สธ.เผยผลสอบคนไข้เสียชีวิต พบมีโรคประจำตัว ไม่เกี่ยวฉีดวัคซีน

26 มี.ค. 2564 | 05:43 น.

สาธารณสุข เผยผลสอบสวน ชายเสียชีวิต พบมีโรคประจำตัวหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง มั่นใจไม่เกี่ยวข้องวัคซีน COVID-19

วันนี้ (26 มี.ค.2564)  กระทรวงสาธารณสุข ได้แถลงข่าวผลการฉีดวัคซีน COVID-19 โดย นพ.โสภณ เมฆธน ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข ประธานคณะอนุกรรมการอำนวยการบริหารจัดการการให้วัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 และ นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ

นพ.โสภณ กล่าวถึงประเด็นที่มีการนำเสนอข้อมูลพบผู้เสียชีวิตคนแรก หลังฉีดวัคซีน COVID-19 ว่าไทยมีระบบติดตามผู้ที่ฉีดวัคซีนและตรวจพบเหตุการณ์นี้ได้ เมื่อมีการเสียชีวิตจะต้องสอบสวนว่าสาเหตุเกิดจากอะไร ซึ่งตนเองมั่นใจว่า สาเหตุมาจากเส้นเลือดในช่องท้องแตก ไม่ใช่วัคซีน COVID-19 ขณะที่ นพ.ทวี กล่าวว่า คณะกรรมการสอบสวนเบื้องต้นได้ส่งข้อมูล พบว่า ผู้เสียชีวิตเป็นผู้ป่วยชายที่มีโรคประจำตัว คือ หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เข้ารับการผ่าตัดเมื่อปลายเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา และอยู่รักษาตัวในโรงพยาบาล 40 วัน ก่อนกลับไปพักฟื้นที่บ้าน 3 สัปดาห์ จากนั้นไปฉีดวัคซีนเมื่อ 3 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ป่วยรายงานว่าในช่วงวันที่ 1 และ 3 อาการปกติ จากนั้นวันที่ 7 ผู้ติดตามไม่สามารถติดต่อได้ กระทั่งวันที่ 8 และ 9 หลังฉีดวัคซีนผู้ป่วยมีอาการแน่นหน้าอก วิงเวียนศีรษะ และเป็นลม จึงแอดมิดที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง

ภายหลังแอดมิดผู้ป่วยอาการทรุดลงและเสียชีวิตในวันที่ 13 มี.ค.2564 แพทย์สรุปว่า ผู้ป่วยรายนี้น่าจะเสียชีวิตจากหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง และมีอาการแตก หรือรั่ว โรคนี้เหมือนระเบิดเวลาที่ฝังอยู่ในร่างกาย แต่ผู้ป่วยคนดังกล่าวบังเอิญไปฉีดวัคซีน COVID-19 เมื่อ 10 วันก่อนหน้านี้ จึงสรุปว่าไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน

สำหรับโรคหลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นเส้นเลือดที่ออกมาจากหัวใจ เป็นท่อหลักที่มีเส้นใหญ่มาก และแตกแขนงไปเลี้ยงสมอง แขน ขา ซึ่งเส้นเลือดมีลักษณะพาดไปที่ช่องอก ช่องท้อง และแตกแขนงอยู่ที่ขาทั้งสองข้าง

หลอดเลือดที่โป่งพองเป็นความผิดปกติ เกิดขึ้นในผู้ที่มีอายุมาก เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ โรคความดันสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ที่สูบบุหรี่ และส่วนน้อยมาจากความพิการตั้งแต่กำเนิด ซึ่งโรคนี้เปรียบเหมือนระเบิดเวลาที่ซ่อนในร่างกาย ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และหลายรายตรวจพบโดยบังเอิญ เช่น เอ็กซเรย์ ซีทีสแกนหลังเจ็บหน้าอก เจ็บหลัง ปวดท้องเฉียบพลัน

ส่วนการรักษาหากเป็นก้อนเล็ก ๆ ให้เฝ้าระวังและลดความเสี่ยงต่าง ๆ ส่วนก้อนใหญ่อาจใส่หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดเทียม หากแตกแล้วต้องผ่าตัดทันที และมีความเสี่ยงเสียชีวิต

นพ.ทวี ยังกล่าวถึงผลข้างเคียงหลังฉีดวัคซีน แบบไม่รุนแรง โดยยกตัวอย่างตนเองมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดประมาณครึ่งวัน แต่ยังสามารถทำงานได้ ส่วนผลข้างเคียงหากเกี่ยวข้องกับทางสมอง ชัก ถือว่าผลข้างเคียงรุนแรง และต้องมีการพิสูจน์ โดยเป็นระบบสากลที่ต้องมีการรายงานและติดตาม

ยกตัวอย่างวัคซีน Sinovac พบผลข้างเคียงชนิดไม่รุนแรง 20-30% ส่วนผลข้างเคียงรุนแรง 0.7% ยืนยันว่าวัคซีนที่ไทยใช้ทั้ง 2 ตัวมีความปลอดภัย ส่วนอาการแพ้ชนิดไม่รุนแรง เช่น ผืน คัน และอาการแพ้รุนแรง มีอาการทันที เช่น แน่นหน้าอก เหนื่อย ปวดท้อง อาเจียน พบได้น้อย อย่างไฟเซอร์พบ 11 : 1 ล้านโดส ส่วนใหญ่เกิดขึ้นภายใน 15 นาทีหลังฉีดวัคซีน