เปิดแผนฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้ผู้สูงอายุ

08 มิ.ย. 2564 | 07:33 น.

สธ.เดินหน้าแผนฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้ผู้สูงอายุ นำร่อง 8 - 10 มิ.ย.ในสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ กทม.32 แห่งก่อนจะขยายไปต่างจังหวัด

จากแนวทางของรัฐบาลที่ประกาศให้ “การฉีดวัคซีนโควิด-19” เป็นวาระแห่งชาติ โดยรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ มีผู้สูงอายุ ทั้งช่วยเหลือตัวเองได้ ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่ง ไปจนถึงกลุ่มติดเตียง เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีโอกาสสัมผัส ติดเชื้อง่าย และมีอาการรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ 


ดังนั้นทางกระทรวงสาธารณสุข ได้ร่วมกับสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) และโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) จัดหน่วยเคลื่อนที่บริการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในสถานดูแล รวมถึงกลุ่มผู้สูงอายุในชุมชนที่มีความเสี่ยงสูง ระยะแรกจะนำร่องในสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูง 32 แห่ง จำนวน 1,200 คน ตั้งแต่วันที่ 8 – 10 มิถุนายนนี้ และจะขยายไปอีกกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศ 


นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า การฉีดวัคซีนโควิดให้กับผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นการสร้างภูมิคุ้มกัน เมื่อเจ็บป่วยจะช่วยลดการรุนแรงของโรค ลดการเสียชีวิต นอกจากนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ออกมาตรการและข้อกำหนดเพื่อให้สถานดูแลผู้สูงอายุทั่วประเทศนำไปใช้ในการปฏิบัติดูแล


ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่างในสถานดูแล การประกาศไม่ให้มีการเยี่ยมผู้สูงอายุภายในศูนย์ดูแล งดเยี่ยมในทุกกรณี มีมาตรการสวมหน้ากากอนามัย ใส่ถุงมือในการดูแลผู้สูงอายุ รวมทั้งการส่งเสริมสุขภาพในกลุ่มผู้สูงอายุให้มีสุขภาพแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาสถานดูแลผู้สูงอายุที่ปฏิบัติตามมาตรการสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด 19 ได้ 
 

นายแพทย์พรเทพ พงศ์ทวิกร  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) กล่าวว่า โรงพยาบาลได้จัดทีมรถเคลื่อนที่บริการฉีดวัคซีน ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล มีเจ้าหน้าที่ลงทะเบียนและอำนวยความสะดวกระบบหมอพร้อม มีรถพยาบาลฉุกเฉินดูแลตลอดการฉีดวัคซีน 


โดยจัดขั้นตอนการฉีดวัคซีนตามมาตรฐาน อาทิ แพทย์จะประเมินอาการและประเมินความเสี่ยง, การให้บริการลงทะเบียนและฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุที่ติดเตียง ให้บริการแบบเบ็ดเสร็จภายในจุดเดียว โดยไม่มีการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุ สังเกตอาการ 30 นาที  


นายแพทย์ฆนัท ครุธกูล นายกสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพและผู้สูงอายุ (HEC) กล่าวว่า การออกให้บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 ให้กับผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงในสถานดูแลผู้สูงอายุ เป็นกระจายวัคซีนลงไปในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็วและทันท่วงที โดยผู้ที่สนใจสนับสนุนการดำเนินงานของสมาคมสมาพันธ์ เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงทั่วประเทศได้ที่ สายด่วนสมาคมสมาพันธ์สถานประกอบการเพื่อสุขภาพแก่ผู้สูงอายุ (HEC) 02-2774420

เปิดแผนฉีดวัคซีนโควิด -19 ให้ผู้สูงอายุ
ขณะที่แผนการฉีดวัคซีนให้กับผู้สูงอายุทั่วประเทศนั้น  ทางกรมการแพทย์ร่วมกับกรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กรมอนามัย และ สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบและแนวทางในการฉีดวัคซีนให้แก่ผู้สูงอายุทั่วประเทศ เพื่อให้ผู้สูงอายุทุกคน รวมทั้งกลุ่มที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี (active)  ติดบ้าน และ ติดเตียง ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยการจัดระบบบริการฉีดวัคซีนที่มีความปลอดภัย ครอบคลุม และมีประสิทธิภาพ


นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์  เปิดเผยว่า  ได้จัดระบบบริการฉีดวัคซีน โดยมีหลักการคือ มีการสื่อสารประชาสัมพันธ์ในหลายช่องทาง เช่น การใช้สื่อต่าง ๆ การสื่อสารผ่าน อสม. และ ผู้ดูแล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้สูงอายุทุกรายเข้าถึงข่าวสารการฉีดวัคซีนโควิด 19  มีการประเมินความเหมาะสมในการฉีดวัคซีนโควิด 19 โดยบุคลากรทางสาธารณสุขหรือ อสม. และการช่วยเหลือการจองคิวโดยสามารถทำผ่าน call center หรือระบบตามที่แต่ละพื้นที่กำหนด 
 

ด้านนายแพทย์สกานต์ บุนนาค ผู้อำนวยการสถาบัน เวชศาสตร์สมเด็จพระสังฆราชญาณสังวรเพื่อผู้สูงอายุ กรมการแพทย์  กล่าวว่า การจัดบริการฉีดวัคซีนตามความสามารถในการช่วยเหลือตนเองของผู้สูงอายุ คือ 


1.กลุ่มผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี สามารถไปรับบริการในจุดฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้ได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป 


2.กลุ่มผู้สูงอายุติดบ้าน คือกลุ่มที่ยังเคลื่อนที่ได้ด้วยตัวเอง โดยใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ เช่น ไม้เท้า เปลนั่ง (wheel chair) สามารถไปรับบริการในจุดฉีดวัคซีนที่กำหนดไว้ได้เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป โดยจัดให้มีรถบริการรับส่งผู้สูงอายุไปยังจุดฉีดวัคซีน ซึ่งอาจขอความร่วมมือองค์การปกครองท้องส่วนท้องถิ่น มูลนิธิ หน่วยงานเอกชน มาร่วมให้บริการ และมีช่องทางด่วนเพื่อลดระยะการรอคอย


3.กลุ่มผู้สูงอายุติดเตียงในชุมชน และผู้สูงอายุและเจ้าหน้าที่ในสถานดูแลผู้สูงอายุ เพื่อป้องกันการนำโรคโควิด 19 เข้าไปในสถานดูแลผู้สูงอายุจากการเคลื่อนย้ายผู้สูงอายุและบุคลากรออกไปฉีดวัคซีนภายนอก โดยให้จัดรถพยาบาล พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพ ทีมบุคลากรทางการแพทย์เช่นแพทย์หรือพยาบาล พร้อมอุปกรณ์กู้ชีพขั้นสูง ที่สามารถดูแลช่วยเหลือผู้ป่วยกรณีพบอาการข้างเคียงอย่างรุนแรง  โดยให้รอสังเกตอาการหลังฉีดวัคซีนอย่างน้อย 30 นาที เพื่อให้เกิดความปลอดภัยเทียบเท่าการฉีดวัคซีนในจุดฉีดวัคซีนในสถานพยาบาล


ทั้งนี้ การติดตามอาการหลังได้รับวัคซีน โดยกลุ่มผู้สูงอายุที่ยังช่วยเหลือตัวเองได้ดี ให้ติดตามผ่านระบบการใช้ระบบหมอพร้อม และ application  smart อสม. เช่นเดียวกับคนปกติทั่วไป ส่วนกลุ่มติดบ้านติดเตียงให้บุคลากรทางสาธารณสุขหรือ อสม.เป็นผู้ติดตามอาการหลังได้รับวัคซีนที่ 1, 7, 30 และ 60 วันหลังฉีดวัคซีน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง