"วัคซีนโควิดจุฬา" ป้องกันไวรัสกลายพันธุ์พร้อมใช้กลางปี 65

04 มิ.ย. 2564 | 12:20 น.

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพัฒนาวัคซีนโควิดรุ่น 2 ห้องกันไวรัสกลายพันธุ์ คาดสำเร็จกลางปี 65

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยระบุข้อความว่า
    ใกล้ความจริง !! จุฬาฯเร่งวิจัยพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง เพื่อป้องกันโควิดที่เกิดจากไวรัสกลายพันธุ์ คาดสำเร็จกลางปี 2565
    จากการเปิดเผยของ ศาสตราจารย์นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม ผู้อำนวยการโครงการวิจัยวัคซีนคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
    ซึ่งมีข่าวคราว การวิจัยพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด โดยคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาตั้งแต่ต้นปีที่แล้ว
    เทคโนโลยีของวัคซีนที่คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯใช้ คือเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด mRNA แบบเดียวกับของบริษัท Pfizer และ Moderna
    ขณะนี้มีรายงานความคืบหน้าที่ชัดเจนขึ้นมากว่า วัคซีนของจุฬาฯซึ่งจะใช้ชื่อว่า ChulaCOV19 กำลังพัฒนาไปได้อย่างดีมาก มีโอกาสที่จะได้ฉีดในคนจริงๆสำหรับป้องกันไวรัสสายพันธุ์หลักดั้งเดิมในต้นปี 2565 เรียกว่าวัคซีนรุ่นหนึ่ง (First Generation) แต่เนื่องจากมีไวรัสกลายพันธุ์(Variant)เกิดขึ้น และดื้อต่อวัคซีน เช่น ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์แอฟริกาใต้ (B 1.351) เป็นต้น
    ทางทีมวิจัยของคุณหมอเกียรติ จึงได้ทำวิจัยคู่ขนานกันไป สำหรับพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สอง (Second Generation) ที่สามารถป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ด้วย คาดว่าจะสำเร็จออกมาใช้ได้ ไล่หลังรุ่นที่หนึ่งไม่กี่เดือน ไม่น่าจะเกินกลางปี 2565
    ลองมาทบทวนความเป็นมาของวัคซีนจุฬาฯ กันดูนะครับ
    25 มีนาคม 2563 ได้มีการทดลองในหนู พบว่าระดับภูมิต้านทานขึ้นสูงถึง 1:40,000
    23 พฤษภาคม 2563 มีการทดลองในลิงเข็มที่หนึ่ง
    22 มิถุนายน 2563 ทดลองในลิงเข็มที่สอง และพบว่ามีระดับภูมิต้านทานขึ้นสูงถึง 1:5,000
    จึงได้มีการเตรียมการ ที่จะทดลองในมนุษย์ต่อไป

 จุฬาฯเร่งพัฒนาวัคซีนรุ่นที่สองป้องกันโควิดกลายพันธุ์
    โดยเทคโนโลยีที่ใช้นั้น คุณหมอเกียรติได้มาจากเพื่อนแพทย์ชาวอเมริกัน Prof.Drew Weissman จากมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย ซึ่งทั้งสองได้ประสานทำงานใกล้ชิดกันมาก่อนหน้าที่จะมีโควิดระบาด ในการที่ใช้เทคโนโลยี mRNA เป็นลำดับต้นของโลก ในการผลิตวัคซีนสำหรับโรคเอดส์และวัคซีนป้องกันโรคภูมิแพ้ เมื่อเกิดโควิด-19 ระบาด จึงพักวัคซีนทั้งสองไว้ก่อน และใช้เทคโนโลยีดังกล่าว มาเร่งพัฒนาวัคซีนสำหรับป้องกันโควิดแทน ซึ่งก็เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียง กับของบริษัท Pfizer ซึ่งใช้เทคโนโลยีของทางเยอรมัน
    จุดสำคัญของวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยี mRNA ก็คือตัว สารพันธุกรรม mRNA มีความบอบบางมาก จำเป็นจะต้องมีตัวหุ้ม ที่เรียกว่าไขมันขนาดจิ๋ว (LNP) ทางทีมของจุฬาฯจึงได้ประสาน เพื่อที่จะเร่งผลิต mRNAโดยใช้ฐานในสหรัฐอเมริกา และตัวไขมันเปลือกนอกที่หุ้มเพื่อป้องกันการเสียหายจากแคนาดา สามารถประสานได้เรียบร้อย ในขณะนี้ ได้วัคซีนเบื้องต้นที่พร้อมจะทดสอบในมนุษย์จำนวนนับ 10,000 เข็ม และได้รับการรับรองให้ใช้ทดลองในมนุษย์ได้จาก คณะกรรมการอาหารและยาของประเทศไทยแล้ว
    โดยมีตารางกำหนด ที่จะเริ่มทดลองในอาสาสมัคร 100 คนแรก ของเฟส 1  ในเดือนมิถุนายน และทดลองในอาสาสมัครนับ 1000 คน ในเฟสสอง เดือนตุลาคม ขณะนี้มีผู้ที่สนใจ สมัครเป็นอาสาสมัครนับ 10,000 คนแล้ว การทดลองจะฉีดสองเข็ม ห่างกัน 21 วัน โดยมีขนาดของวัคซีนสามขนาดคือ 10 25 และ 50 ไมโครกรัม โดยฉีดในคนที่อายุ 18 ปีขึ้นไป
    ทั้งนี้รัฐบาลได้สนับสนุนงบประมาณให้กับโครงการนี้กว่า 300 ล้านบาทซึ่งได้รับมาแล้ว 100 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามงบประมาณดังกล่าว ก็ถือว่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับบริษัท Pfizer ซึ่งใช้เงินวิจัยนับ 10,000 ล้านบาท
    จากคำถามที่ว่า วัคซีนดังกล่าวจะมีราคาแพงมากน้อยเพียงใด และจะผลิตได้มากน้อยเพียงใด
    คุณหมอเกียรติได้ตอบคำถามว่า ราคาจะไม่แพงกว่าของ Pfizer และ Moderna แน่นอน ยิ่งผลิตจำนวนมากเท่าไหร่ ราคาจะยิ่งถูกลงเท่านั้น
    และจะใช้โรงงานผลิตในประเทศไทย เพื่อความมั่นคงทางวัคซีน เป็นโรงงานชื่อ BionetAsia คาดว่าจะผลิตได้ปีละ 10-20 ล้านเข็ม ในขณะนี้การพัฒนา ได้เดินหน้าคู่ขนานกันไป ทั้งวัคซีนรุ่นที่หนึ่งเพื่อป้องกันไวรัสสายพันธุ์เดิม และวัคซีนรุ่นที่สอง ที่จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ คาดว่าจะสำเร็จเสร็จในต้นปีหน้าสำหรับรุ่นที่หนึ่ง และรุ่นที่สองน่าจะสำเร็จในกลางปี 2565 ซึ่งก็จะเป็นจังหวะที่เหมาะสม กล่าวคือคนไทยกว่า 70% จะฉีดวัคซีนรุ่นที่หนึ่งสำหรับไวรัสสายพันธุ์เดิมครบถ้วนในสิ้นปี 2564 และจะต้องหาวัคซีนรุ่นที่สอง สำหรับฉีดป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ในปีหน้า ซึ่งทางจุฬาฯก็จะผลิตวัคซีนรุ่นที่สองสำเร็จเสร็จทันกันพอดี
    นับเป็นข่าวดี ที่จะต้องให้กำลังใจและช่วยกันสนับสนุนทีมวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้บรรลุผล เพื่อความมั่นคง ของการยืนอยู่บนขาของตนเอง ในการผลิตวัคซีนสำหรับป้องโรคระบาดโควิดต่อไปครับ
    Reference
    ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม
    ทั้งนี้ จะเรียกว่าเป็นข่าวดีอย่างที่ "หมอเฉลิมชัย" จั่วหัวเอาไว้ก็คงจะไม่เกินเลยไปนัก เพราะก่อนหน้านี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ก็ได้มีโอกาสไปติดตามความคืบหน้าของวัคซีนพันธุ์ไทยอีกยี่ห้อหนึ่งของ บริษัท ใบยา ไฟโตฟาร์ม จำกัด ซึ่งใช้วิธีสกัดจากพืช โดยล่าสุดอยู่ในขั้นตอนของการสร้างโรงงานผลิตวัคซีน ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขนาด 1,000 ตารางเมตร โดยใกล้จะดำเนินงานแล้วเสร็จประมาณสิ้นเดือนมิถุนายน  หลังจากนั้นก็จะผลิตวัคซีนล็อตแรก  เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนของการทดสอบวัคซีนในมนุษย์  คาดจะอยู่ในช่วงประมาณเดือนสิงหาคมถึงกันยายนนี้   
    อย่างไรก็ดี นางสาวสุธีรา เตชคุณวุฒิ ประธานกรรมการบริหาร บอกว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมจะเปิดรับอาสาสมัครประมาณ 100 คน เพื่อทดสอบวัคซีนดังกล่าว เชื่อว่าจะหาได้ไม่น่ามีปัญหา  เนื่องจากน่าจะมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนเข็มแรก หลังจากนั้นต้องรอดูผลว่ามีประสิทธิภาพเป็นอย่างไร หากผลออกมาดีอย่างที่ตั้งใจไว้ คาดช่วงกลางปีหน้า หรือประมาณไตรมาส 2/2565 น่าจะสามารถใช้งานได้จริง  

    นอกจากนี้ ใบยา ไฟโตฟาร์มฯ ยังได้ดำเนินการพัฒนาวัคซีนอีกเจเนอเรชั่นหนึ่ง ที่เพิ่มความสามารถในการสร้างภูมิเพื่อป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ควบคู่ไปด้วย โดยเล็งเห็นแล้วว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันจะมีประสิทธิผลที่ถดถอยลง เพื่อเจอโควิด-19 (Covid-19) ที่กลายพันธุ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :