"หมอชูชัย" ถอดบทเรียนเชื้อโควิด เมื่อราชสีห์ไม่ฟังหนู

29 ธ.ค. 2563 | 13:49 น.

"หมอชูชัย" ถอดบทเรียนติดเชื้อโควิด เมื่ออเมริกายักษ์ใหญ่ไม่เชื่อฟังหนูอย่างไทยแลนด์ หลังเมื่อตอนโรคเริ่มระบาด

นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปสช.) ได้โพสต์ข้อความในเพจติดตามการปฏิรูปประเทศกับหมอชูชัย ว่า  A Tale of Two Countries  เรื่องเล่าจากสองประเทศที่คงกลายเป็นตำนานความแตกต่างระหว่างไทยกับสหรัฐในการเตรียมตัวรับมือกับโคโรน่าไวรัสเมื่อตอนโรคเริ่มระบาด เมื่อราชสีห์ไม่ฟังหนู วอชิงตันโพตส์รายงานวันนี้บนหน้าแรกเปรียบเทียบการทำงานของ CDC ในสหรัฐกับกลุ่มแพทย์และนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย โดยรายงานผลการสืบสวนจากการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลสหรัฐกว่า 30 คนและโดยการอ่านเอกสารข้อมูลภายในของ CDC ในสหรัฐ และนำข้อมูลมาเปิดเผยว่าอะไรคือความผิดพลาดในชั้นต้นของ CDC ที่นำมาสู่หายนะอย่างใหญ่หลวงที่สุดของสหรัฐตั้งแต่เป็นประเทศมาวันนี้ไทยดังเป็นพลุ

 

บทความนี้ยาวหน่อย เพราะอธิบายทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยและในสหรัฐ ส่วนของไทยจะแปลละเอียดหน่อย ส่วนของสหรัฐจะสรุปคร่าวๆ

เมื่อไวรัสเริ่มระบาดที่หวู่ฮั่น หมอและโรงพยาบาลในสหรัฐต่างรอชุดตรวจโรคจาก CDC

วันที่ 13 ม.ค. WHO ได้เปิดเผยสูตรวิธีทำชุดตรวจต่อสาธารณะ (สูตรนี้ WHO ได้มาจากเยอรมันนี) เพียงในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากนั้นนักวิทยาศาสตร์ในประเทศไทยสามารถใช้สูตรนี้ทำชุดตรวจขึ้นเพื่อนำไปใช้งาน
แต่ทำไม CDC ในสหรัฐใช้เวลาอีก 46 วันหลังจากนั้นกว่าจะมีชุดตรวจ? ผลคืออะไร?

CDC ถือกำเนิดในปีพ.ศ. 2489 โดยเติบโตขึ้นจากการเป็นองค์กรเล็กๆที่ต่อสู้โรคมาเลเรียทางใต้ของสหรัฐ กลายเป็นองค์กรเพื่อการต่อสู้กับโรคอื่นๆทั่วโลก
สำนักงาน CDC ที่ใหญ่ที่สุดในโลกนอกสหรัฐอยู่ในกรุงเทพ ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกนอกสหรัฐที่ CDC เข้ามาจัดตั้งโปรแกรมด้านระบาดวิทยาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2523 เพื่อช่วยในการฝึกฝนอบรมบุคลากรด้านการวิเคราะห์สืบสวนโรคระบาด CDCในไทยมีเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นนักระบาดวิทยา ผู้เชี่ยวชาญในแล็ป และผู้เชี่ยวชาญสาขาอื่นๆรวมประมาณ 170 คน
 

 

ไทม์ไลน์
ในช่วงต้นเดือนม.ค. แพทย์ไทยในกรุงเทพเริ่มกังวลกับการระบาดในหวู่ฮั่นซึ่งอยู่ห่างจากไทยไม่ถึง 7 ชั่วโมงบิน และเริ่มวางกลยุทธ์เตรียมตัวรับมือกับภัยคุกคามจากไวรัส โดยทำงานร่วมกับ CDC ในไทยอย่างใกล้ชิด 

แพทย์ไทยยังได้เรียนรู้จากนักวิทยาศาสตร์จากหลายที่เกี่ยวกับพันธุกรรมของโคโรน่าไวรัสมากพอที่จะเริ่มพัฒนาชุดตรวจสำหรับใช้ในโรงพยาบาล ซึ่งซุดตรวจแบบแรกของไทยเป็นการตรวจแบบ Real-time Polymerase Chain Reaction หรือ RT-PCR

 

ถึงวันที่ 12 ม.ค. ไทยใช้ชุดตรวจแบบแรกนี้คอนเฟริ์มเคสแรกของโลกนอกประเทศจีน
ในวันเดียวกันนั้น จีนโพสต์ genetic sequence ของโคโรนาไวรัสในอินเทอร์เน็ต
ในวันรุ่งขึ้น - 13 ม.ค. WHO แชร์โปรโตคอลการตรวจต่อสาธารณะ ซึ่งก็คือสูตรที่ระบุวัสดุที่จำเป็นในการทำชุดตรวจ
นักวิทยาศาสตร์ไทยใช้โปรโตคอลดังกล่าวในการสร้างชุดตรวจแบบที่สอง และทำได้ในเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากได้รับข้อมูลจากWHO การ "มีมากกว่าหนึ่ง" นี้จะกลายเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัคซีนป้องกันไวรัสในที่สุด
หมอ Anthony Fauci ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อของสหรัฐมักกล่าวเทียบแนวทางกลยุทธ์นี้กับฟุตบอลว่า “การยิงประตูต้องยิงหลายๆครั้ง” (ถึงจะเข้า)
แนวทางนี้ให้ผลตอบแทนทันทีต่อประเทศไทย

 

คุณหมอ ผศ. กฤต พงศ์พิรุฬห์ นักวิจัยและแพทย์ด้านระบาดวิทยาจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กล่าวทางอีเมลกับวอชิงตันโพสต์ว่า “เราไม่ได้อาศัยเทคนิคการตรวจเพียงอย่างเดียวจากแล็ปเพียงแห่งเดียว”
จากการใช้สูตรของ WHO เจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยพบผู้ป่วยรายอื่นภายในไม่กี่วันหลังจากนั้น รวมถึงคนขับแท็กซี่คนไทยที่ไม่เคยไปหวู่ฮั่น คุณหมอกฤตและเพื่อนร่วมงานสงสัยว่าเขาติดเชื้อจากนักท่องเที่ยวชาวจีน เจ้าหน้าที่ไทยติดตามสืบตัวผู้มีความใกล้ชิดกับคนขับแท็กซี่และพบว่ามีผู้ติดเชื้อคนอื่น ทำให้ไทยสามารถแยกตัวผู้ติดเชื้อออกเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสแพร่กระจายได้โดยเร็ว
หนึ่งในผู้ติดเชื้อในเคสนี้ที่ไทยเป็นแบบไม่มีอาการ - นี่เป็นการเตือนล่วงหน้าแก่ชาวโลกว่าการแพร่เชื้อชนิดนี้เป็นไปได้แม้จากผู้ที่ไม่มีอาการ

ถึงสิ้นเดือนม.ค.ไทยพบผู้ป่วยด้วยโรคโควิด-19 จำนวน 11 ราย คุณหมอกฤตอธิบายรายละเอียดไว้ในอีเมลและในวารสาร Emerging Infectious Diseases ของ CDC (ลิงค์ข้างล่าง) ผู้เขียนบทความนี้มีทั้งหมด 12 คน และ 4 คนในจำนวนนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญของ CDC โดยสามคนอยู่ในกรุงเทพและอีกคนในแอตแลนตา
“การมีชุดตรวจ RT-PCR ในช่วงแรกช่วยลดการแพร่เชื้อและช่วยชีวิตคนได้อย่างแน่นอน” หมอกฤตกล่าวกับวอร์ชิงตันโพสต์ทางอีเมล
นักวิทยาศาสตร์ไทยได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกและความสำเร็จขั้นต้นกับสำนักงานใหญ่ของ CDC โดยทันที มีการประชุมทางโทรศัพท์เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ระหว่างบุคลากรของ CDC ในกรุงเทพและสำนักงานใหญ่ในแอตแลนตา
 

นายแพทย์ John R. MacArthur ผู้อำนวยการของ CDC ประเทศไทยตั้งแต่ปี 2556 กล่าวว่าเมื่อการทดสอบ PCR ยืนยันเคสแรกที่กรุงเทพ “ผมติดต่อกับผู้นำของ CDC ในแอตแลนตาทันทีเพื่อแจ้งให้พวกเขาทราบว่าเกิดอะไรขึ้น”
แต่อนิจจา สำนักงานใหญ่ CDC ไม่นำกลยุทธ์ด้านการทำชุดตรวจและข้อมูลอื่นๆจากไทยที่พิสูจน์แล้วว่าประสบความสำเร็จในไทยมาใช้ในสหรัฐ
ผลของการที่สามารถตรวจคนได้ตั้งแต่เมื่อโรคเริ่มระบาดทำให้ไทย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่นมีอัตราการเสียชีวิตจากโคโรน่าไวรัสเพียง 2 คนในแสนคน สถิติอัตราความตายของสหรัฐเวลานี้คือ 91 คนในแสนคน


สรุปด้านสหรัฐ - แล้วทำไม CDC ในสหรัฐถึงได้ล้มเหลวในการรับมือกับไวรัสด้านการตรวจในตอนแรก
1) ประมาทอย่างร้ายแรง เมื่อตอน SARS ระบาด สหรัฐไม่มีผู้ป่วยเลย, เมื่อตอน MERS ระบาด สหรัฐมีผู้ป่วยสองคน รอดทั้งคู่ เลยให้ความสำคัญโคโรน่าไวรัสต่ำมาก หมอ Nancy Messonnier ผู้อำนวยการศูนย์โรคทางเดินหายใจของ CDC กล่าวว่า "เป็นไปได้ที่เราจะมีโคโรน่าไวรัสอย่างน้อยหนึ่งเคสในสหรัฐ"
2) ไม่พ้น Management Decision...ความผิดพลาดในการตัดสินใจของผู้บริหารขั้นสูงของ CDC สหรัฐ วอชิงตันโพสต์ใช้คำว่า "หยิ่งยโสอหังกา" กับทัศนคติของ CDC - สูตรได้จาก WHO มีในมือแต่ไม่ใช้ ตัดสินใจทำเอง ข้าเก่ง ข้าแน่ ข้าคือCDC ค้นคว้าเอง ทำเองได้ - แพทย์และผู้เชื่ยวชาญในสหรัฐลงความเห็นในเวลานี้ว่า สิ่งที่สหรัฐควรทำตอนนั้นคือใช้สูตรของ WHO ไปก่อน แล้วในเวลาเดียวกันก็ค่อยพัฒนาสูตรของตัวเองเพิ่มขึ้น ใช้กลยุทธ์ "มากกว่าหนึ่ง" แบบไทย ซึ่งฟังดูแล้วน่าจะเป็น common sense 
3) ดูแลการผลิตไม่ดี เกิดปัญหาในการผลิตชุดตรวจในแล็ปของ CDC ชุดตรวจบางส่วนไม่เวิร์คเพราะมีสารปนเปื้อน
4) ไม่ตรวจการบ้านตัวเองก่อนส่ง ทำชุดตรวจเสร็จแล้วส่งไปตามรัฐต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐเป็นคนค้นพบว่าสิ่งที่ CDC ส่งมาใช้ตรวจไม่ได้
5) ระบบรัฐการที่เงอะงะ มะงุมมะงาหรา ระหว่าง CDC กับ FDA (ซึ่งมีหน้าที่อนุมัติชุดตรวจของ CDC) FDA ออกกฏที่ทำให้เสียเวลามากในตอนแรก
6) เอาการเมืองมายุ่มย่ามกับการแพทย์และวิทยาศาสตร์ เริ่มด้วยการเอาหมอ Robert Redfield  ซึ่งไม่มีประสบการณ์บริหารองค์กรมาก่อนเลยไม่ว่าระดับไหน มาเป็นผู้อำนวยการ CDC ซึ่งใหญ่และซับซ้อน ไม่ขอพูดมากกว่านี้ครับ เจ็บคอ ผู้อำนวยการคนใหม่จะเริ่มงานเดือนหน้า หวังว่าคงดีขึ้น
7) ไม่ฟังคำเตือนและรายงานผลจากไทย ทั้งๆที่ส่วนหนึ่งของผู้รายงานก็เป็นผู้บริหารระดับสูงของ CDC เอง
เสียเวลาให้ไวรัสไป 46 วัน ระหว่างนั้นแทบไม่มีการตรวจ ไวรัสเลียปาก

 

จากความผิดพลาดครั้งนี้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ CDC ที่ถูกย้ายและเชิญออกอย่างเงียบๆหลายราย
CDC กำลังเขียนรายงานเพื่อเปิดเผยความผิดพลาดของตัวเองต่อสาธารณชน คงได้อ่านในอีกไม่นาน
 

 

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ใครมีข้อมูล "บ่อนระยอง" ให้ส่งมา นายกฯลั่นจะจัดการเอง

สธ.เผย 3 ร้าน กทม.แหล่งแพร่เชื้อโควิด19

จังหวัดนครนายก พบติดเชื้อโควิด19 เพิ่มอีก 1 คน

โรงพยาบาลวิภาวดี เผยคืนเงินจองวัคซีนโควิด-19 ทั้งหมดแล้ว หลังสธ.สั่งระงับ