ปรับรูปแบบสายด่วน 1668 ช่วยผู้ป่วยโควิดเข้าถึงเตียงรวดเร็ว-ทั่วถึง

03 พ.ค. 2564 | 10:37 น.

รมช.สาธารณสุข เผยการปรับรูปแบบสายด่วน 1668 ศูนย์บริหารจัดการเตียง โดยดำเนินงานบริหารจัดการแบบ One stop service บูรณาการร่วมมือระหว่างกรมการแพทย์ กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชน และจิตอาสาร่วมกันประสานเตียง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง

ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิดระลอกใหม่ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งมีสถานการณ์การระบาดในวงกว้างและรวดเร็ว ทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก จนเกิดปัญหาทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้ารับการรักษาในพยาบาลได้อย่างทั่วถึง กระทรวงสาธารณสุข จึงมอบหมายให้กรมการแพทย์ ดำเนินการจัดตั้งช่องทางสายด่วน 1668 เฉพาะกิจ ซึ่งเปิดดำเนินการเมื่อวันที่10 เม.ย. 2564 เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด 19 ที่เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในเขตกรุงเทพมหานครเท่านั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากสายด่วน 1668 เป็นคู่สายที่พัฒนามาจากสายด่วนสำหรับรักษาโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน ดังนั้นจึงก่อให้เกิดปัญหาคู่สายไม่เพียงพอ และไม่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์การระบาดที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วได้

ปรับรูปแบบสายด่วน 1668 ช่วยผู้ป่วยโควิดเข้าถึงเตียงรวดเร็ว-ทั่วถึง

ดังนั้นทีมคณะทำงานจึงได้มีการวิเคราะห์ข้อมูลการติดต่อผ่านช่องทางสายด่วน 1668 พบว่า ในจำนวนผู้ติดต่อเฉลี่ยประมาณ 1,100 สายต่อวัน เป็นผู้ติดเชื้อโควิดยืนยันที่ต้องการติดต่อประสานเตียงในกรุงเทพมหานครเพียง 200 สายต่อวันเท่านั้น จึงได้มีการระบบการทำงานรูปแบบใหม่บูรณาการร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

โดยบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ภาคเอกชน  และจิตอาสา โดยดำเนินงานบริหารจัดการแบบ One stop service จำแนกทีมดำเนินการเป็นสามส่วน คือ 1.ทีม Frontline Call center  2. ทีมรับสายและประเมินอาการ 3. ทีมบริหารจัดการเตียงและข้อมูล ซึ่งทั้ง 3 ทีมจะดำเนินการร่วมกันตั้งแต่การรับเคสผู้ป่วยจนสามารถหาเตียงให้กับผู้ป่วยโควิดได้เข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลหรือ Hospitlel ได้

ปรับรูปแบบสายด่วน 1668 ช่วยผู้ป่วยโควิดเข้าถึงเตียงรวดเร็ว-ทั่วถึง

 

ดร.สาธิต กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของ Frontline Call Center จะเป็นความร่วมมือกับภาคเอกชนในการขยายคู่สายเพิ่มเติม และได้ประชาชนจิตอาสามาให้ความช่วยเหลือในการรับสายโทรศัพท์และจำแนกสายที่ไม่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโควิดยืนยันต้องการเตียงในเขตกรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาศักยภาพทีมรับสายและประเมินอาการ ทีมบริหารจัดการเตียงและข้อมูลซึ่งเป็นกลุ่มบุคลากรกรมการแพทย์  พัฒนาการส่งต่อและการจัดการข้อมูลให้เป็นระบบ One stop service มากขึ้น ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง