สคบ.ปูพรมตลาดนัดตรวจอาหารปนเปื้อน

12 ส.ค. 2559 | 13:00 น.
สคบ. ผนึกก.เกษตรฯ และมหาดไทยเดินนโยบายเชิงรุกดูแลผู้บริโภคระดับรากหญ้าของประเทศ ลงพื้นที่ตลาดนัดตรวจสินค้าเกษตร อาหารทะเล ผักผลไม้ หวังสร้างเกราะป้องกันผู้บริโภคก่อนได้รับความเดือดร้อน

นายอำพล วงศ์ศิริ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากสถิติร้องเรียนของผู้บริโภคที่เข้ามาช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2559 (ตุลาคม 2558-พฤษภาคม 2559) พบว่ามีจำนวนกว่า 6,300 เรื่อง โดยอันดับ 1 ยังเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์กว่า 1,900 เรื่อง รองลงมาเป็นธุรกิจรถยนต์ ซึ่งเห็นว่าจะเป็นสินค้าที่มีราคาสูง ผู้ได้รับความเดือดร้อนส่วนใหญ่จะมีฐานะค่อนข้างดี แต่ประชาชนระดับรากหญ้า เป็นกลุ่มที่สคบ.ให้ความสำคัญ และต้องการที่จะเข้าไปดูแลป้องกันไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน จากซื้อสินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มอาหาร ผัก ผลไม้ สินค้าประมง และอาหารทะเล

ทั้งนี้ตามนโยบายของม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จึงได้มอบนโยบายในการดูแลกลุ่มผู้บริโภคที่ระดับรากหญ้า ด้วยการให้สคบ.ทำงานร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงธารณสุข และกระทรวงมหาดไทย เพื่อดูแลกลุ่มสินค้าอาหาร ผัก ผลไม้ สินค้าประมง และอาหารทะเล ด้วยการลงพื้นที่ตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารเหล่านั้น ไม่ให้มีการใช้สารฟอร์มาลีน สารเคมี ยาฆ่าแมลง โลหะหนัก หรือสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ซึ่งจะเน้นพื้นที่ตลาดนัด หรือตลาดชุมชนขนาดใหญ่ในแต่ละจังหวัด

นอกจากนี้ยังได้ประสานไปทางกระทรวงเกษตรฯ ให้กวดขันไม่ให้ชาวประมงนำฟอร์มาลีนมาใช้แช่ปลา รวมถึงโรงงานน้ำแข็งห้ามนำฟอร์มาลีนมาผสมน้ำเพื่อทำน้ำแข็งในการแช่ปลาหรืออาหารทะเล รวมถึงกวดขันแพปลาในจังหวัดต่างๆ ขณะที่กระทรวงสาธารณสุข โดยสาธารณสุขจังหวัดได้ร่วมกับศูนย์ดำรงธรรมของกระทรวงมหาดไทยในแต่ละจังหวัด บูรณาการทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของสคบ. ในแต่ละจังหวัด ลงพื้นที่ตรวจตลาดนัด ตลาดประจำจังหวัด และตลาดนัดที่ประชาชนนิยมไปซื้อสินค้า อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อหาสารปนเปื้อนและเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค"

นายอำพล กล่าวเพิ่มเติมว่าการทำงานดังกล่าวถือเป็นการทำงานในเชิงรุก เพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ประกอบการกระทำความผิด ขณะเดียวกันสคบ.ยังลงพื้นที่ในต่างจังหวัดเพื่อให้ความรู้กับผู้บริโภค และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง ครั้งละกว่า 1,000 คน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ซึ่งปกติสคบ.จะลงพื้นที่สัญจรไปตามจังหวัดต่างๆ เพียงปีละ 4-5 ครั้ง แต่ปีนี้ได้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเป็น 7 ครั้ง และลงพื้นที่ได้กว่า 20 จังหวัด โดยเป็นการออกให้ความรู้และการออกตรวจเยี่ยมผู้ประกอบการในแต่ละจังหวัด ซึ่งร้านค้าที่สคบ.ออกตรวจจะประกอบด้วย ร้านจำหน่ายทองรูปพรรณ ร้านขายเครื่องสังฆภัณฑ์ ตลาดนัด และเต็นท์รถมือสอง

สำหรับเรื่องร้องเรียนกับทางสคบ.ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าประเภทสินค้า 5 อันดับแรกที่มีการร้องเรียนมากที่สุดได้แก่ 1.อาคารชุด จำนวน 47 เรื่อง 2.รถยนต์จำนวน 29 เรื่อง 3.การท่องเที่ยว จำนวน 29เรื่อง จำนวน 12 เรื่อง 4.บ้านจัดสรร จำนวน26 เรื่อง และ 5ร้านอาหาร จำนวน 16 เรื่อง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,182 วันที่ 11 - 13 สิงหาคม พ.ศ. 2559