วัคซีน "Moderna" จับตา รพ.เอกชนเคาะราคาหลังเตรียมเข้าไทย 5 ล้านเข็ม

01 ก.ค. 2564 | 06:47 น.

หมอเฉลิมชัยเผยราคาต้นทุนวัคซีน Moderna เข็มละ 1,100 บาท ชี้รอดูโรงพยาบาลเอกชนกำหนดราคาหลังเตรียมเข้าไทย 5 ล้านเข็ม คาดเร็วที่สุดเดือนตุลาคม 3.9 ล้านเข็ม ไตรมาส1/65 อีก 1.1 ล้านเข็ม

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ต้นทุนวัคซีน Moderna 1100 บาท รอดูราคาที่โรงพยาบาลเอกชนจะกำหนดต่อไป จะเข้ามาทั้งสิ้น 5 ล้านเข็ม เร็วสุดในเดือนตุลาคม 2564
ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมได้แจ้งว่า
1.องค์การเภสัชกรรมได้กำหนดราคาขายวัคซีน Moderna ให้กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชนที่ราคาเข็มละ 1100 บาท
2.ราคานี้ ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม ค่าขนส่ง และค่าประกันภัยรายบุคคลไว้ทั้งหมดแล้ว
3.สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จะเป็นผู้ไปกำหนดราคากลางค่าบริการการฉีดต่อไป
4.จะมีวัคซีนเข้ามารวม 5 ล้านเข็ม ไตรมาสสี่   3.9 ล้านเข็ม ไตรมาสแรกปี 2565   1.1 ล้านเข็ม
ทั้งนี้เป็นการดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาที่ภาคเอกชนประสบอุปสรรคไม่สามารถติดต่อเจรจากับบริษัทวัคซีนต่างประเทศได้เอง
เพราะบริษัทวัคซีนต่างประเทศ จะเจรจากับภาครัฐเท่านั้น รัฐบาลจึงมีนโยบายให้ทางองค์การเภสัชกรรมเข้ามาเป็นตัวแทน เพื่อแก้ปัญหาอุปสรรคดังกล่าว
และขณะนี้ องค์การเภสัชกรรมได้บรรลุข้อตกลง กำหนดราคาต้นทุนที่เข็มละ 1100 บาท และจะมีเข้ามาในไตรมาสสี่ 3.9 ล้านโดส

รายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีน Moderna เป็นเทคโนโลยี mRNA ชื่อว่า mRNA-1273 จะต้องฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 4สัปดาห์ เก็บที่อุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียสได้หกเดือน ถ้าเก็บที่อุณหภูมิตู้เย็น 2-8 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 30 วัน 

จับตา รพ.เอกชนเคาะราคาวัคซีน Moderna
โดยได้มีการทดลองเฟสสามในอาสาสมัคร 30,000 คน เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563
30 พฤศจิกายน 2563  สรุปผลว่า มีประสิทธิผลในอาสาสมัคร (Efficacy) 94.1% และจะมีระดับภูมิต้านทานไปอย่างน้อยสามเดือน
18 ธันวาคม 2563  USFDA ให้การรับรอง ฉีดในสถานการณ์ฉุกเฉิน (EUA) เป็นลำดับที่สองห่างจากวัคซีนของ Pfizer หนึ่งสัปดาห์
25 พฤษภาคม 2564 มีรายงานสรุปว่าสามารถฉีดในเด็กอายุ 12 ปีขึ้นไปโดยมีประสิทธิภาพและผลข้างเคียงอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้
รัฐบาลอเมริกัน ได้ให้เงินสนับสนุนบริษัท Moderna ล่วงหน้า ก่อนจะทราบผลว่าวัคซีนสำเร็จหรือไม่ เป็นจำนวนมากถึง 1,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ทางบริษัทกำลังทดลองวิจัย เมื่อเดือนมีนาคม 2564 ให้สามารถปรับเปลี่ยนไปรองรับสายพันธุ์เบต้าหรือแอฟริกาใต้ได้ด้วย

เป็นวัคซีนทางเลือกอีกตัวหนึ่ง ที่จะเข้ามาเสริมวัคซีนหลัก ซึ่งกำลังมีงานวิจัยทดลองว่า วัคซีน mRNA (Pfizer)เมื่อฉีดตามหลังวัคซีนไวรัสเป็นพาหะ (AstraZeneca)จะได้ภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดีมาก แต่ผลข้างเคียงระยะยาว จะเป็นอย่างไร คงจะต้องติดตามกันต่อไป
ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมตัวเลขการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 (Covid-19)ในประเทศไทย วันที่ 28 ก.พ.-30 มิ.ย. 64 จากศูนย์ข้อมูล COVID-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า มียอดฉีดสะสมทั้งหมดจำนวน 9,927,698 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 7,110,854 ราย และเข็มที่ 2 จำนวน 2,816,844 ราย