"หมอธีระ"ชี้คำตอบของการคุมโควิดคือ Regional lockdown

09 ม.ค. 2564 | 21:05 น.

"หมอธีระ" เผย หากนโยบายสกัดโควิดยังเหมือนเดิม คงทำได้แค่ชะลอแต่ไม่หยุดการแพร่เชื้อได้ แนะรัฐฯให้ทำ Regional lockdown เพียง 2-4 สัปดาห์คาดจะเห็นผล

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat เกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดในประเทศไทย หลังจากวันที่ 9 มกราคม 2564 ยอดผู้ติดเชื้อทะลุ 1 หมื่นคน พร้อมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายวัคซีนประเทศต่างๆ


รวมถึงนโยบายของประเทศไทยในการควมคุมโรคระบาด โดยย้ำว่าการจะหยุดโรคระบาดได้นั้นต้องช่วยกันหยุดเครื่อนที่ - หยุดกิจกรรม และคำตอบที่จะช่วยยับยั้งการแพร่เชื้อในตอนนี้คือ Regional lockdown เพราะหากยังคงดำเนินตามมาตรการเหมือนในตอนนี้ จะทำได้แค่ชะลอการระบาด แต่ไม่มีทางหยุด 

 

ทั้งนี้เนื้อหารายละเอียดของข้อความที่โพสต์ทั้งหมดประกอบไปด้วย

 

9 มกราคม 2564 (ปักหมุด...ทะลุหมื่นคน)


มีหลายประเทศที่คุมการระบาดในประเทศได้ดีมาก ทำให้ไม่ต้องสะบักสะบอมในขณะนี้ เช่น นิวซีแลนด์ ไต้หวัน ออสเตรเลีย


ทั้งนี้ได้มีการตั้งข้อสังเกตว่า ประเทศที่คุมการระบาดได้ดีนั้นค่อนข้างนิ่งๆ กับเรื่องการจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับประชาชน ยังไม่แสดงท่าทีเร่งรีบนักในเรื่องนี้ โดยเชื่อว่ามีเหตุผลสำคัญคือ อยากรอดูข้อมูลระดับโลกว่า หลังจากที่ประเทศอื่นๆ ได้ฉีดวัคซีนแต่ละชนิดไปให้แก่คนจำนวนมากแล้วเป็นไปด้วยความราบรื่นหรือไม่ และจะมีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงมากน้อยเพียงใด


สำหรับผมแล้ว นี่คือการเคลื่อนไหวที่ชาญฉลาด เพราะวัคซีนป้องกันโควิด-19 นั้น มีหลายชนิด และแต่ละอย่างก็มีลักษณะแตกต่างกันไป โดยผ่านการศึกษาวิจัยในระยะที่ต่างกัน
 

โดยปกติแล้ว การจะคิดวัคซีนขึ้นมาสักตัวหนึ่งนั้น ต้องผ่านขั้นตอนตั้งแต่การศึกษาในห้องปฏิบัติการ แล้วจึงมาถึงการทดลองในสัตว์ เช่น หนู กระต่าย ลิง เพื่อให้แน่ใจว่ามีคุณสมบัติที่จะสามารถนำมาทดสอบในมนุษย์ได้ ทั้งในเรื่องความปลอดภัยและสรรพคุณในการกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ไม่ว่าจะเป็นภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ และ/หรือภูมิคุ้มกันในน้ำเลือด (แอนติบอดี้) 


การศึกษาทดลองในมนุษย์นั้นยังต้องผ่านถึง 3 ระยะ 


โดยระยะแรกจะทดสอบในอาสาสมัครที่แข็งแรงจำนวนไม่มากนัก ระดับหลักสิบเพื่อทดสอบเรื่องความปลอดภัย (Safety) หากผ่าน จึงเข้าสู่ระยะที่สอง ที่จะศึกษาเกี่ยวกับปริมาณที่ใช้เพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันในมนุษย์ (Immunogenicity) และยังคงดูเรื่องความปลอดภัย (Expanded safety) โดยทำในอาสาสมัครที่มีจำนวนมากขึ้นกว่าระยะแรก ระดับหลักหลายสิบถึงหลักร้อย

ถ้าผ่านระยะที่สองแล้วจึงมาสู่ด่านอรหันต์ คือระยะที่สาม เราเรียกว่า Efficacy trial ซึ่งจะทำการทดลองในอาสาสมัครจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นระดับหลายพันหรือหลักหมื่นคนขึ้นไป โดยจำเป็นจะต้องออกแบบการวิจัยที่รัดกุม โดยแบ่งอาสาสมัครเป็นสองกลุ่มแบบสุ่ม กลุ่มหนึ่งได้วัคซีนทดลอง และอีกกลุ่มได้ยาหลอก (สารเลียนแบบวัคซีนทดลอง) และทำการติดตามดูว่า หลังจากแต่ละคนออกไปใช้ชีวิตตามปกติแล้ว แต่ละกลุ่มนั้นจะมีคนที่ติดเชื้อมากน้อยเพียงใด แตกต่างกันหรือไม่


หากผ่านระยะที่สาม แล้วพบว่าวัคซีนได้ผลในการป้องกันตามที่วางแผนประเมินผลไว้ โดยที่ไม่ได้มีปัญหาผลข้างเคียงอะไรที่รุนแรงเกินกว่าจะยอมรับได้ ชั่งดูแล้วเกิดประโยชน์มากกว่าโทษ ก็จะสามารถนำไปขึ้นทะเบียนกับหน่วยงานควบคุมกำกับด้านยาและวัคซีนของแต่ละประเทศ เพื่อผลิตจำหน่ายจ่ายแจกได้


