาคารมีความพร้อมประมาณไตรมาส 2-3 จากนั้นจะขยายการทดสอบไปสู่ผู้ให้บริการนอกกลุ่มธนาคาร เช่น กองทุนรวม หลักทรัพย์(บลจ) บริษัทหลักทรัพย์(บล.)กลุ่มประกันชีวิต และกลุ่มประกันภัย เพื่อเช้ามาทดสอบในระยะถัดไป

"ระหว่างนี้ ธปท.จะเก็บข้อมูลผลการทดสอบข้ามกันของ 6 ธนาคาร และในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ทางธนาคารกรุงไทยจะเข้ามาร่วมทดสอบ จากนั้นสถาบันที่เหลิอจะค่อยทยอยเข้ามาสู่เฟสที่2  ส่วนกลุ่มแบงก์เมื่อมีความพร้อมก็สามารถเปิดให้บริการในวงกว้างภายในสิ้นปีนี้"

แบงก์พร้อมคิกออฟ e-KYC

สำหรับระบบทดสอบการยืนยันตัวตนทางดิจิทัลข้ามธนาคารจะช่วยลดกระบวนการตรวจสอบเอกสารภายใน 20 นาทีจากปกติต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมงรวมถึงความมั่นใจในความถูกต้องการรู้จักตัวตนลูกค้าด้วยการจดจำใบหน้า นอกจากส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

ส่วนความคืบหน้าบริการโอนเงินรูปแบบใหม่(พร้อมเพย์)นางสาวสิริธิดา กล่าวว่า  จำนวนลงทะเบียนพร้อมเพย์สะสมอยู่ที่ 49.7 ล้านหมายเลข ส่วนใหญ่เป็นเลขประจำตัวประชาชน 30.3 ล้านเลขหมาย และหมายเลขโทรศัพท์มือถือ 18.9 ล้านเลขหมาย นิติบุคคล 79,460 หมายเลข และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet ID) 4.5 หมายเลข    โดยมีปริมาณธุรกรรมเฉลี่ยอยู่ที่ 9.1 ล้านรายการต่อวัน คิดเป็นมูลค่าธุรกรรมเฉลี่ย 4.3 หมื่นล้านบาทต่อวัน และมีปริมาณธุรกรรมสูงสุดอยู่ที่ 12.6 ล้านรายการต่อวัน โดยค่อยๆเพิ่มขึ้นตามลำดับ มูลค่าธุรกรรมสูงสุด 7.78 หมื่นล้านบาท ขณะที่จำนวนการใช้ระบบการชำระเงิน(e-Payment)ของประชาชนเพิ่มขึ้นเป็น 131 ครั้งต่อคนต่อปี จากปี 2560 อยู่ที่ 63 ครั้งต่อคนต่อปี โดยปัจจุบันมีจุดรับ QR Code อยู่ที่ 5.9 ล้านจุด 

แบงก์พร้อมคิกออฟ e-KYC

สำหรับแนวโน้มธุรกรรมโอนเงินและชำระเงินด้วย Mobile Banking และ Internet Banking มีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ตัวเลขสะสม ณ เดือนพฤศจิกายน 2562 พบว่า มีปริมาณธุรกรรมรวม 558.7 ล้านรายการ คิดเป็นการเติบโต 73.7% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มูลค่าธุรกรรมรวม 4.7 ล้านล้านบาท เติบโต 13.8% จากช่วงเดียวของปีก่อน โดยมีจำนวนบัญชี Mobile Banking และ Internet Banking รวมอยู่ที่ 85.7 ล้านบัญชี คิดเป็นการเติบโต 29% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน