ข้อปฏิบัติ "กักตัวอยู่กับบ้าน" ทำอย่างไร ไม่ให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจาย

23 ก.ค. 2564 | 06:00 น.
อัพเดตล่าสุด :23 ก.ค. 2564 | 13:09 น.

กรมควบคุมโรค แนะ ข้อปฏิบัติวิธี "กักตัวอยู่กับบ้าน" สำหรับผู้ป่วยติดโควิด-19 ไม่แสดงอาการ ไม่ให้แพร่กระจายเชื้อสู่บุคคลอื่น ต้องทำอย่างไร พร้อมเปิดเทคนิกแก้ปัญหาง่าย ๆ

หลังจากที่ประกาศเดินหน้าแนวทางการกักตัวที่บ้านสำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ไม่แสดงอาการเพื่อช่วยลดปัญหาภาวะขาดแคลนเตียงในห้วงเวลานี้แต่ต้องไม่ลืมว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้ก็ยังสามารถที่จะแพร่เชื้อโควิดไปยังผู้อื่นได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการดำเนินการสอบสวนเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่หลังจากมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่จากทั่วประเทศจนถึงขณะนี้ พบว่า ผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด 19 มีอัตราการติดเชื้อ 11.83 % ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่สูง

โดยเชื้อที่เป็นปัญหาหลักของไทยขณะนี้ คือ สายพันธุ์เดลตาและอัลฟา ที่ติดต่อกันได้ง่าย ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 5-8 คน ส่วนเชื้อสายพันธุ์อัลฟา แพร่ได้ 4-5 คน

กรมควบคุมโรค จึงขอความร่วมมือประชาชนที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้กักตัวเองที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน เป็นช่วงที่เชื้อฟักตัวเพื่อสังเกตอาการว่า ติดเชื้อหรือไม่ซึ่งสามารถดำเนินการได้ทั้งในบ้าน

ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด เช่น หอพักคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ต่างๆ ทั้งประเภทอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมกับครอบครัวหรือพักร่วมกับผู้อื่น สร้างความปลอดภัย ทั้งตนเองและคนในครอบครัวได้ ดังนี้

1.ให้จัดสถานที่พักและอุปกรณ์เครื่องใช้ให้พร้อม

  • เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก 
  • แยกของใช้ส่วนตัว แยกที่พักให้เป็นสัดส่วน เช่น ห้องนอน ที่นอน ห้องน้ำ 
  • ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ภายในบ้านด้วยน้ำผสมผงซักฟอก น้ำผสมน้ำยาฟอกขาว หรือแอลกอฮอล์ 70%

หากแยกไม่ได้ : สำหรับห้องนอน อาจใช้แผ่นกระดาษหรือพลาสติกกั้นห้องเพื่อแบ่งสัดส่วนชั่วคราว กรณีของห้องน้ำ คนที่ใช้ห้องน้ำเป็นคนสุดท้ายควรทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที

2.เน้นการดูแลอนามัยส่วนบุคคล

  • ล้างมือฟอกด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล 70 % ทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่น
  • ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่คลุกคลีกับคนอื่น แยกซักเสื้อผ้าเอง
  • ควรงดการสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงชั่วคราว เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถติดไปกับขนสัตว์ได้ เช่น แยกทานอาหาร
  • หากให้ผู้อื่นจัดหาอาหารให้ ควรกำหนดจุดรับอาหารเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง
  • กรณีใช้ชักโครก ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ
  • ทิ้งขยะในถุงและมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

3.เฝ้าระวังอาการป่วยตนเองระหว่างกักตัว

  • ใช้ปรอทตรวจวัดไข้ทุกวัน และสังเกตอาการผิดปกติ หากพบว่า มีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ตาแดง จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส มีผื่นขึ้น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อาเจียน
  • แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรืออาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามขั้นตอนต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนควบคุมโรค โทร. 1422