เปิดข้อมูลศบค. "โควิดระบาดหนัก"  ชุมชนไหนบ้างในกทม.

04 พ.ค. 2564 | 09:16 น.

ตรวจสอบข้อมูล ศบค. ข้อมูลการระบาดของโควิด 19 ในพื้นที่หลายชุมชนในกทม. เร่งตรวจเชิงรุกชุมชนให้ได้วันละ 1 พัน ดึง ผอ. 50 เขตนั่งคุมศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาด

วันที่ 4 พ.ค. 64 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศบค. แถลงสถานการณ์ระบาดของโควิด19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่แขวงลุมพินี แขวงปทุมวัน เขตปทุมวัน มีชุมชนแออัด 6 แห่ง และเคหะชุมชน 1 แห่ง รวมประชากรทั้งสิ้น 29,581 คน 

ข้อมูลตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. พบการติดเชื้อใน 6 ชุมชน จำนวน 162 ราย ซึ่งพบมากที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่ 61 ราย เคหะบ่อนไก่ 14 ราย ชุมชนโปโล 10 ราย และตัวเลขพุ่งขึ้นมาในช่วงสงกรานต์ 

โดยเราต้องรีบหาผู้ติดเชื้อเพื่อแยกออกจากคนในชุมชน ลงตรวจเชิงรุกในชุมชนเฉลี่ยวันละ 1,000 ราย โดยวันที่ 4 พ.ค. จะไปตรวจเชิงรุกที่ชุมชนพัฒนาบ่อนไก่

เปิดข้อมูลศบค. "โควิดระบาดหนัก"  ชุมชนไหนบ้างในกทม.

ในที่ประชุมยังมีรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แขวงสี่แยกมหานาค เขตดุสิต ซึ่งพบผู้ติดเชื้อ 80 ราย กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ เช่น ชุมชนวัดญวน ชุมชนหลังบ้านมนังคศิลา ชุมชนริมทางรถไฟสายแปดริ้ว  ทั้งนี้ เฉพาะในวันที่ 21 เม.ย. ตรวจเชิงรุกในชุมชนดังกล่าว 447 ราย พบผู้ติดเชื้อถึง 22 ราย 

เปิดข้อมูลศบค. "โควิดระบาดหนัก"  ชุมชนไหนบ้างในกทม.

จากนั้นพบต่อเนื่อง จุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด มาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์ผับรัชดา พับแถวพระราม 2 และกลุ่มที่ไปเที่ยวแพ ที่ จ.กาญจนบุรี 

นอกจากนี้ ยังได้รับรายงานสถานการณ์ที่โรงงานแห่งหนึ่งใน อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ว่าพบผู้ติดเชื้อ 160 ราย โดยเริ่มต้นมาจากพนักงานโรงงานชาวเมียนมา ป่วยตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. จากนั้นแพร่เชื้อไปยังเพื่อนร่วมห้องและพนักงานคนอื่น โดยมีการตรวจหาเชื้อพนักงานและญาติ  309 ราย พบติดเชื้อ 128 ราย และตรวจเชิงรุกในชุมชนใกล้เคียงอีก 47 ราย พบติดเชื้อ 9 ราย โดยโรงงานดังกล่าวมีพนักงาน 323 ราย ติดเชื้อแล้ว 151 ราย หรือ 46.8% ทั้งนี้ เขตสุขภาพที่ 6 นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ สั่งให้ปิดโรงงานแล้วตั้งแต่วันที่ 22 เม.ย. 

ส่วนสถานการณ์ประจำวัน นายแพทย์ทวีศิลป์ กล่าวว่า มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 1,763 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 1,750 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ 1,519 มาจากการค้นหาเชิงรุก 231 ราย เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 13 ราย ทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 72,788 ราย หายป่วยสะสม 42,474 ราย เฉพาะวันนี้หายป่วย 1,490 ราย อยู่ระหว่างรักษา 30,011 ราย อาการหนัก 1,009 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 311 ราย มีรายงานผู้เสียชีวิตเพิ่มเติม 27 ราย เป็นชาย 21 ราย หญิง 6 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 303 ราย ขณะที่สถานการณ์โลก มีผู้ติดเชื้อสะสม 154,178,244 เสียชีวิตสะสม 3,226,875 ราย

เปิดข้อมูลศบค. "โควิดระบาดหนัก"  ชุมชนไหนบ้างในกทม.

