VL เรือออกจากท่า

03 ก.พ. 2564 | 01:30 น.

VL เรือออกจากท่า : คอลัมน์เมาธ์ทุกอำเภอ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3650 หน้า 13 ระหว่างวันที่ 4-6 ก.พ.2564 By…เจ๊เมาธ์

 >> ในที่สุดกองทัพของเมียนมา ได้ก่อการรัฐประหารเพื่อป้องกันไม่ให้พรรค NLD สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก หลังจากที่ทางพรรคได้รับการเลือกตั้งเข้ามาอย่างถล่มทะลาย ซึ่งกองทัพอ้างว่ามีการตรวจพบทุจริตในการเลือกตั้งหลายรายการ อย่างไรก็ตาม มีการวิเคราะห์กันว่ากองทัพซึ่งเคยมีอำนาจสูงสุดในการบริหารประเทศมากว่า 50 ปี ก่อนที่ประเทศเมียนมาเดินทางเข้าสู่วิถีประชาธิปไตยและการเลือกตั้งในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มรู้สึกถึงการสูญเสียอำนาจและการควบคุมทิศทางของประเทศอย่างที่เคยเป็น ซึ่งสาเหตุเนื่องจากพรรค NLD เป็นพรรคที่เต็มไปด้วยพลเรือนที่มีมุมมองที่อยู่ตรงข้างกับกองทัพ จะมีโอกาสเข้ามาบริหารประเทศแทนที่กองทัพนั่นเอง  

           

ในฐานะที่เมียนมาเป็นประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดที่สุดประเทศหนึ่งของไทย การเกิดการรัฐประหารย่อมมีผลกระทบด้านจิตวิทยาต่อประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากการมีพื้นที่ชายแดนติดกันต่อเนื่องยาวกว่า 2,400 กิโลเมตร มีมูลค่าการค้าหลายแสนล้านบาท และมีภาคเอกชนไทยหลายรายที่อาจจะได้รับผลกระทบเพราะได้เข้าไปลงทุนในเมียนมา

 

มีการประเมินกันว่าเอกชนไทย ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ได้รับผลกระทบ เช่น กลุ่มพลังงานอย่าง PTTEP ซึ่งมีฐานรายได้จากการเข้าไปลงทุนในเมียนมาคิดเป็น 12% ของรายได้ กลุ่มค้าปลีกและเครื่องดื่ม CBG 10-15%, OSP 9%, BJC น้อยกว่า 2%, MAKRO TKN ILM น้อยกว่า 1% กลุ่มเช่าซื้อ AEONTS 4%, SAWAD 0.3% กลุ่มส่งออก DELTA 2% เป็นต้น  

 

อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงการประเมินเบื้องต้นเท่านั้น ในความเป็นจริงอาจจะไม่มีผลกระทบก็เป็นได้...เพราะเศรษฐกิจของเมียนมา ยังเดินหน้าต่อไปอยู่ดี ไม่ว่าจะมีหรือไม่การรัฐประหาร

>> CBG ของ เสถียร เศรษฐสิทธิ์ และ แอ๊ดคาราบาว ยืนยง โอภากุลกลายเป็นหุ้นที่โดนเพ่งเล็งจากนักลงทุนมากที่สุด ว่าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์รัฐประหารในเมียนมา เพราะนอกจากเมียนมาจะเป็นตลาดใหญ่ที่สร้างส่วนแบ่งทางการตลาดได้ถึง 10% ของยอดขาย CBG ยังมีโรงงานผลิตขวดแก้วที่กำลังจะเปิดดำเนินการในเมียนมาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นก็เป็นเพียงมุมมองที่มองในกรณีเลวร้ายที่สุดเอาไว้เพียงเท่านั้น เพราะถึงอย่างไร...ถึงแม้ว่าจะมีการรัฐประหารเกิดขึ้น แต่ระบบเศรษฐกิจของเมียนมาก็ยังต้องเดินหน้าไปอยู่ดี ดังนั้นเจ๊เมาธ์จึงคิดว่ายังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเป็นห่วงนะคะ ระแวงได้...แต่ไม่จำเป็นถึงกับต้องกลัวค่ะ

         

>> KBANK กลายเป็นหุ้นธนาคารเพียงตัวเดียวที่ราคาหุ้นขยับขึ้นหลังจากการแจ้งผลการดำเนินงานงวดปี 2563 เพราะถึงแม้ว่ากำไรสุทธิ 29,487 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 23.86% แต่ก็ยังเป็นกำไรที่มากกว่าที่ตลาดฯ คาดการณ์กันเอาไว้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการตั้งสำรองในสัดส่วนสูงถึง  32,064 ล้านบาท จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในขณะที่มุมมองของนักวิเคราะห์มองว่าโดยมองว่า KBANK จะได้ประโยชน์มากที่สุดหากเศรษฐกิจฟื้นตัวเนื่องจากมีสินเชื่อที่เป็น SME และ Retail และมีการตั้งสำรองหนี้ในช่วงที่ผ่านมาค่อนข้างมากทำให้มีโอกาสที่จะเห็นสำรองหนี้ลดลงในปีนี้ โดยล่าสุด บล.ไอร่าได้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายของ KBANK เป็น 145 บาท ซี่งในมุมมองของเจ๊เมาธ์...เจ๊มองว่าหุ้นธนาคารที่น่าสนใจยังคงเป็น KBANK BBL และ SCB ซึ่งทั้ง 3 ตัวนี้อาจจะมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง แต่ก็น่าลงทุนทั้ง 3 ตัวเลยค่ะ

>> ไปกันที่หุ้นจิ๋วแต่แจ๋วอย่าง VL กันอีกสักที ราคานี้เห็นราคาหุ้นนิ่งๆ แบบไม่ค่อยมีอะไร...แต่ถ้าพูดถึงสตอรี่แล้วน่าสนใจมากนะคะ ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนแบ่งการตลาดเรือขนส่งน้ำมันอันดับที่ 2 ของตลาด หรือว่าจะเป็นเรื่องเรือลำใหม่ที่จะเข้ามาช่วยเสริมทัพด้วยการใช้กลยุทธ์การขายเรือลำเล็กเพื่อซื้อเรือที่ใหญ่กว่า...สร้างรายได้เพิ่มขึ้นอีก 25% ต่อปี จากการเพิ่มการให้บริการเพิ่มขึ้นอีก 45% ในช่วงปี 64-66 ในขณะที่อัตราส่วนการทำกำไรก็จะขยายตัวมากขึ้นไปอีก โดยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/63 ได้มีเรือเพิ่มเข้ามา 1 ลำ เมษายน 64 อีก 1 ลำ และในปี 65-66 จะเพิ่มเข้ามาอีกปีละ 1 ลำ โดยที่ทั้งหมดมีสัญญาการเช่าเรือเอาไว้เรียบร้อยแล้วล่วงหน้า โดยมีอัตราส่วนการทำกำไรเป็นไปตาม Economies of scale จาก 18.6% เพิ่มขึ้นเป็น 24.2% ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เห็นอย่างงี้แล้วเจ๊เมาธ์จะไม่เอามาเล่าให้ฟังได้ยังไงกันค่ะ มีของดีๆ มันต้องบอกต่อค่า

         

>> KTC เป็นหุ้นอีกหนึ่งตัวที่นักวิเคราะห์จากหลายสำนัก ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าราคาหุ้นหน้ากระดานสูงกว่าพื้นฐานที่ควรจะเป็น โดย บล.เอเชีย เวลท์ ให้ราคาเป้าหมายเอาไว้ที่ 57 บาท บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง ให้ราคาเป้าหมายที่ 46.00 บาท และ บล.หยวนต้า ให้ราคาเป้าหมายเอาไว้ที่ 43.00 บาท เนื่องจากมองตรงกันว่าราคาหุ้นที่มีการปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทั้งยังมีปัญหาการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของที่ลดลงทั้งปี (ธปท.ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือน ส.ค.62) ปัญหาจากปัจจัยเสี่ยงของคุณภาพสินทรัพย์ในส่วนของลูกหนี้ที่เข้ามาตรการช่วยเหลือ ปัญหาการจัดการของภาครัฐของ Covid-19 ระลอกใหม่ และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ยังคงอ่อนแอ แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องของราคาหุ้นหน้ากระดานนอกจากจะมาจากเรื่องของปัจจัยพื้นฐานแล้ว ยังมีเรื่องของปัจจัยทางจิตวิทยาอีกด้วย ดังนั้นถ้าใครสนใจ KTC จ๊ก็แนะนำว่าต้องเฝ้าจอดีๆ นะคะ ของแบบนี้มันไม่แน่หรอกค่ะ