มหิดล ต่อยอด ชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว สู่การพัฒนาชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน

18 ก.ค. 2564 | 04:09 น.

ม.มหิดล ต่อยอดงานวิจัย พัฒนาชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน Neutralizing Antibody ตรวจหาภูมิต้านทานทั้งผู้เคยติดเชื้อโควิด และผู้ฉีดวัคซีน ส่วนชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว มาตรฐานสากล คาดวางจำหน่ายได้ สิงหาคม 2564 ส่งเสริมเศรษฐกิจและสังคมไทย พร้อมเตรียมขยายผลสู่ระดับภูมิภาค

ศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์ภัทรชัย กีรติสิน ผู้อำนวยการสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า หลังจากภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้พัฒนาผลงานชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว ซึ่งตอบโจทย์วิกฤติของประเทศและทั่วโลกขณะนี้ โดยคุณสมบัติพิเศษของชุดตรวจ ใช้น้ำยาซึ่งสามารถทำลายเชื้อไวรัสได้ในขณะตรวจ โดยจะไม่ทำให้เชื้อแพร่กระจายในสิ่งแวดล้อมและรู้ผลการตรวจได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว และยังสามารถต่อยอดไปเป็นชุดตรวจสำหรับประชาชนทั่วไป (self test) ที่ใช้งานง่ายและสะดวก สามารถทำการตรวจได้ด้วยตนเอง คาดว่าจะสามารถผลิตและจำหน่ายได้ในเดือนสิงหาคม 2564 นี้

มหิดล ต่อยอด ชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว สู่การพัฒนาชุดตรวจหาภูมิคุ้มกัน

ก้าวต่อไป มหาวิทยาลัยมหิดล โดยภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล จะวิจัยและพัฒนาชุดตรวจหาภูมิคุ้มกันแบบยับยั้งที่เรียกว่า Neutralizing Antibody ซึ่งจะสามารถตรวจสอบได้ว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว หรือผู้ที่หายป่วยจาก COVID-19 มีภูมิต้านทานเพียงพอกับการป้องกันเชื้อไวรัสหรือไม่ ทั้งสายพันธุ์ดั้งเดิม และสายพันธุ์ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ โดยทางทีมผู้วิจัยหวังว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็ว และเข้าถึงการตรวจได้ง่าย ทำให้หน่วยงานของรัฐสามารถวางแผนมาตรการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยรวมทั้งสังคม  และเศรษฐกิจของประเทศชาติในทุกๆ ด้านอีกด้วย

สถาบันฯ มุ่งผลักดันผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งมีอาจารย์และนักวิจัยเป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานโดยทีมงานของสถาบัน iNT ได้ให้คำปรึกษาและประสานงานเพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์อันทรงคุณค่าต่อสังคม ได้รับการจดทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคเอกชนและเข้าสู่กระบวนการการผลิตที่ตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างยั่งยืนต่อไป

ผลงานวิจัยและนวัตกรรมส่วนใหญ่ของมหาวิทยาลัยมหิดลสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) แห่งสหประชาชาติ ในข้อที่ 3 ที่ว่าด้วยเรื่องสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี (Good Health and Well-being) และในข้อที่ 9 : โครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรมและอุตสาหกรรม (Industry, Innovation and Infrastructure) โดย สถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม (iNT) มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนและดำเนินการให้ผลงานชุดตรวจ COVID-19 แบบรู้ผลเร็ว ของภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ซึ่งเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการยื่นจดอนุสิทธิบัตร จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนจับคู่ทางธุรกิจกับภาคเอกชนนำไปสู่การพัฒนาจนได้รับการรับรอง นำไปสู่การพัฒนาจนได้การรับรองจาก สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และได้มาตรฐานสากล ซึ่งในอนาคตคาดว่าจะสามารถขยายตลาดไปสู่ในระดับภูมิภาคอาเซียนได้ต่อไป

นวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยมหิดลผลิตได้ในประเทศไทย ทำให้มีต้นทุนที่ต่ำลง และประชาชนเข้าถึงได้มากขึ้น ซึ่งตลอดเวลาที่ผ่านมา สถาบันฯ ได้มีความพยายามอย่างยิ่งที่จะผลักดันเศรษฐกิจไทย และทำให้ประชาชนชาวไทยได้รับประโยชน์จากผลงานวิจัยและนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลได้มากที่สุด จากการสรรหาผู้ร่วมทุนที่มีศักยภาพในการผลิตสูง โดยเน้นบริษัทที่เป็นคนไทย เพื่อที่จะสนับสนุนธุรกิจของประเทศไทย รวมทั้งให้คำปรึกษาและบริหารจัดการโดยพิจารณาจากองค์ประกอบทั้งในเรื่องต้นทุน การกระจายสินค้า ตลอดจนเครื่องจักรผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้คนไทยได้ประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐานสากล จากฝีมือคนไทย ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการนำเข้าจากต่างประเทศได้อย่างมหาศาล

ผลงานที่โดดเด่นของ ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมีการเพาะเลี้ยงไรฝุ่นและสารก่อภูมิแพ้ ที่สามารถต่อยอดเพื่อใช้รักษาผู้ป่วย ชุดตรวจโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากพยาธิหอยโข่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งชุดตรวจแบบรู้ผลเร็วสำหรับการวินิจฉัยโรคพยาธิเท้าช้าง ซึ่งได้ถูกนำไปใช้ในโครงการควบคุมกำจัดโรคเท้าช้างของประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกว่า โรคเท้าช้างไม่เป็นปัญหาทางสาธารณสุขของประเทศไทยแล้วในปัจจุบัน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) จะใช้ชุดตรวจนี้ในการเฝ้าระวังโรคเท้าช้างไม่ให้กลับมาระบาดในประเทศไทยอีก ปัจจุบัน ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลมหาวิทยาลัยมหิดล กำลังพัฒนา "lab on a CD" ซึ่งเป็นเครื่องอัตโนมัติ ที่สามารถตรวจหาโรคเท้าช้างจำนวนมากได้ เพื่อใช้ในการตรวจคัดกรองโรคเท้าช้างในแรงงานต่างด้าว