ศบค.ประเมินถ้าติดเชื้อโควิดเพิ่มวันละ 1,500 ราย เตียงไอซียูรองรับได้ 19 วัน เปิด 3 แนวทางเพิ่มเตียง

23 เม.ย. 2564 | 08:30 น.

ศบค.ประเมินถ้ามีผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มวันละ 1,500 ราย เตียงไอซียูทั้งประเทศรองรับได้แค่ 19 วัน เปิด 3 แนวทางเพิ่มเตียง

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวันช่วงหนึ่งว่า กระทรวงสาธารณสุขได้ประชุมศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (อีโอซี) ที่ประชุมรับทราบถึงสถานการณ์ปัญหาต่างๆ และพยากรณ์เรื่องของเตียง จะมีการใช้เตียงอย่างไร โดยพบว่า เตียงไอซียูของกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีทั้งหมด 262 เตียง มีรายงานว่าว่างอยู่ 69 เตียง ส่วนห้องแยกความดันลบ (AIIR) มีเตียง 479 เตียง ใช้ไป 410 เตียง ว่าง 69 เตียง 

ตัวเลขดังกล่าวเป็นความห่วงใยของที่ประชุมว่า ลองให้คิดไปถึงข้างหน้า ถ้ามีอัตราการติดเชื้อในแต่ละที่ เตียงหรือทรัพยากรที่มีอยู่จะถูกใช้ไปอย่างไร  มีการพยากรณ์ออกมาว่า หากมีการติดเชื้อประมาณ 1,500 รายต่อวัน จะเกิดการใช้จำนวนเตียงมาก ทั้งประเทศจะใช้เตียงไอซียูประมาณ 52 เตียงต่อวัน ทั้งประเทศมีเตียงทั้งหมดเหลือประมาณ 1,000 เตียง รองรับได้อีกประมาณ 19 วันหรือเกือบ 3 สัปดาห์ ส่วนกรุงเทพมหานครจะใช้ 10-13 เตียงต่อวัน จะรองรับได้เต็มที่เพียง 6-8 วันข้างหน้า เป็นมาตรการที่กระทรวงสาธารณสุขต้องรับไปบริหารจัดการในกทม. 

"กระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้นิ่งนอนใจ พยายามบูรณาการเตียง บูรณาการทรัพยากรคน ไม่ใช่แค่จำนวนเตียงจะรักษาผู้ป่วยได้ จำนวนของบุคลากร แพทย์  พยาบาล เจ้าหน้าที่ทั้งหลาย ก็ต้องทำงานกันอย่างหนักมาก"

ต่อคำถามที่หลายคนกังวลเมื่อเห็นตัวเลขการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุ 2,000 ราย จะกระทบเตียงที่จะรองรับผู้ป่วยมากน้อยแค่ไหน ศบค.มีแผนที่จะรองรับอย่างไร โฆษกศบค.กล่าวว่า มีผลกระทบ เพราะยังไม่รู้ว่าจุดที่เป็นปลายทางจะเป็นอย่างไร ซึ่งการประเมินภาวะที่วิกฤติที่รุนแรงมากๆ การที่มีเตียงไอซียู 1 สัปดาห์ ถือว่าไม่เพียงพอ ต้องการเพิ่มมากขึ้น ทางปลัดกระทรวงสาธารณสุขได้หารือทุกภาคส่วน ที่จะ 1.มีการเบ่งเตียง คือ การเพิ่มจำนวนเตียงในสถานที่เดิม

2.อาจจะต้องเกิดโคฮอทไอซียู(cohort-ICU) ใช้พื้นที่ของไอซียูที่กว้างขึ้น ใช้พื้นที่วอร์ดอื่นๆที่ปรับปรุงขึ้นมา เอาเฉพาะคนไข้กลุ่มนี้ เข้าไปอยู่ในที่เดียวกัน  3.อาจจะต้องมีไอซียูสนาม ก็มีการหารือกันอยู่ ซึ่งก็มีความยุ่งยาก ต้องมีการปรับปรุงสถานที่  โดยโรงพยาบาลราชวิถี ซึ่งเป็นรพ.หลักของกระทรวงสาธารณสุข จะต้องขยายเตียงขึ้นมาก่อนรองรับตรงนี้ เราพยายามทำอย่างเต็มที่ ป่วยอาการหนักทุกคน ต้องได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

ส่วนกรณีผู้ป่วยติดเชื้อบางราย ไม่สามารถเข้ารักษาในโรงพยาบาลได้ นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้ เลขาฯสมช.เข้ามาบริหารจัดการระบบสายด่วน โดยจะมีการปรับระบบ เพิ่มทีมรับโทรศัพท์อีก 50 สาย แบ่งป็นทีมแรกในการรับข้อมูลสำคัญของผู้ติดเชื้อ จากนั้นจะโอนข้อมูลของผู้ป่วยต่อให้ 50 สายที่เพิ่มขึ้นมา เป็นทีมที่โทรกลับไปหาผู้ป่วยเพื่อประสานหาเตียง โดยจะแบ่งเป็นกลุ่มสีเขียว สีเหลือง และสีแดง สำหรับให้บริการประชาชนตามระดับอาการ

ปัจจุบันมีผู้ป่วยที่รอเตียงอยู่ 1,423 คน และเมื่อวานนี้ (22 เม.ย.) สามารถหาเตียงให้ผู้ป่วยได้แล้ว 474 คน โดยการปรับระบบใหม่นี้ กลุ่มผู้ป่วยสีเขียว ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยไม่มีอาการหรืออาการน้อย จะต้องหาสถานที่ให้เข้ารักษา โดยไม่ไปแพร่เชื้อสู่คนอื่น ส่วนกลุ่มผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดง ซึ่งเป็นผู้ป่วยที่มีอาการมากและอาการหนัก ขอให้รอทางทีมสาธารณสุขจะเร่งหาเตียงให้เร็วที่สุด

โฆษก ศบค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ประชุม ศบค.ชุดเล็กวันนี้ มีความกังวลเกี่ยวกับการติดเชื้อในสถานดูแลผู้สูงอายุ ซึ่งผู้ช่วยพยาบาลติดเชื้อจากสามีที่เป็นเจ้าหน้าที่ที่อยู่ในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง แล้วนำเชื้อไปแพร่กับผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุในสถานดูแลผู้สูงอายุ 2 คน ดังนั้น ได้หาหรือว่าผู้ที่ต้องกำกับดูแลสถานพยาบาล จะต้องมีมาตรการสำหรับสถานรับดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น และให้เตรียมความพร้อมหากพบผู้สูงอายุติดเชื้อโควิด-19

อีกแห่งคือการติดเชื้อในสถานปฎิบัติธรรม ซึ่งมีการประชุมวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์กับทางจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีแนวทางว่าจะต้องกำหนดมาตรการสำหรับทุกศาสนา และให้กระทรวงวัฒนธรรม และสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ดูแลและเพิ่มมาตรการ โดยให้นำตัวอย่างจากที่มีการติดเชื้อในสถานปฎิบัติธรรมที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อนำไปสู่การป้องกันการติดเชื้อจากกิจกรรมทางศาสนาด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง