ส่อง “งบตรวจโควิดล่าสุด” เท่ากับ 6 โครงการก่อสร้าง กทม.

21 เม.ย. 2564 | 07:16 น.

สปสช.ปรับปรุงแนวทางขอรับค่าใช้จ่ายตรวจโควิด ปี 64 ล่าสุดไทยตรวจแล้วกว่า 8 ล้านคน เป็นงบประมาณกว่า 1.2 หมื่นล้าน เทียบเท่า 6 โครงการก่อสร้างของ กทม.

สถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศไทย มีจำนวนผู้ติดเชื้อและกระจายไปในพื้นที่ต่างๆของประเทศอย่างรวดเร็ว ล่าสุดยอดผู้ติดเชื้อ โควิดวันนี้ 21 เม.ย.64 รายใหม่  1,458 ราย ในประเทศ 1,454 ราย มาจากต่างประเทศ  4 ราย สะสม  46,643 ราย เสียชีวิตสะสม 112  คน

ส่อง “งบตรวจโควิดล่าสุด” เท่ากับ 6 โครงการก่อสร้าง กทม.

ที่ผ่านมา สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดสิทธิประโยชน์บริการตรวจคัดกรอง และบริการตรวจทางห้องปฏิบัติการยืนยันการติดเชื้อโควิด-19 รองรับสำหรับประชาชนไทยทุกสิทธิการรักษา ขณะที่การรักษาพยาบาลเบิกจ่ายตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน เพื่อสนับสนุนการค้นหาผู้ติดเชื้อในระยะแรก เพิ่มการเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองและการตรวจยืนยันการติดเชื้อ 

ล่าสุดต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สปสช.ได้มีการปรับปรุง “แนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 ปีงบประมาณ 2564”  เฉพาะ การตรวจด้วยวิธี RT-PCR โดยการทำป้ายหลังโพรงจมูกและลำคอ อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 600 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท เปลี่ยนแปลงจากเดิมเมื่อปี 2563 ราคา 3,000 ต่อครั้ง 

จากข้อมูลของ Worldometer ระบุว่า ไทยมีการตรวจหาเชื้อโควิด19 แล้ว 8,124,896 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนตรวจแล้ว 116,171 คนต่อประชากรทุก 1 ล้านคน เมื่อนำมาคำนวนกับงบประมาณเบิกจ่ายตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน พบว่าใช้งบประมาณไปแล้ว 1.2 หมื่นล้านบาท หรือเทียบเท่ากับโครงการก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร 6 โครงการ 

รู้ไหมงบตรวจโควิดล่าสุดเท่ากับ 6 โครงการก่อสร้าง กทม.   

1.    โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญ ถึงคลองสนามชัย วงเงิน 6,000 ล้านบาท 
2.    โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. พร้อมระบบรวบรวมน้ำเสียคลองแสนแสบ จากบริเวณประตูระบายน้ำมีนบุรี ถึงประตูระบายน้ำหนองจอก วงเงิน 1,799 ล้านบาท 
3.    โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. คลองเปรมประชากร ช่วงที่ 3 จากถนนสรงประภา ถึงถนนแจ้งวัฒนะวงเงิน 1,300 ล้านบาท 
4.    โครงการก่อสร้างเขื่อน ค.ส.ล. (สมอยึดด้านหลัง) คลองบางไผ่ จากบริเวณคลองพระยาราชมนตรี ถึงบริเวณสุดเขต กทม. วงเงิน 1,028 ล้านบาท
5.    โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 4 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากแยกสะพานแดง ถึงถนนกำแพงเพชร วงเงิน 1,100 ล้านบาท
6.    โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณแยกเกียกกาย ช่วงที่ 4 ก่อสร้างทางยกระดับและถนนฝั่งพระนคร จากถนนกำแพงเพชร ถึงถนนพหลโยธิน วงเงิน 1,024 ล้านบาท

นอกจากนี้ “แนวทางปฏิบัติการขอรับค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขกรณีโรคโควิด-19 ปีงบประมาณ 2564” โดยขยายครอบคลุมบริการตรวจคัดกรองรายการอื่นๆ  ดังนี้

การตรวจด้วย RT-PCR โดยการทำแบบรวมตัวอย่าง ทั้งตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled savila samples) และตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูกและป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled swab samples) แยกเป็น 3 วิธีดังนี้ 

  • การตรวจตัวอย่างน้ำลายแบบรวมตัวอย่าง (Pooled saliva samples) 5 ตัวอย่าง อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 320 บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 100 บาท ค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
  • การตรวจตัวอย่างป้ายหลังโพรงจมูก และป้ายลำคอแบบรวมตัวอย่าง (Pooled nasopharyngeal and throat swab samples) 4 ตัวอย่าง  อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 400  บาท ค่าบริการเหมาจ่าย 75 บาท และค่าเก็บตัวอย่างเหมาจ่าย 100 บาท
  • การตรวจด้วยวิธี Realtime RT-PCR กรณีการทำ Pooled Sample มีผลตรวจเป็นบวก อัตราเบิกจ่ายค่าตรวจแลปจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,600 บาท ค่าบริการและเก็บตัวอย่างรวมเหมาจ่าย 200 บาท

การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ค่าบริการเหมาจ่าย 350 บาท

การตรวจเชื้อไวรัส (Antigen) สำหรับหน่วยบริการที่ทำการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันเชื้อโควิด-19 นี้ ต้องผ่านการทดสอบความชำนาญทางห้องปฏิบัติการและได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จ่ายตามจริงไม่เกิน 1,200 บาท โดยในกรณีฉุกเฉินตรวจร่วมกับ RT-PCR กำหนดจ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท 

สำหรับกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการคัดกรองแล้วพบว่าติดเชื้อโควิด-19 และมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชน สปสช.ได้ทำข้อตกลงกับภาคเอกชนแล้วว่าจะไม่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่หากผู้ป่วยบางรายมีประกันสุขภาพเอกชนก็อาจจะต้องใช้ส่วนนั้นไปก่อน ส่วนการจ่ายชดเชยให้โรงพยาบาลเอกชนนั้น จะเป็นไปตามระบบ UCEP หรือรักษาฉุกเฉินเร่งด่วน

สปสช.ยืนยันว่าจะจ่ายชดเชยให้ทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยครอบคลุมทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยกรณีผู้ป่วยนอก  จะจ่ายค่าห้องปฏิบัติการ  ค่าเก็บตัวอย่าง ค่าใช้จ่ายในกรณีที่มียารักษาเฉพาะผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือค่ารถส่งต่อระหว่างหน่วยบริการ บ้าน ค่าด่านตรวจคัดกรอง State Quarantine

ผู้ป่วยใน (IP) จะมีการจ่ายชดเชยให้ตามจริง 

  • ค่า Lab ค่ายารักษา
  • ค่าชุด PPE หรืออุปกรณ์ที่ป้องกันการแพร่กระจ่ายเชื้อ 

ค่าห้อง (หากจำเป็นต้องรักษาในห้องความดันลบ (Negative Pressure)

  • ชดเชยให้ 2,500 บาทต่อวัน

ค่าหอผู้ป่วยเฉพาะกิจ 

  • ชดเชยให้ไม่เกิน 1,500 บาท ต่อคนต่อวัน รวมไปถึงค่ารถที่ต้องส่งต่อผู้ป่วยไปยังจุดต่างๆ ด้วย

เคล็ดลับจากกรมควบคุมโรควิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโควิด-19

เราควรป้องกันตนเองอย่างไร?

  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดผู้มีอาการป่วย 
  • รักษาระยะห่างอย่างน้อย 1 เมตร
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสบริเวณตา จมูกและปาก โดยไม่ได้ล้างมือ 
  • ควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือน้ำยาแอลกอฮอล์ล้างมือ 70% 
  • หากมีไข้ ไอ หายใจลำบาก ให้ไปพบแพทย์ทันที และแจ้งประวัติการเดินทาง

ที่มา : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ข้อมูล COVID-19

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

อัพเดท โรงพยาบาลสนาม-Hospitel แต่ละจังหวัดมีที่ไหนบ้าง เช็กที่นี่

รวมข่าว "โควิด-19" วันที่ 21 เม.ย.64 แบบอัพเดทล่าสุด

โควิดเอาไม่อยู่ ทุบจีดีพีไทยวูบ 0.5% ต่อเดือน

อัพเดท20เม.ย.64 ผู้ติดเชื้อโควิดในไทย 17,631 ราย อยู่จังหวัดไหนบ้าง เช็กได้ที่นี่