"เคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์" พื้นที่สีแดงเข้ม ร้านในห้าง-นอกห้าง เปิด/ปิดยังไง

14 ก.ค. 2564 | 07:25 น.
อัพเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2564 | 08:18 น.

"แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์" ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ชี้แจงกรณีประกาศเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ประเภทกิจการที่ต้องปิด-เปิด ทำการได้หรือไม่ได้ ทั้งในและนอกห้างสรรพสินค้า

จากกรณีที่มีความสับสนในการเปิดร้าน ปิดร้าน ท่ามกลางการประกาศเคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์ ในพื้นที่สีแดงเข้ม หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ที่พบว่ามีข้อปฏิบัติที่แตกต่างกันสำหรับร้านที่อยู่ในห้างสรรพสินค้า กับ นอกห้างสรรพสินค้า 

วันที่ 14 กรกฎาคม 2564  เวลา 12.30 น. แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) แถลงชี้แจงเรื่องนี้ ณ โถงกลาง ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล เรื่องนี้

โดยเป็นการตอบคำถามสื่อมวลชน กรณีคลินิกเสริมความงาม ร้านตัดผม ร้านทำเล็บ ร้านสัก ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด สามารถเปิดได้หรือไม่ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. ได้กล่าวว่า

ขอขยายความจากมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 27) ซึ่งขอเน้นย้ำว่าประกาศดังกล่าวหมายความรวมถึง 6 จังหวัด คือ กทม. และปริมณฑลเท่านั้น ได้แก่

  1. กทม.
  2. นนทบุรี
  3. นครปฐม
  4. ปทุมธานี
  5. สมุทรสาคร
  6. สมุทรปราการ

แต่ในส่วนของพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 4 จังหวัดของภาคใต้ ได้แก่ นราธิวาส ปัตตานี ยะลา สงขลา ไม่ได้รวมอยู่ในหลักการดังกล่าว

\"เคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์\" พื้นที่สีแดงเข้ม ร้านในห้าง-นอกห้าง เปิด/ปิดยังไง

ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวอีกว่า โดยขอแบ่งเป็นกิจการภายในห้างสรรพสินค้า และนอกห้างสรรพสินค้า ดังนี้ 

กิจการที่ตั้งอยู่ในห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ หรือสถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายกัน ดังต่อไปนี้ จะต้องปิดให้บริการ

  1. ร้าน/แผนกหนังสือ แว่นตา เครื่องนุ่งห่ม เครื่องไฟฟ้า อุปกรณ์สำนักงาน เครื่องเขียน เครื่องครัว อุปกรณ์กีฬา เครื่องสำอาง อาหารสัตว์ อาหารเสริมร้านอาบน้ำตัดขนสัตว์ คลินิกรักษาสัตว์ 
  2. สถานเสริมความงาม ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านสักเจาะผิวหนัง ร้านทำเล็บ
  3. คลินิกทันตกรรม คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก คลินิกเวชกรรมเสริมความงาม
  4. ร้านให้บริการล้างรถ
  5. ร้านซักรีด

เนื่องจากตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคว่าเพื่อไม่ให้เกิดการรวมตัวของคนจำนวนมากในพื้นที่ปิด เน้นย้ำว่าในห้างสรรพสินค้า เปิดได้เฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ต ยารักษาโรค อุปกรณ์สื่อสารเพื่อความจำเป็นฉุกเฉินเท่านั้น

\"เคอร์ฟิว-ล็อกดาวน์\" พื้นที่สีแดงเข้ม ร้านในห้าง-นอกห้าง เปิด/ปิดยังไง

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นคลีนิคทันตกรรม รักษาผู้มีบุตรยาก เวชกรรมเสริมความงามเหล่านี้ หากเปิดอยู่นอกห้างสรรพสินค้า ขอให้เป็นอำนาจการตัดสินใจของคณะกรรมการโรคติดต่อ กทม. หรือคณะกรรมการโรคติดต่อแต่ละจังหวัด

หากจังหวัดไหนพิจารณาว่าสามารถเปิดดำเนินการได้ขอให้ฟังประกาศของจังหวัดที่ตั้งอยู่

แต่อย่างไรก็ตามขอเน้นย้ำว่า หากมีการเปิดดำเนินการ แต่มีการรายงานผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นก็เป็นไปได้ที่จังหวัดนั้นก็อาจจะมีการพิจารณาสั่งปิดในโอกาสต่อไป

และผู้ช่วยโฆษก ศบค. ขอขอบคุณหากมีการให้ความร่วมมือ มีผู้ประกอบการที่ปิดกิจการชั่วคราว เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลดการแพร่ระบาดครั้งนี้