อย่างไรก็ตาม หากเราอ่านเข้าใจจนถึงบรรทัดนี้ ก็จะรู้ว่า แม้จะผ่านระยะที่สามมาจนขึ้นทะเบียนได้แล้ว จำนวนอาสาสมัครที่ทดลองใช้วัคซีนนั้นก็เป็นแค่ระดับไม่กี่หมื่นคน 


ประเด็นสำคัญจึงอยู่ตรงที่ว่า พอเอามาจำหน่ายจ่ายแจกในสาธารณะทั้งประเทศ หรือทั่วโลกก็ตาม คนที่ได้อาจเป็นระดับล้านคนหรือร้อยล้านคน ซึ่งอาจทำให้พบปัญหาผลข้างเคียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ โดยที่ผลข้างเคียงต่างๆ นั้นอาจไม่พบเลยในระหว่างการวิจัยทั้งสามระยะที่ผ่านมา เพราะอาสาสมัครในการวิจัยถือว่าจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับการใช้ในชีวิตจริง


ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีเวชภัณฑ์หลายต่อหลายชนิด ที่ได้สรรพคุณดีเยี่ยม และการวิจัยทุกระยะก็ไม่ได้มีปัญหาผลข้างเคียงที่รุนแรงน่ากังวล จึงเอามาจำหน่ายจ่ายแจกได้ แต่สุดท้ายพอนำมาใช้ในชีวิตจริงทั่วโลก ก็ได้รับรายงานเรื่องผลข้างเคียงตั้งแต่ประเภทไม่รุนแรง รุนแรง จนถึงเสียชีวิตก็มีมาแล้ว


จนทำให้จำเป็นต้องยกเลิกทะเบียน และเอาออกจากตลาด ไม่ให้ใช้อีก กระบวนการการติดตามผลการใช้ในชีวิตจริงนั้น ภาษาเทคนิคเราเรียกว่า "Post-marketing surveillance" หรือจัดเป็นการศึกษาระยะที่ 4 นั่นเอง

 

ที่เล่ามาทั้งหมดนี้ เพื่อให้ประชาชนอย่างพวกเราทุกคนได้ทราบ และตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าว

 

ประเทศที่คุมการระบาดในประเทศได้อย่างเข้มงวด จนสถานการณ์สงบดีนั้น จึงได้เปรียบมาก เพราะเค้าสามารถมีเวลาในการ"รอดู" (Wait and see) ว่าจะทุกอย่างราบรื่นไหม ก่อนที่จะตัดสินใจนำวัคซีนใดๆ มาใช้ในประเทศสำหรับประชาชนของเค้า เหตุผลหลักๆ ก็คงเป็นเรื่องการแคร์สวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชนในประเทศ เพราะทุกชีวิตล้วนมีคุณค่านั่นเอง


 

นี่เป็นการตอกย้ำความสำคัญของความไม่ประมาท ที่ได้พยายามเรียนย้ำมาตลอดตั้งแต่ปีที่แล้วว่า เราจำเป็นต้องป้องกันไม่ให้เพลี่ยงพล้ำต่อโรคระบาด เพราะหากทำได้ และจะมีภาษีที่ดีกว่าในการเลือกดำเนินการเรื่องต่างๆ นั่นเอง

 

แต่ยามใดหากเน้นนโยบายหรือมาตรการที่มุ่งโกยเงินเข้าประเทศ และยอมแลกกับความเสี่ยงต่อการเกิดการระบาดซ้ำท่ามกลางสถานการณ์ระบาดรุนแรงมากทั่วโลก เราก็อาจเพลี่ยงพล้ำได้ และทำให้ทางเลือกต่างๆ ที่ตัดสินใจลดน้อยถอยลงไปตามลำดับ จนอาจทำให้"ไม่มีทางเลือก"เลยก็เป็นได้

 

สถานการณ์ปัจจุบัน เรายังเลือกได้ว่า จะดำเนินมาตรการเข้มข้นเคร่งครัดได้ทันเวลาหรือไม่ แต่เวลาเหลือไม่มากแล้วครับ

 

จะหยุดโรคระบาดได้ ต้องช่วยกันหยุดการเคลื่อนที่ไปมาระหว่างกัน และหยุดกิจการกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อและรับเชื้อ ไม่ว่าจะเสี่ยงสูงเสี่ยงกลางเสี่ยงต่ำก็ตาม เพราะตอนนี้ระบาดกระจายไปทั่ว ขืนยังปล่อยแบบนี้ ยากนักที่จะยุติการระบาดได้ในเวลาอันใกล้

 

Regional lockdown คือคำตอบครับ ทำสั้นๆ 2-4 สัปดาห์ แล้วจะเห็นผล


แต่ทำแบบตอนนี้ จะได้แค่ชะลอ แต่ไม่มีทางหยุดได้ครับ ขึ้นอยู่กับว่าจะตรวจหรือไม่ตรวจ ตรวจทั่วหรือไม่ทั่วก็เท่านั้น อยากได้เลขน้อยก็ตรวจให้น้อยแต่จะประสบปัญหาเรื้อรังไปอย่างยาวนาน

 

ขอให้ทุกคนช่วยกันป้องกันตัวอย่างเต็มที่ อยู่บ้านหยุดเชื้อเพื่อตัวคุณเอง... ใส่หน้ากากเสมอ...ล้างมือ...อยู่ห่างๆ...  ออกจากบ้านยามจำเป็นจริงๆ เท่านั้น... ไม่ควรกินดื่มในร้าน ควรซื้อกลับไปกินดื่มที่บ้าน... และคอยสังเกตอาการตนเองและครอบครัว หากไม่สบายให้รีบไปตรวจ... ด้วยรักต่อทุกคน