สธ. ย้ำมาตรการป้องกันตนเอง ช่วยลดติดเชื้อ แนะโรงงานใช้ Bubble and Seal

25 ก.ค. 2564 | 09:49 น.

กระทรวงสาธารณสุข ย้ำมาตรการป้องกันตนเอง ในครอบครัว ชุมชน ตลาด/ตลาดนัด ในโรงงาน/สถานประกอบการ ช่วยลดการติดเชื้อและแพร่เชื้อ แนะโรงงานหากพบพนักงานติดเชื้อ ใช้มาตรการ Bubble and Seal จัดระบบควบคุมกำกับการเดินทางของพนักงาน ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน

วันนี้ (25 กรกฎาคม 25864) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์  ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 ว่า วันนี้ มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 15,335 คน มีผู้เสียชีวิต 129 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 70% ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว และผู้เสียชีวิต 79 รายไม่เคยได้รับวัคซีน ดังนั้นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หากไม่ได้รับวัคซีนมีโอกาสติดเชื้ออาการรุนแรงค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ ในต่างจังหวัดพบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเดินทางกลับภูมิลำเนา และพบคลัสเตอร์การติดเชื้อในครอบครัว ตลาด และสถานประกอบการเพิ่มมากขึ้น สาเหตุหลักคือ การสัมผัสผู้ติดเชื้อโดยไม่รู้ตัว การปิดโรงงานสถานประกอบการที่พบผู้ติดเชื้อทำให้คนงานที่ติดเชื้อกระจายออกไป และจากแคมป์คนงานหรือชุมชน ซึ่งกว่าร้อยละ 80 ของผู้ติดเชื้อมักไม่มีอาการ อาจทำเกิดการแพร่เชื้อระหว่างกันได้ง่าย สิ่งสำคัญที่สุดคือ การป้องกันตัวเองปฏิบัติตามมาตรการ DMHTT เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ ไม่ไปในสถานที่แออัด รวมถึงสังเกตอาการตนเอง หากเริ่มป่วยไม่ควรออกนอกบ้าน ตรวจหาเชื้อด้วยชุดตรวจ ATK หรือพบแพทย์เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ สถานที่ที่มีความเสี่ยงได้แก่ ตลาด, ตลาดนัด, ร้านสะดวกซื้อ, ขนส่งสาธารณะ อาจสัมผัสใกล้ชิดหรือพูดคุยกับคนที่ติดเชื้อโดยไม่ได้ระวังตัว

สธ. ย้ำมาตรการป้องกันตนเอง ช่วยลดติดเชื้อ แนะโรงงานใช้ Bubble and Seal

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า สำหรับโรงงานและสถานประกอบการ หาก “ยังไม่พบผู้ติดเชื้อ” ให้ผู้ประกอบการปรึกษาสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดดำเนินการตามมาตรการ Bubble and Seal เตรียมความพร้อม เตียงสนาม/ห้องแยกกัก และให้พนักงานเข้มงวดการปฏิบัติตัวป้องกันการติดเชื้อ หาก “พบผู้ติดเชื้อแล้ว” เน้น “ไม่ปิดโรงงาน” ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ชุมชน โดยแยกกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง และกลุ่มที่ติดเชื้อ ให้ทำงานที่บ้าน หรือจัดกระบวนการทำงานแยกกลุ่ม จัดหาเตียงสนาม/ห้องแยกกัก จัดระบบควบคุมกำกับการเดินทางไปกลับของพนักงาน ไม่ให้สัมผัสผู้อื่น แยกรับประทานอาหาร ลดการสนทนา ไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อ รวมถึงตรวจคัดกรองพนักงานก่อนเข้าทำงานทุกวัน

การป้องกันการแพร่เชื้อจากตลาด/ตลาดนัด  “ผู้ค้า” หากมีอาการป่วย/คนในบ้าน-คนใกล้ชิดสงสัยติดเชื้อ ต้องงดขายของ “แรงงานรับจ้างในตลาด” ผู้ประกอบการ ต้องจัดให้มีการขึ้นทะเบียน และคัดกรองอาการป่วยทุกวัน “ลูกค้า” หากมีอาการป่วยหรือคนในบ้าน-คนใกล้ชิด สงสัยติดเชื้อ ต้อง “งด” ไปซื้อของทุกกรณี ทั้งนี้หากสงสัยว่าติดเชื้อหรือมีความเสี่ยงให้สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาทั้งในบ้านและนอกบ้าน แยกรับประทานอาหาร ตรวจด้วยชุดตรวจ ATK หรือรีบไปพบแพทย์ และในช่วง 14 วันที่มีการล็อคดาวน์ ขอให้ออกนอกบ้านเท่าที่จำเป็น เช่น พบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือซื้อของ จะต้องป้องกันตัวเองและผู้อื่น ส่วนเดินทางข้ามจังหวัด หากจะกลับไปรักษายังภูมิลำเนาจะต้องลงทะเบียน แจ้งให้โรงพยาบาลปลายทาง รวมถึงแจ้งหน่วยงานในพื้นที่ เช่น ผู้ใหญ่บ้าน อสม.ให้ทราบก่อนเพื่อสนับสนุนการกักตัวและป้องกันการแพร่โรค

นพ.จักรรัฐกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด 19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 24 กรกฎาคม 2564 ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เข้ารับการฉีดเข็มที่ 1 แล้ว 2.5 ล้านคน จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ส่วนเข็มที่ 2 ฉีดแล้ว 1.6 แสนคน คิดเป็นร้อยละ 1.3 ขอความร่วมมือบุตร หลาน นำพ่อแม่ ผู้สูงอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน รวมถึงผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป เนื่องจากหากติดเชื้อมีโอกาสเสี่ยงสูงที่จะป่วยรุนแรงได้

 “ขอให้ทุกคนช่วยกันลดการแพร่เชื้อ เมื่อตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงเรื่อยๆ จะมีการผ่อนคลายได้มากขึ้น ดังนั้นการที่เราช่วยกันป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา หากสงสัยว่าติดเชื้อรีบตรวจด้วย ATK ดูแลตัวเองมากขึ้น และขอขอบคุณประชาชน ผู้ประกอบการ หน่วยงานราชการ และเอกชนที่ช่วยกัน เวิร์คฟอร์มโฮม 100%” นพ.จักรรัฐกล่าว