สำหรับ 5 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุดในวันที่ 4 พ.ค. ได้แก่ กทม. 526 ราย สมุทรปราการ 201 ราย นนทบุรี 168 ราย ชลบุรี 91 ราย และสมุทรสาคร 55 ราย 

ภาพรวมสถานการณ์ในต่างจังหวัดแนวโน้มทรงตัวและควบคุมได้ ยกเว้น กทม.และปริมณฑล อย่างไรก็ตาม ในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีการพูดถึงการแพร่ระบาดใน กทม.และปริมณฑล เฉพาะวันที่ 4 พ.ค. มีผู้ติดเชื้อรวมกัน 956 ราย มากกว่าอีก 73 จังหวัดรวมกัน ดังนั้น ถ้าเราจัดการ กทม.และปริมณฑลได้เท่ากับการจัดการได้เกินครึ่งของประเทศ 

เปิดข้อมูลศบค. "โควิดระบาดหนัก"  ชุมชนไหนบ้างในกทม.

สำหรับผลการประชุม ศบค.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 3 พ.ค.มีข้อสรุปอย่างไร นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมสรุปว่าจะมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อบูรณาการงาน โควิด-19 ที่เกิดขึ้นในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ที่ถือเป็นงานใหญ่มากเนื่องจากเกิดการติดเชื้อเกินกว่าครึ่งหนึ่ง จึงต้องมีการยกระดับมาตรการขึ้นโดยจะมีการตั้งศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ โควิด-19 กรุงเทพและปริมณฑล 

โดยมีนายกรัฐมนตรี ในฐานะผอ.ศบค.เป็นผู้อำนวยการศูนย์นี้ด้วยตัวเอง ในรายละเอียดของการตั้งศูนย์นั้นทาง พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผอ.ศปก.ศบค. จะเป็นผู้ยกร่างและจะได้เสนอให้นายกฯลงนาม นอกจากนี้ จะมีการตั้งศูนย์ควบคุมการแพร่ระบาด โควิด-19 ระดับเขต ขึ้นมาด้วยโดยมีผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขตของ กทม.เป็นหัวหน้าศูนย์และรับการถ่ายทอดนโยบายต่างๆ ลงมา ถือเป็นการบูรณาการงานในระดับเขตของ กทม. 

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการแบ่งงานไปยังฝ่ายต่างๆ ทั้งฝ่ายอำนวยการ ฝ่ายตรวจปฏิบัติการเชิงรุก ฝ่ายบริหารจัดการผู้ติดเชื้อและกลุ่มเสี่ยง ฝ่ายบริหารจัดการพื้นที่ ฝ่ายบริหารจัดการการฉีดวัคซีน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้น เนื่องจากจำนวนประชากรใน กทม.มีประมาณ 10 ล้านคนถือเป็นเรื่องใหญ่ที่จะต้องวางแผนอย่างรอบคอบ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับบัญชาจาก ผอ.ศบค. แล้ว ทั้ง 50 เขตจะต้องลงพื้นที่พร้อมกัน เพื่อตรวจเชิงรุก แยกกลุ่มป่วยกลุ่มเสี่ยงโดยเร็ว และมีแผนในการดำเนินการต่างๆ ออกมา เพื่อขอความร่วมมือจากประชาชนโดยเร็ว เพื่อนำไปสู่การเข้าไปอยู่โรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยสีเขียว และโรงพยาบาลสนามที่รองรับผู้ป่วยสีเหลือง ซึ่งในมาตรการต่างๆ เหล่านี้ทางกรมการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุขจะต้องกำหนดพื้นที่ สถานที่ อุปกรณ์ทางการแพทย์ จัดลงไปให้เพียงพอเพื่อดูแลประชาชนเหล่านี้ 

แต่ที่สำคัญที่สุดขณะนี้คือ พยาบาล แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ขณะนี้ทุกคนรู้ดีว่าทุกโรงพยาบาลตึงอย่างเต็มที่ จึงมีการพูดถึงแพทย์อาสา ดังนั้น ขอความกรุณาแพทย์ท่านใด บุคลากรการแพทย์ที่มีจิตอาสาต้องการเข้ามาช่วย หากสามารถเข้ามาช่วยได้ทางกระทรวงสาธารณสุขและกรุงเทพมหานครขอให้ขึ้นรายชื่อไว้ที่กระทรวงสาธารณสุขเพื่อรวบรวมสรรพกำลังช่วยกันดูแล ผู้ป่วยหรือผู้ที่ทุกข์ร้อนอยู่ในขณะนี้

เมื่อถามว่า เรื่องการฉีดวัคซีนในชุมชนคลองเตยตอนนี้จะทันหรือไม่ เพราะมีการแพร่ระบาดแล้ว นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า  อย่างน้อยคนที่ได้รับวัคซีนไปแล้วจะทำให้อาการจากหนักให้ลดน้อยลงได้ และอัตราการเข้าโรงพยาบาลหรืออาการหนักจะได้ลดลง ดังนั้น จะต้องรีบรับการฉีดวัคซีน

เมื่อถามว่า ผู้ป่วยที่ได้เข้าโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ กทม.แล้วจะได้รับยาต้านยาฟาวิพิราเวียร์ทุกคนใช่หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อเช้าวันที่ 4 พ.ค. ได้หารือกันถึงเรื่องดังกล่าวเนื่องจากมีข่าวออกไปว่าทาง กทม.แจ้งว่าจะให้ยาทุกคน แต่ยังมีข้อสังเกตและข้อห่วงใยอยู่ว่าการได้รับยานี้ส่วนใหญ่จะต้องมีข้อบ่งชี้ ซึ่งจะเหมือนโรคไข้หวัดที่ไม่จำเป็นจะต้องได้รับยาทุกคน บางคนหายเองได้ เพราะฉะนั้น การให้ยาโดยมีข้อบ่งชี้หรือเฉพาะกลุ่มจริงๆ จะทำให้มีความประหยัด ผลการรักษาจะได้ดี และถ้าให้ยามากๆ จะเกิดการดื้อยา เนื่องจากไวรัสมีความสามารถในการแปรเปลี่ยนไปได้มาก มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น

ดังนั้น ในเชิงของการบริหารยาต้องใช้ความเชี่ยวชาญของแพทย์ ที่ประชุมจึงได้ให้กรมการแพทย์กระทรวงสาธารณสุข ไปดูเรื่องข้อสำคัญของเรื่องดังกล่าวและทบทวนปรึกษากันก่อนที่จะนำเสนอที่ประชุม แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เราได้รับทราบกันว่ายาช่วยทำให้อาการน้อยลง ยืดระยะเวลา และช่วยชีวิตได้ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการฉีดวัคซีนทำไมตัวเลขต่อวันจึงน้อยนั้น นั่นคือข้อมูลที่เป็นจริงเพราะเป็นปลายล็อตของซิโนแว็ก และได้รับทราบว่าเมื่อวันที่ 3 พ.ค.ที่ผ่านมาล็อตใหม่เดินทางมาถึงไทยแล้วอีก 5 แสนโดส เป็นการเพิ่มขึ้นและลดลงตามความต้องการปกติ

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ขอประชาชนได้ทราบว่าการระบาดที่เกิดขึ้นเราแก้และปรับตามสถานการณ์ ทุกคนที่ทำงานโดยเฉพาะผอ.ศบค. รับทราบรับฟังทุกข้อแนะนำ ทั้งจากระดับผู้บริหาร นักวิชาการ ประชาชนทั่วไป ที่มีข้อแนะนำดีดีเราก็นำมาสู่การปรับปรุงและพัฒนาการทำงานทุกวัน และการบูรณาการงานในภาพรวมของ กทม.และปริมณฑล ถึงแม้จะยากเพียงใด และศึกจะใหญ่เพียงไหน เพียงเรามีความร่วมมือกันของทางภาครัฐและเอกชน จะทำให้เห็นผลทางในการเดินไปด้วยกัน ขอความร่วมมือประชาชนให้ความร่วมมือด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :