"คลัสเตอร์เรือนจำ" ส่องมาตรการป้องกันโควิดผู้ต้องขัง

13 พ.ค. 2564 | 08:59 น.

"คลัสเตอร์เรือนจำ" กรมราชทัณฑ์ยืนยันว่ามีมาตรการบริหารสถานการณ์โควิด ควบคุมได้ ยอมรับอาจมีบุคลากรทางการแพทย์ไม่พอ

สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดในเรือนจำ (คลัสเตอร์เรือนจำ) พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร 1,794 ราย ทัณฑสถานหญิงกลาง 1,039 ราย รวมทั้ง 2 เรือนจำ มีผู้ติดเชื้อ 2,833 ราย ซึ่งเป็นยอดผู้ติดเชื้อรวมตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่เริ่มมีการระบาดระรอกใหม่

โดยล่าสุดได้ส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลแม่ข่าย คือ โรงพยาบาลทัณฑสถาน และได้มีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มด้วย ส่วนผู้ที่ติดเชื้อในกลุ่มไม่แสดงอาการหรือกลุ่มสีเขียว จะส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลสนาม จะปิดพื้นที่บางแดนเพื่อทำเป็นโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว พร้อมทั้งเร่งขยายผลการสอบสวนโรคจากผู้ติดเชื้อดังกล่าวไปยังผู้ต้องขังที่อยู่ในระยะพื้นที่รับเชื้อทุกราย โดยจะตรวจซ้ำยืนยันภายใน 7 วัน และ 14 วัน

"ครัสเตอร์เรือนจำ" ส่องมาตรการป้องกันโควิดผู้ต้องขัง

  • คัดกรองผู้ติดเชื้อด้วยวิธีการสวอบและเอกซเรย์ปอดผู้ต้องขังทุกรายให้เร็วที่สุด ซึ่งในส่วนนี้มีรถเอกซเรย์พระราชทานมาให้การสนับสนุน หากพบผู้ติดเชื้อจะแยกให้อยู่โรงพยาบาลสนามตามที่จัดไว้แล้ว
  • จัดให้ยาโดยเร็วเพื่อไม่ให้มีปัญหาเชื้อลงปอด พร้อมกันนี้จะได้มีการจัด อาสาสมัคร อส.จร. ซึ่งเป็นผู้ต้องขังที่มีวุฒิภาวะและความรู้มาช่วยดูแล ผู้ติดเชื้อด้วย
  • ประสานกระทรวงสาธารณสุขเพื่อซื้อยาฟาวิพิราเวียร์ และประสานโรงพยาบาลอภัยภูเบศร์เพื่อจัดซื้อฟ้าทะลายโจรมา ใช้รักษาแก่ผู้ต้องขังที่มีอาการไม่รุนแรง

เรือนจำออกคำสั่ง ให้ผู้ต้องขัง ปฎิบัติตามแผนป้องกันโควิด
•    สวมหน้ากากอนามัยตลอด 24 ชั่วโมง และใช้เจลแอลกอฮอล์ รวมทั้งสบู่ล้างมือบ่อยๆ 
•    เพิ่มคลอรีนในน้ำที่ใช้อาบ เพื่อทำความสะอาดร่างกายได้มากยิ่งขึ้น 
•    เร่งสร้างห้องแล็บเพิ่ม โดยใช้เงินที่ได้รับพระราชทานในโครงการปันสุขราชทัณฑ์ ซึ่งคาดว่าจะสร้างเสร็จภายใน 5 วัน และจะสามารถตรวจหาเชื้อวิเคราะห์ผลได้วันละ 1,500 เคส 

ทั้งนี้ในบางเรือนจำผู้บัญชาการเรือนจำในบางจังหวัดได้ประสานกับทางสาธารณสุขจังหวัด เพื่อให้มีการฉีดวัคซีนให้กับผู้ต้องขังแล้ว ส่วนการไต่สวนผู้ต้องขังจะใช้ระบบ Video Conference ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัดทุกเรือนจำ เป็นไปตามมาตรการบับเบิลแอนด์ซี โดยได้มีการประสานกับทางศาลยุติธรรมแล้ว พร้อมกันนี้การรับตัวผู้ต้องขังแรกรับจากเดิมที่กักโรค 14 วันจะเพิ่มเป็นระยะเวลา 21 วัน และตรวจซ้ำอีกครั้งก่อนจะจำหน่ายจากแดนกักควบคุมโรคไปยังแดนทั่วไป รวมทั้งจากเดิมที่มีการคัดกรองหลังกักโรค 3 วันแรกก็เปลี่ยนแปลงเป็นการคัดกรองตรวจหาเชื้อโควิดทันทีตั้งแต่วันแรกที่ส่งเข้าเรือนจำ

ก่อนหน้านี้ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ได้โพสข้อความในเพจเฟซบุ๊กว่าตนเองติดเชื้อโควิด ว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด 19 ประมาณ 1,600 คน 

ล่าสุดมีการชี้แจงว่าตรวจหาเชื้อโควิดให้แก่รุ้งวันที่ 23 เมษายน 2564 ขณะนั้นคุมตัวในแดนแรกรับที่มีจำนวนผู้ต้องขัง 1,500 คน ตรวจปูพรมคัดกรองแล้วไม่พบว่า ผู้ใดติดเชื้อโควิด 19 ในแดนแรกรับ ภายหลังปล่อยตัวรุ้งไปวันที่ 6 พฤษภาคม 2564 ต่อมาวันที่ 8 พฤษภาคม 2564 กรมราชทัณฑ์ได้ตรวจปูพรมอีกครั้งก็ไม่พบว่า มีผู้ต้องขังที่อยู่ร่วมกับรุ้งติดเชื้อโควิด 

นอกจากนี้กรมราชทัณฑ์ออกเอกสารข่าวชี้แจงว่า ได้ตรวจหาเชื้อเชิงรุกทั้งในเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์และผู้ต้องขัง 100% พบผู้ติดเชื้อโควิด -19 รวม 2,835 ราย 

"คลัสเตอร์เรือนจำ" ส่องมาตรการป้องกันโควิดผู้ต้องขัง

การตรวจเชิงรุกเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขังทุกคนพบผู้ติด โควิด 19 ได้แก่
•    ทัณฑสถานหญิงกลางรวม 1,040 ราย 
•    เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครรวม 1,795 ราย 

โดยสาเหตุที่เชื้อเล็ดลอดเข้าไปเรือนจำและทัณฑสถาน เนื่องจากต้องรับตัวผู้ขังเข้าใหม่ และนำผู้ต้องขังออกไปศาลอยู่เสมอ จึงอาจมีการหลุดรอดของเชื้อเข้าสู่เรือนจำได้ ซึ่งได้ป้องกันอย่างเต็มที่ด้วยมาตรการเชิงรุกคือ แยกกับผู้ต้องขังเข้าใหม่อย่างน้อย 21 วัน พร้อมตรวจหาโควิด-19 จำนวน 2 ครั้ง
 

จำนวนผู้ต้องขังปัจจุบัน (5 พ.ค.64) 

•    เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ต้องขัง 3,238 ราย 
•    ทัณฑสถานหญิงกลาง มีผู้ต้องขัง 4,518 ราย

ในโลกภายนอกหนึ่งมาตรการที่สำคัญในการป้องกันโรคในยามที่วัคซีนกำลังเร่งกระจายในวงกว้างคือ “การรักษาระยะห่าง” รัฐบาลก็พยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่คลองเตย และชุมชนแออัดในกรุงเทพมหานคร โดยได้สั่งการเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานได้ระดมสรรพกาลังเข้าป้องกันการลุกลามอย่างเต็มที่ มียุทธวิธีสาคัญที่เอาชนะศึกครั้งนี้ ก็คือ การระดมตรวจเชิงรุกให้ได้มากที่สุดในพื้นที่เป้าหมาย 

นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา ในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีการตรวจไปแล้วมากกว่า 70,000 ราย ในชุมชนที่มีความเสี่ยง เฉลี่ย 7,000 รายต่อวัน 

ผลที่เกิดขึ้นคือสามารถระบุตัวผู้ติดเชื้อ และคัดแยกผู้ติดเชื้อ ไปรักษาได้อย่างทันการณ์ รวมทั้งแยกผู้มีความเสี่ยงจากการอยู่ใกล้ชิด ไปกักตัว ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อต่อ จากัดวงการแพร่ระบาดให้แคบที่สุด สั้นที่สุด 

จนถึงวันนี้ ได้มีการฉีดวัคซีนโควิดในพื้นที่คลองเตยไปแล้วมากกว่า 13,000 คน หรือเกือบ 30% ของเป้าหมาย ที่จะฉีดให้ได้อย่างน้อย 5 หมื่นคน และพื้นที่ปทุมวันที่อยู่ใกล้เคียง ได้ฉีดวัคซีนไปแล้วมากกว่า 50% ของเป้าหมาย 14,000 คน เฉลี่ยแล้วทั้งสองเขตฉีดได้มากกว่าวันละ 2,000 คน 

“ท่านอาจจะเห็นยอดผู้ติดเชื้อต่อวันเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็เป็นผล มาจากการตรวจเชิงรุกแบบปูพรมของเรา” พล.อ.ประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม กล่าว

แต่ในโลกภายในเรือนจำการรักษาระยะห่างอาจเกิดขึ้นได้ยากลำบากเพราะในเรือนจำที่มีความแออัดสูง และกำลังเผชิญปัญหาการระบาดเช่นเดียวกัน หลายฝ่ายมีความกังวลยิ่งยิ่งกว่าภายนอก เพราะมีความแออัด สถานการณ์นี้จึงวางใจไม่ได้ 

แม้ที่ผ่านมากรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 เชิงรุก ในเจ้าหน้าที่และผู้ต้องขัง ซึ่งในส่วนของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ได้ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR ไปแล้วกว่า 17,000 ครั้ง ทำให้คัดแยกผู้ติดเชื้อไปรักษาได้รวดเร็ว สามารถแยกผู้ต้องขังกลุ่มเสี่ยงออกมากักตัวเพื่อสังเกตอาการได้เป็นอย่างดี 

ทั้งนี้สำหรับผู้ต้องขังที่ตรวจพบเชื้อจะได้รับการรักษาโดยการให้ยา Favipiravia ทั้งในโรงพยาบาลสนามเรือนจำและโรงพยาบาลแม่ข่ายตามลักษณะอาการป่วยของแต่ละราย 
 

“ขอยืนยันว่า สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ เรือนจำทัณฑสถานทุกแห่งมีมาตรการเข้มงวด มีการควบคุม บับเบิ้ล แอนด์ซีล อย่างกรณีเรือนจำจังหวัดนราธิวาส ที่มีผู้ต้องขังติดเชื้อก็สามารถดูแลรักษาจนหาย และไม่มียอดผู้ติดเชื้ออยู่ในเรือนจำอีก” นายอายุตม์ ชี้แจง 

ข้อมูลจาก World Prison Brief รายงานสถิติเกี่ยวกับเรือนจำทั่วโลกระบุว่า ไทยอยู่อันดับที่ 6 ของประเทศที่มีผู้ต้องขังในเรือนจำมากที่สุดในโลกในสัดส่วน 449 คนต่อประชากร 100,000 คน และระบุถึงขีดความสามารถในการรับผู้ต้องขังในปี 2561 ว่า มีขีดความสามารถในการรับผู้ต้องขัง (Official capacity of prison system) จำนวน 110,000 คน ความแออัด 339.1% 

ขณะที่รายงานสถิติผู้ต้องราชทัณฑ์ทั่วประเทศ ณ วันที่ 2 พฤษภาคม 2564 

•    ผู้ต้องขังในเรือนจำทั่วประเทศ มีทั้งสิ้น 310,830 ราย  (ชาย 273,465 หญิง 37,365)
•     เรือนจำทั่วประเทศ 143 แห่ง

อย่างไรก็ตามมีฝ่ายที่เสนอให้ "ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น" ช่วงโควิด อย่าง แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นเเนล ประเทศไทย ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานประธานศาลฎีกา เรียกร้องให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด เพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และดำเนินการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน

สถานการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อในเรือนจำที่เกิดขึ้นขณะนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ภายนอกชัดเจน แต่สิ่งที่น่ากังวลในการแพร่ระบาดครั้งนี้ คือเรื่องของสายพันธุ์ที่มีความไวต่อการติดเชื้อได้สูง แสดงอาการช้า และมีภาวะแทรกซ้อนอันตราย ซึ่งปี 63 ราชทัณฑ์มีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 10 คนนับเป็นเรื่องใหม่ที่กรมราชทัณฑ์ต้องเผชิญ 

ที่มา : กรมราชทัณฑ์ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง