เปิดผลตรวจโควิดระลอก 3 ในไทย จำนวนเท่าไหร่ มีเเนวโน้มอย่างไร

22 มิ.ย. 2564 | 06:35 น.

เปิดข้อมูลการตรวจโควิดในไทย โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นเมื่อเทียบกับระลอกแรกและระลอก 2 

“ประเทศไทย” เผชิญการระบาดโควิดระลอก 3 กระจายออกไปครบทุกจังหวัดทั้งประเทศเรียกว่าหนักหน่วงกว่าที่เคยมีมา ทั้งยังพบผู้ติดเชื้อครอบคลุมทุกเพศทุกวัย จำนวนมาก

จากข้อมูลการตรวจโควิดในประเทศไทย โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะการระบาดระลอก 3 ซึ่งพบว่าสัดส่วนของผู้ติดเชื้อโควิดต่อผู้เข้ารับการตรวจหาเชื้อทั้งหมดในระลอก 3 นี้มีแนวโน้มสูงขึ้น
 

ตั้งแต่เดือนเมษายน พฤษภาคม และ มิถุนายน 2564 โดยเเบ่งการคำนวนออกเป็นช่วงละ 7 วัน ดังนี้ 

วันที่ 4  - 10 เม.ย. 64 ตรวจทั้งหมด 215,815 คน พบผู้ติดเชื้อ 5,865 คน  
วันที่ 11 - 17 เม.ย. 64 ตรวจทั้งหมด 335,346 คน พบผู้ติดเชื้อ 13,736 คน 
วันที่ 18 - 24 เม.ย. 64 ตรวจทั้งหมด 466,764 คน พบผู้ติดเชื้อ 16,423 คน 
วันที่ 25 เม.ย. - 1 พ.ค. 64 ตรวจทั้งหมด 461,659 คน พบผู้ติดเชื้อ 16,309 คน 

เดือนพฤษภาคมต่อเนื่องเดือนมิถุนายน  

วันที่ 2 - 8 พ.ค. 64 ตรวจทั้งหมด 422,186 คน พบผู้ติดเชื้อ 15,606 คน 
วันที่ 9 - 15 พ.ค. 64 ตรวจทั้งหมด 437,071 คน พบผู้ติดเชื้อ 16,060 คน 
วันที่ 16 - 22 พ.ค. 64 ตรวจทั้งหมด 456,152 คน พบผู้ติดเชื้อ 18,012 คน 
วันที่ 23 - 29 พ.ค. 64 ตรวจทั้งหมด 469,722 คน พบผู้ติดเชื้อ 28,340 คน 
วันที่ 30 พ.ค. - 5 มิ.ย. 64 ตรวจทั้งหมด 418,029 คน พบผู้ติดเชื้อ 19,954 คน 
วันที่ 6 - 12 มิ.ย. 64 ตรวจทั้งหมด 389,191 คน พบผู้ติดเชื้อ 18,327 คน 
วันที่ 13 - 19 มิ.ย. 64 ตรวจทั้งหมด 427,806 คน พบผู้ติดเชื้อ 25,012 คน 

อย่างไรก็ตาม สำหรับนโยบาย “120 วันเปิดประเทศ” ของรัฐบาลดูจะสร้างความกังวลให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ประชาชน จำนวนไม่น้อย ทั้งในแง่ของการเริ่มผ่อนคลายมาตรการต่างๆ  และการฉีดวัคซีนโควิดในประเทศไทยยังถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะเรื่องไวรัสกลายพันธุ์ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ออกมาแสดงความเป็นห่วง 

อาทิ ศ.นพ.ยง  ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้กล่าวว่า ตามวิวัฒนาการของไวรัส ไวรัสจะมีการกลายพันธุ์ เพื่อหลบหลีกภูมิคุ้มกันของร่างกาย จะเห็นว่ามีการกลายพันธุ์ตั้งแต่ Alpha Beta  Gamma Delta  หรือ แต่เดิมที่เรียกว่าสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (Beta) สายพันธุ์อินเดีย (Delta) แต่วัคซีนส่วนใหญ่ทั้งหมดจะพัฒนาจากสายพันธุ์เดิมคือสายพันธุ์อู่ฮั่น  

โดยเฉพาะสายพันธุ์ Delta หรืออินเดีย มีอํานาจการกระจายสูง และหลบหลีกภูมิต้านทานได้แต่น้อยกว่าสายพันธุ์แอฟริกาใต้ การมีอำนาจการกระจายสูงสายพันธุ์นี้จะเข้ามาแทนที่สายพันธุ์ และระบาดทั่วโลก จากเดิมเป็นสายพันธุ์อังกฤษ

ในทำนองเดียวกันในประเทศไทยแต่เดิมเป็นสายพันธุ์ G  และก็โดนสายพันธุ์อังกฤษ (Alpha) ระบาดเข้ามา เกิดระบาดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยเกือบทั้งหมดเป็นสายพันธุ์อังกฤษ ขณะนี้เริ่มมีสายพันธุ์อินเดีย (Delta) เพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เข้ามาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษในประเทศไทยอย่างแน่นอน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องการระดับภูมิต้านทานของวัคซีนที่สูง ในการป้องกัน 

โดยการป้องกันโรคเมื่อให้วัคซีนโควิดครบ 2 เข็ม หลัง 14 วัน ต่อสายพันธุ์เดลต้า  วัคซีน pfizer ป้องกันได้ร้อยละ 79 วัคซีน AstraZeneca ป้องกันโรคได้ร้อยละ 60  แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์อังกฤษการป้องกันโรคจะอยู่ที่ร้อยละ 92 กับ 73 แต่ถ้าให้วัคซีนเข็มเดียวเปรียบเทียบกัน หลัง 28 วันไปแล้วการป้องกันของวัคซีน Pfizer จะอยู่ที่ 30% แต่ของ AstraZeneca  จะอยู่ที่ 18 เปอร์เซ็นต์       

ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัวมีใจความสำคัญ ว่า การบริหารจัดการเตียงระดับ 3 ในเขต กทม. สำหรับรับและส่งต่อผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรงและอาการวิกฤตระหว่างโรงพยาบาล ต้องกุมขมับเพราะสถานการณ์เตียงเริ่มคับขัน จนกลับไปเหมือนเมื่อปลายเดือนที่แล้ว แถมผู้ป่วยหนักระลอกใหม่นี้มีสัดส่วนที่สูงซึ่งเป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง และมีหลายรายที่สืบสาวหาต้นตอการรับเชื้อไม่ได้ชัดเจน ซึ่งหมายถึงเชื้อได้ระบาดซึมลึกเข้าไปในชุมชนทั่วไปแล้ว ไม่ได้อยู่แต่ในกลุ่มก้อนทั้งใหม่และเก่าที่โผล่ขึ้นมามากมาย 

เช่นเดียวกับราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทยเองก็แสดงความห่วงใยต่อนโยบายเปิดประเทศใน 120 วัน  ยังไม่มีแนวโน้มว่า ผู้ป่วยใหม่ในระบบรักษาพยาบาลจะลดลง อาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อระบบการรักษาพยาบาล หากทำให้เกิดการระบาด ใหญ่ระลอกที่ 4 และนำเชื้อกลายพันธุ์ซึ่งมีการระบาดอย่างรวดเร็ว 
 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง