ยันอาหาร “ประมง-ปศุสัตว์”ปลอดภัย ไร้ “เชื้อโควิด-19”

25 ธ.ค. 2563 | 06:30 น.

รัฐมนตรีเกษตรฯ ยืนยัน สินค้า “ประมง-ปศุสัตว์” ปลอดภัย ไร้โควิด-19  ปลุกผู้บริโภคไม่ให้กังวล รับประทานได้ตามปกติ ด้าน กรมประมง ดึงห้องเย็นรับซื้อกุ้ง 100 ตัน-ชะลอประมงออกจับปลา แก้ลำ "สัตว์น้ำ" ราคาตก

เฉลิมชัย ศรีอ่อน

 

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รอบใหม่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้มีการสรุปรายงานสถานการณ์และผลการดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน และเตรียมความพร้อมในการรองรับสถานการณ์ดังกล่าวจากหน่วยงานในสังกัดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม จากกระแสความกังวลของประชาชนต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสัตว์น้ำที่อาจทำให้เกิดความไม่มั่นใจในการบริโภคอาหารทะเล กระทรวงเกษตรฯ ได้มีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิตสินค้าเกษตร ทั้งสินค้าประมงและสินค้าปศุสัตว์ เพื่อให้สินค้ามีความปลอดภัยและได้มาตรฐานต่อผู้บริโภคให้มากที่สุด จึงขอให้พี่น้องประชาชนสามารถบริโภคได้ตามปกติ และขอยืนยันว่าสินค้าที่มีเครื่องหมายรับรองจากกรมประมงและกรมปศุสัตว์ จะไม่มีการแพร่เชื้ออย่างแน่นอน

 

ทองเปลว กองจันทร์

 

ด้าน นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากกระแสความกังวลของประชาชนต่อการบริโภคสินค้าประมง กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมประมง ได้มีการออกมาตรการเพิ่มเติมเฉพาะกิจในการป้องกันการปนเปื้อนไวรัสโควิด-19 ในสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้บริโภคให้มากยิ่งขึ้น คือ 1) ผู้ประกอบการกระบวนการผลิต : เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ฟาร์มต้องขึ้นทะเบียนและได้มาตรฐานจากกรมประมง ปฏิบัติตามมาตรการคัดกรอง และการปฏิบัติงาน ล้างทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้บรรทุกสัตว์น้ำ ทั้งภายในและภายนอกห้องบรรจุสัตว์น้ำด้วยคลอรีน ขณะเข้าและออกจากฟาร์ม ผู้ขับขี่ยานพาหนะบรรทุกสัตว์น้ำ ต้องตรวจคัดกรองและสวมหน้ากากตลอดเวลา

 

ยันอาหาร “ประมง-ปศุสัตว์”ปลอดภัย ไร้ “เชื้อโควิด-19”


เช่นเดียวกับบุคลากรในฟาร์ม ส่วนชาวประมง/เรือประมงทุกคนต้องผ่านการคัดกรองจากศูนย์แจ้งเข้า-ออก เรือประมงตามมาตรการของกรมประมง ทำความสะอาดส่วนที่สัมผัสกับสัตว์น้ำอยู่เสมอ สวมถุงมือและสวมหน้ากากตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน ห้ามออกนอกสะพานปลา ท่าเทียบเรือ ขณะขนถ่ายสัตว์น้ำที่ท่าเทียบเรือหรือสะพานปลา 2) ผู้ประกอบการกระบวนการลำเลียงและขนส่งสัตว์น้ำ ล้างและทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ในการจับ ลำ เลียง หรือขนส่งสัตว์น้ำก่อน-หลัง ใช้ทุกครั้ง ฉีดพ่น ทำความสะอาดยานพาหนะที่ใช้ในการลำเลียง หรือขนส่ง ก่อน-หลัง ทุกครั้ง โดยประสานกรมปศุสัตว์หรือภาคเอกชนช่วยดำเนินการ พร้อมทั้งควบคุมไม่ให้มีการปนเปื้อนระหว่างการขนส่ง เจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการลำเลียง คัดแยก และขนส่งสัตว์น้ำ ต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย ถุงมือ และมีระยะห่างในการปฏิบัติงานในระยะที่เหมาะสม

3) ผู้ประกอบการสะพานปลา (องค์การสะพานปลานำร่อง) ปฏิบัติตามมาตรฐานสุขอนามัยท่าเทียบเรือ สะพานปลา คัดกรองบุคลากรที่ทำงานในพื้นที่ทุกรายเป็นประจำทุกวัน ทำความสะอาดสถานที่ด้วยคลอรีนทุกวัน พาหนะบรรทุกสัตว์น้ำที่เข้า-ออก ต้องลงทะเบียน และฉีดพ่นด้วยคลอรีน โดยต้องทำความสะอาดทั้งภายในและภายนอกห้องบรรจุสัตว์น้ำ ก่อนการบรรจุสินค้าสัตว์น้ำ 4) ผู้ประกอบการร้านค้า Modern Trade ปฏิบัติตามข้อกำหนดร้านค้าของสาธารณสุข ทำความสะอาดพาหนะที่ขนส่งสินค้า ณ จุดจอด ก่อนมีการขนถ่ายเข้าสู่สถานประกอบการด้วยคลอรีน แยกสัตว์น้ำแต่ละประเภท ล้างทำความสะอาด และบรรจุในถุงพลาสติกก่อนวางบนน้ำแข็ง เพื่อลดการสัมผัสโดยตรงกับสัตว์น้ำ สุ่มตรวจการปนเปื้อนของไวรัสโควิด-19 เป็นระยะตามความเหมาะสม

 

มีศักดิ์ ภักดีคง

 

ด้านนายมีศักดิ์  ภักดีคง อธิบดีกรมประมง  กล่าวว่า  กรมประมงจึงได้ร่วมกับบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF   เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และชาวประมง จัดกิจกรรม “สัตว์น้ำมาตรฐานไทย...สู้ภัยโควิด-19” จำหน่ายสินค้าสัตว์น้ำ อาทิ ปูม้านึ่ง  กุ้งแชบ๊วย กุ้งต้ม  กุ้งก้ามกราม  กั้ง ปลาอินทรีย์  ปลากะพง ปลาดุก ฯลฯ ได้มาตรฐานกรมประมง สด สะอาด ปลอดภัยแน่นอน ซึ่งเป็นการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนในการเพิ่มช่องทางระบายสินค้าให้กับพี่น้องเกษตรกร ที่สำคัญเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วย

 

อย่างไรก็ตาม การปนเปื้อนของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจเกิดขึ้นได้จากการขาดสุขอนามัยที่ดี  ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการรับประทานและสัมผัสสัตว์น้ำ จึงขอให้ผู้บริโภคได้เลือกซื้อสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและผ่านการผลิตที่มีมาตรฐาน  เน้นให้ความใส่ใจในเรื่องสุขอนามัยเป็นสำคัญ โดยไม่ควรรับประทานอาหารสัตว์น้ำที่ดิบหรือไม่สุก และไม่ควรใช้มือสัมผัสกับสัตว์น้ำโดยตรง อาจใช้ถุงมือหรืออุปกรณ์ในการหยิบหรือตัก  และล้างทำความสะอาดสัตว์น้ำเป็นอย่างดีก่อนทำการปรุงอาหารทุกครั้ง

 

ยันอาหาร “ประมง-ปศุสัตว์”ปลอดภัย ไร้ “เชื้อโควิด-19”

 

สำหรับเรื่องของการเยียวยาหาแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร กรมประมงได้มีการประชุมหารือแนวทางช่วยเหลือในระยะยาว  โดยขณะนี้ได้ขอความร่วมมือห้องเย็นโรงงานแปรรูปในการรับซื้อกุ้ง ซึ่งขณะนี้มีผลผลิตเกินอยู่ 100 ตัน  ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกรชาวประมงในการชะลอการจับสัตว์น้ำ เพื่อป้องกันสินค้าสัตว์น้ำล้นตลาดด้วย