สุกี้แห้งแบบไทยๆ 

01 พ.ค. 2564 | 05:00 น.

ข่าวเศรษฐกิจ อัพเดทข่าววันนี้ ราคาทอง น้ำมัน ข่าวตลาดหุ้น การเงิน ธุรกิจ อสังหาริมทรัพย์ การตลาด เจาะลึกแบบตรงประเด็น | ฐานเศรษฐกิจ

 

ไทยโบราณรู้จักสุกี้ว่าเป็นคน ในนามสุกี้พระนายกองตั้งค่ายอยู่โพธิ์สามต้น ยามเมื่ออยุธยาเป็นราชธานีต้องไฟสงครามพม่ารามัญเข้ามาหาญหักทีมสุกี้ก็ชิงชัยเอาเมืองไปจนได้

ไทยไม่โบราณรู้จักสุกี้ว่าเป็นกับข้าวญี่ปุ่นมีหมูมีเนื้อหั่นบางบางลวกในนํ้าปรุงสีหวานๆเข้าวุ้นเส้นผักกาดขาวกินโดยล้อมวงโดยเฉพาะเมื่ออากาศหนาวต่างกันกับชาบูและนาเบะซึ่งจะขอยกไว้ไม่กล่าวถึงในที่นี้

ในขณะที่จีนแต้จิ๋วจีนไหหลำในเมืองไทยลวกของอย่างเดียวกันในนํ้าซุปรสเค็มกินเอารสมันด้วยการใส่เต้าหู้ยี้สีชมพูลงปรุงเป็นนํ้าจิ้มลอยงาคั่วสีขาวๆ แล้วดัดแปลงให้รับประทานกันสะดวกขึ้นโดยลำพังไม่ต้องล้อมวงกิน 

แยกจานเดี่ยวผัดของต้องลวกทั้งนั้นในกระทะเผาไฟให้ร้อนแดงดี ระอุแล้วเติมไข่ไก่ตีฟองลงไปเคล้าพร้อมกันกับสาดนํ้าจิ้มเต้าหู้ยี้งาคั่วปรุงรสเค็มเต้าหู้เปรี้ยวกระเทียมดองหอมมันเมล็ดงาลงไปโดยราไฟไม่ให้ไข่ไก่นวลเนียนนั้นกระด้างแข็งก็ได้ หอมกระทะดีแล้วเทลงจานเชิญมาเสิร์ฟพร้อมนํ้าจิ้มพิสดารวางเคียงอีกรอบหนึ่งเอาใจคนชอบรสจัด

สุกี้แห้งแบบไทยๆ 

 

 

สุกี้แห้งแบบไทยๆ 

สุกี้แห้งแบบไทยๆ 

‘ร้านสุกี้แห้งยศเส’ ฉายาว่าสุกี้เอลวิสนัยยะว่าพัดไปเต้นไปในความเอร็ดอร่อยยาวยวนเป็นเจ้าหนึ่งซึ่งมีฝีมือเข้าท่าคงเส้นคงวาเจตนาใส่วุ้นเส้นแต่น้อยเน้นเครื่องโดยเฉพาะปลาหมึกแช่ด่างเนื้อกรอบ

‘ร้านสุกี้แห้งตรงข้ามโรงพยาบาลธนบุรี’ มีผู้ขนานนามว่าสุกี้เลิศรสตั้งแผงยามเย็นอยู่บนทางเท้าเจตนาใส่ผักกาดขาวหวานกรอบมีกุ้งสดเนื้อเด้งให้เลือกเติมลงไปผัดเข้าไปด้วยในไฟนั้นให้รสชาติกลมกล่อมหอมหวลนวลเนียน

ร้านสุกี้แห้งที่ขายข้าวผัดปูด้วยแถวนวมินทร์เกษตรผัดสุกี้แห้งอย่างว่าผัดข้าวคือต้องแห้งต้องไฟแรงอย่างว่าเมล็ดข้าวยามผัดนั้นต้องเต้นยิบๆขึ้นมาจากพื้นกระทะได้ เจ้านี้ใส่ไข่และแต่งสีวุ้นเส้นให้เข้มข้น จากนั้นจึงแนบนาบลงกับผิวกระทะร้อนแดงนั่นด้วยตะหลิวแผ่บาง นำเสิร์ฟด้วยความหอมไฟหอมกระทะกับนํ้าจิ้มรสจัดเข้ากระเทียมดองและพริกตำ

อนึ่งสูตรนํ้าจิ้มสุกี้แบบไทยไทย ใช้พริกแดงชี้ฟ้า, กระเทียมไทย, รากผักชี, นํ้าตาลทราย, นํ้าส้มสายชู, เกลือป่นและงาขาวคั่ว เต้าหู้ยี้และนํ้ามันงา

วิธีการคือตำรากผักชีกับกระเทียมให้ละเอียดเติมพริกแดงสีฟ้าบดเข้าไป เอาใส่หม้อต้มกับนํ้าตาลทราย_เกลือและนํ้าส้มสายชู เดือดดีแล้วจึงราไฟเคี่ยวให้งวด เย็นสนิทถึงบทบาทเต้าหู้ยี้_บดลงไปผสมให้เปนเนื้อเดียวกันหยอดนํ้ามันงาให้หอมกลิ่น หยอดงาขาวคั่วให้สวยสายตา ถ้าไม่อยากยุ่งยากนํ้าตาลนํ้าส้มลองใช้นํ้ากระเทียมดองดูทีปะไร

 

นสพ.ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 หน้า 24 ฉบับที่ 3,674 วันที่ 29 เมษายน - 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2564