ศบค.เปิด 11 พื้นที่เสี่ยงติดโควิด-19 ในชุมชน

10 มิ.ย. 2564 | 07:20 น.

ศบค.เปิด 11 พื้นที่เสี่ยงติดโควิด-19 ในชุมชน กทม.มี 70 คลัสเตอร์ต้องเฝ้าระวัง โดยมี 60 คลัสเตอร์ยังพบผู้ติดเชื้อในรอบ 14 วัน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้(10 มิ.ย.64)ช่วงหนึ่งว่า กรุงเทพมหานคร รายงาน 70 คลัสเตอร์วันนี้ แยกเป็นสีเขียว เหลือง และแดง โดยสีแดง มีการรายงานพบผู้ป่วยในช่วง 14 วันที่ผ่านมามี 60 คลัสเตอร์ คลัสเตอร์สีเหลือง ไม่พบผู้ป่วยภายใน 14 วัน แต่ภายใน 28 วันยังพบผู้ป่วย มีทั้งหมด 10 คลัสเตอร์ ได้แก่ ดอนเมือง บางเขน บางซื่อ หลักสี่ ประเวศ หนองจอก บางคอแหลม สาทร และบางแค  สีเขียว ไม่พบผู้ป่วยภายใน 28 วัน มี 5 คลัสเตอร์ ได้แก่ ชุมชนวัดโสมนัส ในเขตป้อมปราบ คลัสเตอร์ตลาดบุญเรียง เขตประเวศ คลัสเตอร์ชุมชนบ่อนไก่ เขตปทุมวัน แคมป์ก่อสร้าง เขตวัฒนา และแคมป์ก่อสร้างบ.แสงฟ้า เขตบางพลัด 5 คลัสเตอร์นี้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ เมื่อมีการเฝ้าระวังครบ 14 วัน 28 วัน กลุ่มผู้ที่มีการติดเชื้อก็จะสู่การหายป่วย และทำให้บริเวณพื้นที่ตรงนั้นน่าจะปลอดภัย

ศบค.เปิด 11 พื้นที่เสี่ยงติดโควิด-19 ในชุมชน
 

เปิด 11 พื้นที่เสี่ยงติดโควิด-19 ในชุมชน

พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า แต่ทั้ง กทม.และส่วนอื่นๆ ทั้งประเทศจะมีการเฝ้าระวังคัดกรองเชิงรุก การเฝ้าระวังพื้นที่ในชุมชนมีหลักเกณฑ์  โดยกรมควบคุมโรคนำข้อมูลจากการสอบสวนโรคผู้ติดเชื้อทั้งประเทศ นำมาสรุปเป็น 11 พื้นที่เสี่ยงในชุมชน เพื่อนำมาสู่การเฝ้าระวัง ได้แก่ 1.ตลาด 2.สถานีขนส่ง/ขนส่งสาธารณะทั้งทางบก น้ำ อากาศ 3.ผับบาร์คาราโอเกะ/สนามมวย/สนามไก่ชน/บ่อน 4.สถานที่ต่ออายุบัตร/ชุมชนแรงงานต่างด้าว/แออัด 5.หน่วยราชการด่านหน้า 6.โรงงาน/สถานประกอบการ 7.ห้างสรรพสินค้า ร้านค้า ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ 8.สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ/ผู้ป่วยติดเตียง 9.โรงเรียน สถานศึกษา ศูนย์เด็กเล็ก 10.ศาสนสถานหรือสถานที่ประกอบกิจกรรมทางศาสนา และ 11.ธนาคาร บริษัท สำนักงาน

ศบค.เปิด 11 พื้นที่เสี่ยงติดโควิด-19 ในชุมชน


 

ทั้งนี้ ในแง่ของการเฝ้าระวังพื้นที่ชุมชนจะมีการกำหนดเกณฑ์ ทุกๆ จังหวัดทั่วประเทศ รวมทั้งทุกเขตใน กทม. มีการเฝ้าระวังเชิงรุก สุ่มตรวจ 5 ประเภท จาก 11 ประเภท แต่ละประเภทอย่างน้อย 5 แห่ง/ประเภท และในกทม.มีการกำหนดขนาดเป็น 75 ตัวอย่าง เช่น ถ้าจะลงพื้นที่ตลาด ก็จะสุ่มตรวจ 75  ตัวอย่าง และจะมีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง เช่น มีการตรวจทุก 2 สัปดาห์

 "ตรงนี้เป็นตัวเลขคร่าวๆ และมีการปรับตามความสำคัญและบริบทของพื้นที่ ยกตัวอย่าง กทม.มีตลาด 486 ตลาด ตลาดที่พบรายงานติดเชื้อมีการเฝ้าตรวจต่อเนื่อง แต่ตลาดที่ไม่มีรายงานติดเชื้อ ก็ต้องสุ่มตรวจ การสุ่มตรวจจะนำไปสู่การรายงานกรมควบคุมโรค ว่าตรวจเท่าไร แต่ว่าไม่พบการติดเชื้อ มีตัวอย่างการรายงานของแต่ละพื้นที่ทั่วประเทศ โดยภาคเหนือ เช่น ลำพูน กำหนดส่งตรวจ 5 สถานที่ใน 11 สถานที่ แต่จังหวัดพิจารณาสุ่มตรวจมากกว่า 5 สถานที่ บางจังหวัดบริบทแตกต่างกัน เช่น  มีสถานดูแลผู้สูงอายุ คิดว่าเฝ้าระวังเข้มข้น หรือแม่ฮ่องสอน ตาก มีชายแดนกับเพื่อนบ้าน การสุ่มตรวจจะสุ่มในราชการด่านหน้าที่ติดชายแดน หรือบางที่มีตลาดใหญ่ค้าขายข้ามพื้นที่ ค้าส่งระดับจังหวัด มีแรงงานต่างด้าวอยู่หนาแน่น แต่ละจังหวัดจะมีเกณฑ์เลือกชุมชนตรงไหนในการตรวจ"ผู้ช่วยโฆษกกล่าว

ศบค.เผยผลตรวจตลาดพื้นที่กทม.ไม่ผ่านเกณฑ์ 90 แห่ง

ผู้ช่วยโฆษก ศบค.กล่าวว่า ใน กทม.มีตลาดสดจำนวน 486 แห่ง ได้ดำเนินการตรวจแล้ว 379 แห่ง ผ่านหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 289 แห่ง และยังไม่ผ่าน  90 แห่ง โดยข้อบกพร่องที่พบ ได้แก่ การเว้นระยะห่าง, ไม่กำหนดทาเข้า-ออกชัดเจน, ไม่สวมหน้ากาก, ไม่มีจุดล้างทำความสะอาดมือ, ระบบระบายอากาศ, การลงทะเบียนผู้ค้า

ศบค.เปิด 11 พื้นที่เสี่ยงติดโควิด-19 ในชุมชน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง