แม้เจ้าหนี้โหวตอุ้ม“การบินไทย” ฟ้ายังไม่เปิด...อนาคตไม่สดใส

24 พ.ค. 2564 | 12:40 น.

แม้เจ้าหนี้โหวตอุ้ม“การบินไทย” ฟ้ายังไม่เปิด...อนาคตไม่สดใส : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3681 ระหว่างวันที่ 23-26 พ.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

คำประกาศเสียงดังฟังชัดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2564ว่า  “ผมได้ตัดสินใจว่าช่วงนี้รัฐบาลยังไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องของการจัดทำแผนของผู้บริหารแผนเพื่อให้แผนผ่าน รวมทั้งเรื่องของเจ้าหนี้ แต่ผมยืนยันได้อย่างหนึ่งว่า รัฐบาลยังไม่ได้สนับสนุนจำนวนเงิน อะไรให้ทั้งสิ้น!

“ผมจำเป็น ต้องพูดอย่างนี้ ไม่เช่นนั้น วุ่นกันไปหมด จนกว่าที่จะมีการเดินหน้าตามแผนและบริหารแผน อย่าเอาตรงนี้เป็นตัวชี้ออกไป เพราะผมคิดว่า ทุกคนคงไม่อยากให้การบินไทยล้มละลายอยู่แล้ว ดังนั้น ทุกคนต้องช่วยกัน เพราะถ้าไม่ช่วยกัน ทุกอย่างมันก็จะเป็นไปไม่ได้อีก….

ฉะนั้นขอยืนยันว่า เมื่อการบริหารแผนเกิดขึ้นและทำได้ตามแผนแล้ว ก็ค่อยมาว่ากันอีกครั้ง ว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป

“ตอนนี้รัฐบาลถือว่า เป็นการ ทำงานของผู้บริหารแผน ผมพูดเช่นนี้ ชัดเจนแล้วนะ”

ถือเป็นความชัดเจนในทางนโยบายของผู้ถือหุ้นใหญ่คือรัฐบาลว่า กระทรวงการคลังและรัฐบาลจะไม่ ”สอดเข้าไปแก้หน้า”เพื่ออุ้มการบินไทย ใส่เงินเข้าไป หรือจะต้องดึงกลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามที่บรรดาเจ้าหนี้เรียกร้องล็อบบี้มาก่อนจะมีการโหวตแผนในวันที่ 19 พ.ค.อย่างแน่นอน....

คำประกาศดังกล่าวชัดยิงกว่าชัดว่า.... รัฐบาลโยนเผือกร้อนการมีส่วนร่วมในการจัดการรับแผน-รับแผนไปยังมือของ ”ผู้เป็นเจ้าหนี้” ทั้งหมด ให้ร่วมกันรับผิดชอบในความเป็นความตายของบริษัท การบินไทย แม้ว่าในระยะตั้งแต่ปลายเดือนเมษายน-ต้นเดือนพฤษภาคม จะเกิดการล็อบบี้อย่างหนัก ทั้งจากฝ่ายการเมืองในพรรคพลังประชารัฐ พลังภูมิใจไทย และเจ้าหนี้สายธนาคาร เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน รวมถึง “คณะทำงานเพื่อติดตามการดำเนินการแก้ไขปัญหาการบินไทย”ให้รัฐบาลอุ้ม

ผลที่ตามจาก คำขาด ของนายกฯที่ยื่นออกไป จึงทำให้เกิดการประนีประนอมกันนอกรอบของเจ้าหนี้ ”ทนายความ-ประธานกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์” รวมไปถึงเจ้าหนี้สหกรณ์ทั้งหลายว่า จะต้อง “รวมพลังกันเป็นหนึ่ง” ในการโหวตแผนให้ผ่าน

มิเช่นนั้น การบินไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย และถ้าเป็นเช่นนั้นทรัพย์สินทั้งหมดจะต้องถูกแบ่งขายและทรัพย์ที่ได้จะเหลือถึงมือแต่ละรายไม่ถึง 20-30% จากที่ได้ลงทุนไปทั้งหมด

หากวิธีคิดแบบโบราณ กำอี้ ดีกว่า กำตด ยังใช้ได้กับผู้คนทั่วไป ผู้ที่ชาญฉลาดกว่า ย่อมบวกลบคูณหารแล้วเห็นตัวเลขไปไกลกว่านั้น!

นี่จึงเป็นที่มาของการประชุมเจ้าหนี้เพื่อพิจารณาแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 ครั้งประวัติศาสตร์ที่เป็นเดิมพันึรั้งสำคัญของสายการบินแห่งชาติว่าจะรอดหรือร่วงผ่านไปอย่างราบรื่น เมื่อที่ประชุมได้มีมติโหวตยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทย และแผนที่เจ้าหนี้เสนอแก้ไข 3 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 4 ผู้ทำแผน (การบินไทย), ฉบับที่ 13 ธนาคารกรุงเทพ, และฉบับที่ 15 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย (ชสอ.) โหวตยอมรับแผนฟื้นฟูรวมทั้งหมด 28 กลุ่ม จากเจ้าหนี้ทั้งหมด 36 กลุ่ม จำนวนหนี้รวมทั้งสิ้น 1.16 แสนล้านบาท คิดเป็น 91.56% คิดเป็นจำนวนหนี้ที่ไม่น้อยกว่า 50% ของหนี้ที่มีสทธ์ได้ออกเสียงลงคะแนน

จึงถือเป็นการประชุมเจ้าหนี้ที่มีมติยอมรับแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทการบินไทยและยอมรับแผนที่แก้ไข 3 ฉบับที่มีสาระที่ ”5คณะผู้บริหารแผน” จะต้องไปพิจารณาดำเนินการเสนอให้เจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นปรับปรุงแก้ไข!

นอกจากนี้ที่ประชุมเจ้าหนี้มีมติเห็นชอบ 5 อรหันต์มาเป็นคณะผู้บริหารแผน”ตามโผ”โดยในส่วนของกระทรวงการคลังและเจ้าหนี้สหกรณ์เสนอ 3 คน ตามลำดับคือ...

1.นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตดีดี การบินไทย

2.นายพรชัย ฐีระเวช รองปลัดกระทรวงการคลัง

3.นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการ ซีอีโอ บริษัท การบินไทย

ฟากเจ้าหนี้สถาบันการเงินรายใหญ่ และ ”รองนายกฯ”เสนอ 2 คน  ธนาคารกรุงเทพเสนอ นายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าเป็นผู้บริหารแผน

ขณะที่รองนายกฯสุพัฒน์พงษ์ พันธ์มีเชาว์ เสนอชื่อ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการธนาคารกรุงเทพ เป็นคณะผู้บริหารแผน

แต่ที่เซอร์ไพร์สกันมากคือนายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อดีตรองปลัดกระทรวงการคลังและรองประธานกรรมการคนที่ 1 บริษัทการบินไทย 1 ในคณะผู้ทำแผนที่ได้รับการเสนอชื่อมาตั้งแต่ต้นถูก มือดี ผลักตกเครื่องการบินไทยในช่วงท้ายของเส้นชัยในการโหวต งานนี้มีเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ให้สืบสาวราวเรื่องกันในระยะยาวจริงๆ...

สำหรับแผนฟื้นฟูที่เจ้าหนี้เสนอให้แก้ไขฉบับที่ 4 เป็นคำร้องยื่นของแก้ไขแผนฟื้นฟูของการบินไทย หรือในฐานะ ลูกหนี้ ซึ่งระบุถึงเหตุผลการขอแก้ไขว่า หลังจากผู้ทำแผนได้หารือกับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลัก ทั้งเจ้าหนี้ตามแผนฟื้นฟูและเจ้าหนี้ที่มีโอกาสให้การสนับสนุนทางการเงิน เห็นพ้องต้องกันว่า เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู จนเพียงพอที่เจ้าหนี้จะให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูตลอดจนเม็ดเงินได้คือ การที่การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ไม่ด้อยกว่า ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ

ดังนั้น ผู้ทำแผนจึงได้ขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการชำระหนี้ ลำดับการจัดสรรกระแสเงินสด การจัดหาประโยชน์ทรัพย์สินและสิทธิเรียกร้องของลูกหนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการจัดหาแหล่งเงินทุน โดยการกู้ยืมเงินใหม่เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน....ปักหมุดเอาไว้ว่าข้อเสนอนี้ยังบีบรัดให้ คณะผู้ทำแผน และผู้บริหารแผนจะต้องพิจารณาประกอบกันต่อไปในการบริหารการบินไทย

และนั่นแปลว่าข้อเสนอของนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่เสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อคราววันที่  6 พฤษภาคม 2564 ในเรื่องการช่วยให้การบินไทย ซึ่งเป็นสายการบินแห่งชาติสามารถที่จะฟื้นฟูกิจการได้ รวมถึงเงื่อนการได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอเช่นในอดีต มิใช่ “ปล่อยให้หน่วยงานของรัฐมาเตะตัดขา” ยังมีความหมาย และรอลุ้นกันว่าคณะผู้บริหารแผนจะทำอย่างไร

แต่ถ้าพิจารณาจากเงื่อนไขที่ประชุมเจ้าหนี้ที่โหวตรับแผนว่า...“เงื่อนไขสำคัญที่จะทำให้เจ้าหนี้มีความเชื่อมั่นในแผนฟื้นฟู จนเพียงพอที่เจ้าหนี้จะให้การสนับสนุนแผนฟื้นฟูตลอดจนเม็ดเงินได้คือ การที่การบินไทยจะยังคงได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐและได้รับสิทธิประโยชน์ในการประกอบธุรกิจการบินและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ไม่ด้อยกว่า ก่อนเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ” ย่อมเป็นเครื่องการรันตีว่าจะมี น้ำหนัก”ในการบริหารแน่นอน ผมในฐานะที่เป็นผู้ติดตามเรื่องการฟื้นฟูกิจการขอยืนยัน

แผนฟื้นฟูที่เจ้าหนี้เสนอแก้ไขฉบับที่ 13 เป็นของธนาคารกรุงเทพ ยื่นคำร้องขอแก้ไขแผนฟื้นฟูในส่วน ผู้บริหารแผน โดยได้เสนอรายชื่อผู้บริหารแผนเพิ่ม 2 ราย ประกอบด้วย นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการธนาคารกรุงเทพ และ นายไกรสร บารมีอวยชัย ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้จัดการประนอมหนี้และกฎหมาย ธนาคารกรุงเทพ และเป็นอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี เข้าเป็นผู้บริหารแผน

แผนฟื้นฟูที่เจ้าหนี้เสนอแก้ไขฉบับที่ 15 ชุมนุมสหกรณ์ออมทรัพย์แห่งประเทศไทย ได้ยื่นคำร้องเสนอแก้ไขแผนใหม่ ใน 5 ประเด็น ได้แก่ 1. การแปลงหนี้เป็นทุน การให้เจ้าหนี้ใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ หลังปีที่ 7 หุ้นละ 2.5452 บาท ครอบคลุมเจ้าหนี้หุ้นกู้ ตั้งแต่กลุ่ม 18-31 ขณะที่เจ้าหนี้กลุ่ม 4-6 จะสามารถใช้สิทธิแปลงหนี้เป็นทุนได้ เพราะมีหนี้คงเหลือหลังปีที่ 7

นอกจากนี้ยังมีแผนที่ต้องปรับปรุงอีก 3 -4 เรื่องที่ต้องนำไปพิจารณา 1.ปรับโครงสร้างทุน ลดทุน เพิ่มทุน มีทางเลือกในการแปลงหนี้เป็นทุน 2. การจัดการหาประโยชน์ทรัพย์สินทรัพย์ตามการเรียกร้องลูกหนี้ ครอบคลุมและมีความเหมาะสม

สุดท้ายคือ การให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเจ้าหนี้ ขอให้ผู้บริหารแผนชี้แจงการดำเนินการ ความคืบหน้า การขายทรัพย์สินในแผน...นี่คือผลสรุปคร่างของแผนที่เจ้าหนี้โหวตผ่าน...

เมื่อมติรับแผนฟื้นฟูบริษัทการบินไทยพ้นพงหนาม หลังจากนี้ไปคณะผู้ทำแผน จะต้องส่งเรื่องให้ศาลล้มละลายพิจารณา โดยศาลจะตัดสินใจว่าแผนฟื้นฟูดังกล่าวสมควรหรือไม่สมควร และปกติแล้วศาลจะพิจารณาตัดสินแค่ 2 ทาง คือ รับ-ไม่รับ โดยยึดเอาหลักการว่ามีการ ”เอาเปรียบเจ้าหนี้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือได้”

ถ้าศาลไม่รับแผนฟื้นฟูกิจการ คณะผู้ทำแผนสามารถนำแผนไปปรับปรุงได้ แต่ถ้าไปต่อไม่ได้...ก็วนลูบกลับไปสู่กระบวนการล้มละลายอีกเช่นเดิม และเข้าไปสู่กระบวนการพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ จพท.จะต้องรวบรวมสินทรัพย์นำไปขาย นำเงินมาคืนเจ้าหนี้.....

นอกจากนี้ ในทันทีที่ศาลเห็นชอบแผนที่เสนอไปทั้งในส่วนเดิมและที่ปรัปรงแก้ไข ก็จะต้องมีการตั้ง ‘คณะผู้บริหารแผน’ ซึ่งรายชื่อผู้บริหารแผน หรือคณะกรรมการบริหารแผน 5 คน ปิยสวัสดิ์-พรชัย-ศิริ-ไกรศร-ชาญศิลป์ ก็จะอยู่ในแผนฟื้นฟูฯที่เจ้าหนี้ให้ความเห็นชอบไปนั่นแหละ

คณะผู้บริหารแผนจะมีระยะเวลาทำงานที่ชัดเจน 3- 5 ปี แต่ระยะเวลาบริหารแผนต้องไม่เกิน 5 ปี ขยายเวลาได้ครั้งละ 1 ปี ไม่เกิน 2 ครั้ง

ตอนนี้เด่นชัดมากว่า 5 คนที่จะรับไม้ต่อและต้องบริหารต่อไปโดยจะมีรายได้ไม่เกินคนละ 5 ล้านบาทต่อปี ซึ่งต้องลุ้นกันว่าจะนำพาไปอย่างไร แต่ขอบอกไว้ณ ที่นี้นะขอรับว่า ในกฎหมายฟื้นฟูกิจการและในแผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทการบินไทยนั้น มีการซ่อนเร้นเรื่องราวไว้มากมาย ขอให้ไปดูในรายละเอียดกันให้ดี และคณะผู้บริหารแผนสามารถขายทรัพย์สินบางอย่างออกไปได้ โดยเฉพาะในกลุ่มที่ไม่ใช่กิจการหลัก ครัวการบินไทยก็ขายได้ บริการกราวน์ เซอร์วิส บริการภาคพื้นก็ขายได้ เพราะไม่ใช่ธุรกิจหลัก....จุ๊ๆ อย่าเอ็ดไป

ผมขอให้ขีดเส้นไว้ตรงนี้ว่า ประชาชนต้องเกาะติดกันให้ดีๆ เพราะคณะผู้บริหารแผนต้องหาเงินสดมาดูแลกิจการ พนักงานและกิจการหลัก ให้เดินหน้าไปได้ ถ้าได้คณะผู้บริหารแผนทำไม่ดี รับประกันผู้ถือหุ้นเดิม อ่วมอรทัย...เงินหาย กำไรหด ธุรกิจถูกยึดแน่ๆ

เพราะอะไร เพราะในการฟื้นฟูกิจการนั้นแนวหลักคือ จะมีการปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาชำระหนี้ออกไป การยกหนี้ดอกเบี้ยให้-จ่ายเฉพาะเงินต้น การลดเงินต้นให้บางส่วน (Hair-cut) การแปลงหนี้เป็นทุน การเพิ่มทุนให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมหรือผู้ถือหุ้นรายใหม่

นี่จึงเป็นสาเหตุว่า ในการฟื้นฟูกิจการแล้ว 85-90% มักจะเป็นคณะผู้ถือหุ้น เจ้าของหรือคณะผู้บริหารเดิมที่รู้เรื่องธุรกิจในการแก้ปัญหาองค์กรให้รอด บริษัท ซิโนไทยฯ” ทีมบริหารก็เป็นคนของตระกูล ชาญวีรกูล  บริษัท พรีเมียร์ เอ็นเตอร์ไพรซ์ ของตระกูลพงศ์ธร ก็ตั้งบริษัท บริษัท พรีเมียร์ แพนเนอร์ ขึ้นมาบริหาร

และหากย้อนดูสถิติ นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯที่ยื่นขอฟื้นฟูกิจการภายใต้ศาลล้มละลายกว่า 50-60 บริษัท บริษัทที่ฟื้นฟูกิจการสำเร็จ สามารถกลับมาได้ตามปกติมีเพียง 23 บริษัท คิดเป็นสัดส่วน 44% ที่เหลือล้มละลายหมด และในส่วนใหญ่นั้นมีจำนวนมากที่เจ้าของเดิมหลุดออกไปหรือมีส่วนบริหารน้อยลงแต่เจ้าใหม่กลับมามีอำนาจ

เจ้าของเดิมและคณะผู้บริหารเดิมส่วนใหญ่จึงมักจับมือกันไปตั้งบริษัททำแผนขึ้นมาเพื่อบริหารแผนฟื้นฟู เพราะถ้าปล่อยให้บุคคลภายนอกและบริษัทบัญชี รวมถึงเจ้าหนี้มายึดและตั้งคณะผู้บริหารแผนไปแล้วไซร้แล้ว จะมีปลายทางที่เหมือนกันนั่นคือ กิจการหลุดมือ หาไม่ก็”ครอบครัว-ผู้ถือหุ้นแตกแยกไม่เผาผี”

วกกลับมาที่บริษัทการบินไทย  ในระหว่างการบริหารแผนฟื้นฟู สิ่งที่บริษัท การบินไทย จะต้องเผชิญแน่ยิ่งกว่าแช่แป้ง คือ ....การกู้ยืมเงินหลังจากนี้ไปจะมีต้นทุนทางกการเงินที่สูงขึ้นอย่างน้อย 1-2% เพราะเป็นบริษัทที่ไม่มีหลักประกัน และมีความเสี่ยงสูง....ไม่เชื่อโปรดรอดู...

และหากต่อไปคณะผู้บริหารแผน ทำตามแผนไม่สำเร็จ เพราะจำนวนหนี้ทั้งหมดไม่ได้ลดลงแม้แต่น้อย มีแต่ยืดระยะเวลาออกไป 7-14-18 ปี แทบทั้งสิ้น

การลดทุนก็ไม่ปรากฎโดอาจสุ่มเสี่ยงมากที่บริหารแผน 5 ปีไม่สำเร็จ และต้องใช้วิธีขยายระยะเวลาออกไปปีต่อปี จน 7 ปี เมื่อถึงตอนนั้นจะต้องนำเรื่องเข้าสู่ศาลเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายต่อไป

แต่ในระหว่างทางคณะผู้บริหารแผนสามารถปรับปรุงแผนได้ แต่ต้องเรียกประชุมเจ้าหนี้ และเสนอให้ศาลล้มละลายรับด้วย หากสำเร็จตามแผน ก็คืนสิทธิการบริหารให้ผู้ถือหุ้น ซึ่งถึงตอนนั้นบรรดาผู้ถือหุ้นรายใหญ่ น่าจะกลายเป็นกลุ่มคนใหม่เรียบร้อย...เพี้ยงขอให้อย่าเป็นเช่นนี้เลย...ผมเพียงแค่เขียนเส้นทางให้เห็นเท่านั้นนะครับ...

แต่ขอให้เปะข้างฝาไว้!