"มาดามเดียร์"ห่วงชุมชนแออัดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่โควิดขอสธ.ดูแลพิเศษ

25 เม.ย. 2564 | 11:25 น.

"มาดามเดียร์"ชี้ไทยกำลังเผชิญ"วิกฤติสาธารณสุข" แพทย์-เตียงไม่พอ ประชาชนเข้าไม่ถึงการรักษาอย่างทันท่วงที ห่วงชุมชนแออัดกลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ขอสธ.ดูแลเป็นพิเศษ เปิดให้เอกชนเข้าช่วยแก้ปัญหา

วันนี้(25 เม.ย.64) มาดามเดียร์ - วทันยา วงษ์โอภาสี ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เกี่ยวกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในหัวข้อ วิกฤตที่ต้องแก้ “การจัดการเตียง” ไม่ใช่ข้ามวันแต่นับกันรายชั่วโมง โดยระบุว่า

การปล่อยให้ผู้ติดเชื้อ #COVID19 รอเตียงหรือพักที่บ้าน ไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกคน แต่จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงคลัสเตอร์ใหญ่ของกรุงเทพฯ ใช่ว่าทุกคนจะแยกตัวเองจากครอบครัวได้ เช่น การดูแลชุมชนแออัด ห้องเดียวอยู่หลายคน แต่ละห้องอยู่ติดกันเป็นชุมชน พื้นที่นึงมีหลายชุมชน รวมคนเป็นหมื่น ถ้าใครติดสักคน พวกเขาจะกักตัวเองได้อย่างไร

ปัญหาจำนวนผู้ติดเชื้อที่วันนี้ตัวเลขพุ่งทะลุเกินวันละ 2,000 ราย ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาจำนวนมากแต่ที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ที่สุดในเวลานี้คือ บุคลากรทางการแพทย์และจำนวนเตียงผู้ป่วยที่ไม่เพียงพอต่อจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทำนิวไฮตลอดเวลาที่ดูแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด ล่าสุดกับปัญหาจำนวนยา Favipiravir ที่ใช้รักษาผู้ป่วยโควิด ที่สต๊อกยาเริ่มร่อยหรอเพราะจำนวนผู้ป่วยที่ต้องการใช้ยามากกว่าที่ประเมินไว้

เราได้เห็นรัฐบาลพยายามออกมาแอคชั่นไม่ว่าจะเป็นการเร่งระดมวัคซีนจากทั่วทุกมุมโลกเพื่อนำมาฉีดให้คนไทยโดยเร็วที่สุด และการขยายโรงพยาบาลสนาม แต่ก็ดูเหมือนว่ายังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาที่กำลังลุกลามบานปลาย ปัญหาเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงวิกฤต “ระบบสาธารณสุข” ที่ขาดประสิทธิภาพทำให้ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างทันท่วงที จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตตามที่เราได้เห็นในข่าว

การแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นการเร่งสร้างโรงพยาบาลสนามภายใต้สถานการณ์ที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นตลอดเวลานั้น หากระดมกำลังแบบไร้ทิศทางยุทธศาสตร์ต่อให้เร่งจำนวนได้หลายพันเตียงก็ตามก็คงไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้ทันท่วงที

ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเราเห็นข่าวที่ผู้ติดเชื้อในชุมชนคลองเตย ต้องกักตัวเองอยู่ภายในรถเพราะไม่มีทางเลือก เพื่อแยกตนเองออกจากภรรยาและลูกเล็กภายในบ้านที่เป็นเพียงห้องขนาดเล็กไม่มีพื้นที่แยกเป็นสัดส่วนเหมือนคนไข้คนอื่นๆ ที่ต้องรักษาตัวเองอยู่ที่บ้าน ปัญหาเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นในเฉพาะที่ชุมชนคลองเตยเพียงที่เดียว แต่กำลังเกิดขึ้นในแทบทุกชุมชน

เหมือนอย่างในกรณีที่ ส.ส.โอ๋ ฐิติภัสร์ ก็เพิ่งจะโพสต์เฟสบุ๊กว่าได้ช่วยหาทางประสานส่งตัวน้องอายุเพียง 1 ขวบกับเด็กหญิงวัย 12 ขวบที่ติดเชื้อภายในชุมชนแออัดเขตบางกะปิ-วังทองหลาง ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่กี่วัน ส.ส.โอ๋ ก็เพื่งช่วยเด็กอายุ 8 ขวบเข้าโรงพยาบาลเพราะติดจากคุณแม่ภายในบ้านของตนเอง

                                          "มาดามเดียร์"ห่วงชุมชนแออัดเป็นคลัสเตอร์ใหญ่โควิดขอสธ.ดูแลพิเศษ

อย่างไรก็ตาม กทม. วันนี้มีจำนวนชุมชนทั้งสิ้น 2016 ชุมชน โดยแบ่งเป็นชุมชนแออัด 641 ชุมชน มีจำนวนครัวเรือนประมาณ 1,000,000 ครัวเรือน หากเราใช้ตัวเลขสมมติฐานทั่วไปเวลาคำนวณประชากรนั่นก็คือ 1 ครัวเรือนมีสมาชิก 4 คน อาจพูดได้ว่าเรามีประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัดอย่างน้อย 4 ล้านคน

แต่ในความเป็นจริงแล้วหากใครเคยได้เดินทางไปในชุมชนแออัดจะเห็นได้ว่าหลายบ้านที่มีขนาดห้องเพียง 10-15 ตร.ม.นั้น มีสมาชิกครอบครัวอาศัยอยู่เกิน 4 คน บางบ้านที่อาจจะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นมาเล็กน้อยก็มีชีวิตที่อยู่ร่วมกันเป็นจำนวนนับ 10 ชีวิต ด้วยสภาพพื้นที่ที่คับแคบ มีเพียงแผ่นสังกะสีที่กั้นระหว่างบ้านหนึ่งกับอีกบ้านหนึ่ง

ในขณะที่บ้านหลายๆ หลังก็ตั้งอยู่บนสภาพน้ำครำที่ต่อให้ไม่มีเชื้อโควิดก็ต้องเสี่ยงต่อการติดเชื้ออื่นๆ อยู่แล้ว สภาพชีวิตเหล่านี้ของคนในชุมชนแออัดที่แตกต่างจากผู้ป่วยทั่วไป นั่นยังไม่นับถึงสวัสดิการต่างๆ ที่เข้าไม่ถึง เช่น ประกันสังคม เพราะส่วนใหญ่แล้วทำอาชีพรับจ้างรายวัน บ้างก็ขายของเล็กๆ น้อยๆ ภายในชุมชน ดังนั้นในวันที่คนในชุมชนแออัดป่วย การตรวจหาเชื้อหรือการรักษาใน รพ.เอกชนเพื่อเป็นทางเลือกให้ตัวเองยิ่งดูเป็นเรื่องที่ไกลออกไป

ดังนั้น จึงขอเรียกร้องไปยังกระทรวงสาธารณสุข และ กทม.ต้องให้ความใส่ใจกับชุมชนแออัดเป็นกรณีพิเศษ ด้วยการ

1. เร่งตรวจหาผู้ติดเชื้อในชุมชนแออัดในเชิงรุกเพื่อทำการคัดแยกผู้ป่วยและคนที่มีความเสี่ยงออกจากชุมชน

2. จัดหาโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วย และสถานที่แยกกักตัวสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นการเฉพาะ เพราะสภาพความเป็นอยู่ของเขาเหล่านั้นไม่สามารถทำ Home Isolation ได้เหมือนกรณีคนทั่วไป

3. ระดมอาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ในการให้ความรู้ที่ถูกต้องกับคนในชุมชนเพื่อป้องกันตนเอง และในกรณีหากพบผู้ติดเชื้อจะต้องดำเนินการต่ออย่างไร

น.ส.วทันยา ระบุด้วยว่า การตอบสนองความเดือดร้อนของประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน  ประชาชนที่ต้องโทรศัพท์เข้าระบบเพื่อหาที่รักษา จองเตียงผู้ป่วย ตามสายด่วนฮอตไลน์ที่ไม่ว่า สธ. และ กทม. ให้บริการนั้นก็ไม่เพียงพอ ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนด้วยการใช้ระบบคู่สายแบบ manual

ในขณะที่วันนี้เอกชนทุกรายที่มีแผนก call center นั้นต่างรู้ดีว่าการจัดการต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งปัญหาเหล่านี้รัฐสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ทันทีด้วยการขอความร่วมมือจากเอกชนที่มีความรู้ความชำนาญในการทำระบบ call center เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีนั้นไปไกลมาก ไม่ว่าจะช่วยจัดการตั้งแต่การบริหารคู่สาย การจัดเก็บข้อมูลเพื่อป้องกันการตกหล่น และใช้ในการติดตาม การแสดงสถานะความคืบหน้าการจัดการต่างๆเพื่อให้ประชาชนที่กำลังเฝ้ารอการรักษาได้มีความหวังว่าเคสของตนเอง หรือคนในครอบครัวจะได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงจากทางภาครัฐ

ประเทศไทยเรามีคนเก่งจำนวนมาก แต่ไม่มีพื้นที่ให้คนเก่งเหล่านั้นเข้ามาช่วยเหลือประชาชนโดยตรง รัฐควรเปิดประตูให้เอกชนที่มีศักยภาพเข้ามาช่วยแก้ปัญหา เพราะเวลาเรามีไม่มาก มันคือเวลาที่ต้องบูรณาการความช่วยเหลือจากคนไทยทั้งประเทศ การแก้ไขปัญหาต้องทำงานในเชิงรุกไม่ใช่ตั้งรับ เพราะถ้าเราวิ่งไล่ตามปัญหาก็จะไม่มีวันเป็น “ผู้ชนะ” น.ส.วทันยา ระบุ