รุมบี้นายกฯ ผ่าทางตันวัคซีน องค์การเภสัชนำเข้า เอกชนพร้อมจ่าย

28 เม.ย. 2564 | 03:50 น.
อัพเดตล่าสุด :28 เม.ย. 2564 | 10:58 น.

เอกชนมั่นใจรัฐได้ข้อสรุปแผนจัดหาและฉีดวัคซีน ชงนายกฯให้องค์การเภสัชกรรมนำเข้ากระจายให้เอกชน ยินดีจ่ายเอง พร้อมเริ่มฉีดได้ตั้งแต่ มิ.ย. นี้ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและกระตุ้นจีดีพีโต 3% และ 4% ในไตรมาส 4 ด้าน “สมาคมประกันวินาศภัย” ชี้พร้อมประกันเหมากลุ่มผู้ฉีดวัคซีนหวังลดภาระความเสี่ยงจากผลข้างเคียง “สทท.” ชง 4 เรื่องปลุกท่องเที่ยวฟื้น

หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศจัดตั้ง คณะพิจารณาการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาวัคซีน จากเดิมที่ให้กระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้บริหารจัดการ โดยดึงหน่วยงานภาครัฐและ เอกชนช่วยจัดหาวัคซีน เพิ่มขึ้นอีก 35 ล้านโดส เพื่อให้ไทยมีวัคซีน 100 ล้านโดส ฉีดให้กับประชาชนจำนวน 50 ล้านคนภายในปี 2564 ถือเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศแต่ยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคและปัญหานานัปการ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในการประชุมร่วมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 28 เมษายนนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล มี 2 วาระสำคัญ คือ

1.สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช./สภาพัฒน์) จะแจ้งสรุปในเรื่องการจัดหา และการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ว่าที่ผ่านมาภาครัฐได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และในส่วนของเอกชนได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง และ

2.รัฐบาลคงมีข้อสรุปในเบื้องต้นว่าวัคซีนที่จัดหาได้จนถึงล่าสุดมีจำนวนเท่าใด และต้องจัดหาเพิ่มเท่าใด รวมถึงนายกรัฐมนตรีคงจะสรุปความร่วมมือกับภาคเอกชนว่าจากนี้จะเป็นอย่างไร

อย่างไรก็ดีตามแผนของรัฐบาลที่จะเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคุลมจำนวน 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้เริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไปที่จะมีจำนวนวัคซีนเข้ามาก คาดจะช่วยสร้างเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยให้ขยายตัวในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ได้ 3% และในไตรมาสที่ 4 ที่ภาคการท่องเที่ยวเริ่มกลับมาและมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้นจีดีพีจะโตได้ 4% และภาพรวมจีพีดีไทยทั้งปีนี้จะขยายตัวได้ที่ 1.5-3% ตามที่ กกร.ได้คาดการณ์ไว้ (ณ เม.ย.64)

ส่วนภาคการส่งออกปีนี้ที่กกร.คาดจะขยายตัวได้ 4-6% ส่วนตัวมอง 5% จะสามารถทำได้ไม่น่าพลาด เพราะเวลานี้เศรษฐกิจคู่ค้าทั้งจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น ยุโรปฟื้นตัวอย่างชัดเจนและมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น

ผสานรัฐเร่งฉีดวัคซีน

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในการประชุมร่วม กกร. นี้ เรื่องที่ภาคเอกชนจะนำเสนอและหารือกับนายกรัฐมนตรี คงเป็นเรื่องที่ภาคเอกชนได้เตรียมดำเนินการร่วมกับรัฐบาลในเรื่องการสนับสนุนการฉีดวัคซีนเป็นหลัก ทั้งในเรื่องการได้มาของวัคซีนที่มีความหลากหลายและความพร้อมของวัคซีน ต่อมาคือเรื่องของการกระจายวัคซีน จะทำอย่างไรให้ได้วัคซีนเร็วที่สุดและมีจำนวนเพียงพอสามารถฉีดได้ครอบคุลม 70% ของจำนวนประชากร(3 แสนโดสต่อวัน)เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ซึ่งภาคเอกชนพร้อมสนับสนุนสถานที่ในการฉีด รวมถึงการอำนวยความสะดวกด้านต่าง ๆ

“การประชุมร่วมนายกรัฐมนตรีกับ กกร. คงไม่พ้นเรื่องเหล่านี้ หอการค้าคงเตรียมข้อมูลเหล่านี้ไปเสนอนายกฯ ถ้าท่านเห็นด้วยก็เพียงไปจัดกระบวนทัพให้ทำงานสอดประสานกัน เพื่อให้เกิดความคล่องตัว” ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวพ้องกันว่า ประเด็นที่ กกร.จะประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีคงเป็นเรื่องปัญหา-อุปสรรคการฉีดและวิธีการกระจายวัคซีน ภาคเอกชนและรัฐบาลคงต้องคุยกันว่ามีปัญหาคอขวดอยู่ตรงไหนบ้างที่ต้องเร่งแก้ไข เฉพาะอย่างยิ่งเรื่องวิธีการขึ้นทะเบียนวัคซีนที่ยังล่าช้า ต้องทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ที่ผ่านมามีกรอบของการขึ้นทะเบียนที่ยังเป็นอุปสรรค


การนำเข้าวัคซีน

แนะทำประกันหมู่

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทยหรือTGIA กล่าวว่า ทางประกันภัยสามารถเข้าไปรับประกันความรับผิดในความเสียหายที่จากการบริโภคผลิตภัณฑ์วัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ ในลักษณะเหมากลุ่ม โดยการประกันความรับผิด หมายถึงเฉพาะ ค่ารักษา และเสียชีวิต แต่ไม่รวมอย่างอื่น เช่น เรียกค่าขาดรายได้ หรือเรียกค่าทำขวัญ เช่น กรณีแพ้วัคซีนแล้วเข้ารักษาในโรงพยายาล ตามความคุ้มครองอาจจะ 1- 5แสนบาท หรือกรณีเสียชีวิตคุ้มครองที่วงเงิน 5แสนบาทหรือ 1ล้านบาท

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) ระบุว่า ปัจจุบันการประกันภัยแพ้วัคซีนป้องกันโควิด-19 บริษัทประกันจะให้ความคุ้มครองวัคซีนทุกยี่ห้อที่ได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เท่านั้น โดย ความคุ้มครองพื้นฐานที่สามารถจัดเป็นกลุ่มได้ 3 กลุ่มหลัก คือ

1.ความคุ้มครองสำหรับค่ารักษาพยาบาล เช่น ค่ารักษาพยาบาล กรณีต้องรักษาพยาบาล เป็นผู้ป่วยใน หรือค่ารักษาพยาบาล กรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก บริษัทจะจ่ายตามค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินวงเงินที่เอาประกันภัยไว้

2.ความคุ้มครองเงินชดเชยรายได้ โดยบริษัทจะจ่ายเป็นเงินก้อนแบบเหมาจ่าย เช่น เงินชดเชยรายวัน กรณีรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในและเงินชดเชยปลอบขวัญสำหรับผู้ป่วยใน และ

3.ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต เจ็บป่วยด้วยภาวะโคม่า/ภาวะร้ายแรง บริษัทจะจ่ายสินไหมทดแทนตามวงเงินที่ตกลงกันไว้

 

สทท.ชง 4 เรื่อง

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.)เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า การประชุมร่วมกับนายกรัฐมนตรีเรื่องของวัคซีนในวันที่ 28 เมษายนนี้ สทท.จะเสนอใน 4 เรื่อง ได้แก่

1.สทท.จะเสนอขอให้โรงพยาบาลเอกชนนำเข้าวัคซีนเข้ามาได้ ภายใต้ราคาที่ควบคุมโดยรัฐบาล เพื่อแบ่งเบาภาระรัฐบาลและเร่งการฉีดวัคซีนได้เร็วขึ้น เพราะหลายบริษัทในแวดวงการท่องเที่ยวก็พร้อมที่จะจ่ายเงินให้กับพนักงานเพื่อเข้ารับการฉีดวัคซีนดังกล่าวโดยเร็ว

2. เสนอให้กระจายวัคซีนโดยเร็ว โดยเฉพาะที่จะเข้ามาอีก 26 ล้านโดสในเดือนมิ.ย.-ส.ค.นี้ โดยเร่งรัดการฉีดวัคซีนคิดเป็น70% ของประชากรเพื่อรองรับการเปิดรับนักท่องเที่ยวที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วไม่ต้องกักตัว 3.สทท.ต้องการให้เกิดการสื่อสารที่เป็นซิงเกิ้ล แมสเสจ โดยเสนอว่าปัจจุบันสทท.และหอการค้าก็มีอยู่ในทุกจังหวัด การจัดหาวัคซีนสำหรับธุรกิจที่พร้อมจ่ายให้พนักงาน ควรจะให้มีการไปลงทะเบียนกับผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นๆ

4.สทท.อยากจะหารือถึงการฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวพ่วงไปด้วย โดยเฉพาะเรื่องที่จะขอให้รัฐบาลสนับสนุนการจ่ายเงินเดือนให้พนักงานในภาคท่องเที่ยวหรือ Co-Payment เพื่อรักษาสภาพการจ้างงาน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564