'ไขข้อสงสัย' หญิงตั้งครรภ์ สามารถฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้หรือไม่

08 มิ.ย. 2564 | 03:33 น.

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมคำถาม-คำตอบในประเด็นฮอต เกี่ยวกับการฉีด"วัคซีนโควิด-19” โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนได้หรือไม่ ?

 

จากการที่รัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กำหนดเป้าหมายจัดหาวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้กับคนในประเทศไทย 67 ล้านคน จำนวน 150 ล้านโดส แบ่งเป็นการจัดหาวัคซีนปี 2564 จำนวน 100 ล้านโดส และปี 2565 อีก 50 ล้านโดส  โดยได้คิกออฟฉีดวัคซีนในรูปแบบปูพรมพร้อมกันทั่วประเทศไปเมื่อวันที่ 7 มิถุนายนที่ผ่านมา

"ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมคำถามฮอต เกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 ที่กรมควบคุมโรค ได้นำมาเผยแพร่ในเว็บไซต์ เพื่อให้ความรู้กับประชาชน รวมถึงกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ที่สอบถามประเด็นเข้ามากันมาก รายละเอียดดังนี้ 

ถาม : หญิงตั้งครรภ์ สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่
ตอบ : กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ สามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิดที่มีในขณะนี้ เมื่อมีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ เป็นต้นไป

ถาม : ถ้าฉีดวัคซีนแล้วพบว่าตั้งครรภ์จะทำอย่างไร
ตอบ : ไม่ต้องยุติการตั้งครรภ์ เมื่อพบว่าตั้งครรภ์ภายหลังฉีดวัคซีน เพราะการศึกษาที่มีบ่งชี้ว่า วัคซีนไม่เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ หรือการตั้งครรภ์  ควรฉีดวัคซีนโควิด 19 ครั้งที่ 2 ได้ หลังอายุครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป

ถาม : หญิงให้นมบุตร สามารถรับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่
ตอบ : หญิงให้นมบุตร สามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้ทุกชนิดที่มีในขณะนี้  ไม่จำเป็นต้องงดนมแม่หลังฉีดวัคซีน

ถาม : ฉีดวัคซีนแล้วต้องคุมกำเนิดนานเท่าไหร่หลังฉีดวัคซีนจึงจะตั้งครรภ์ได้
ตอบ : ไม่จำเป็นต้องคุมกำเนิด สามารถตั้งครรภ์ หลังฉีดวัคซีนโควิด 19

ถาม : ผู้มีประจำเดือนสามารถรับวัคซีนโควิด 19 ได้หรือไม่
ตอบ : การมีประจำเดือนไม่เป็นข้อห้ามในการรับวัคซีนโควิด 19

ถาม : มีข้อห้ามและข้อควรระวังอะไรบ้างในการฉีดวัคซีนโควิด 19
ตอบ : วัคซีนทุกชนิดมีข้อห้ามคือ แพ้สารที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีน และเนื่องจากวัคซีนเหล่านี้เป็นวัคซีนใหม่จึงอาจไม่มีความรู้ในเรื่องปฏิกิริยาการแพ้ที่พบไม่บ่อย ในช่วงแรกจึงควรฉีดวัคซีนเหล่านี้ในสถานพยาบาลหรือสถานที่ที่ให้การช่วยเหลือกรณีมีปฏิกิริยารุนแรง และควรเฝ้าระวังอาการหลังการฉีดอย่างน้อย 30 นาที ควรใช้วัคซีนแก่กลุ่มประชากรตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำเท่านั้น

นอกจากนี้ ไม่ควรฉีดวัคซีนในกรณีดังนี้

- ขณะที่กำลังป่วย หรือร่างกายอ่อนเพลียจากสาเหตุต่าง ๆ ควรเลื่อนการฉีดไปก่อนจนกว่าจะเป็นปกติแล้ว
- ในกลุ่มอายุที่ไม่ได้รับการรับรอง
- ในหญิงตั้งครรภ์ไตรมาสแรก (แต่ฉีดในหญิงหลังคลอดหรือให้นมบุตรได้)
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวที่รุนแรงที่อาจมีอันตรายถึงชีวิตที่อาการยังไม่คงที่ มีโรคกำเริบ นอกจากแพทย์ประจำประเมินว่าฉีดได้

ที่มา: กรมควบคุมโรค