เศรษฐกิจจีนไม่พัง เพราะใช้อสังหาฯเป็นตัวปรับสมดุล

17 ต.ค. 2563 | 02:00 น.

เศรษฐกิจจีนไม่พัง เพราะใช้อสังหาฯเป็นตัวปรับสมดุล : โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์

เศรษฐกิจจีนไม่พัง  เพราะใช้อสังหาฯเป็นตัวปรับสมดุล

เศรษฐกิจจีนได้ผ่านจุดเสี่ยงรุนแรงมาหลายครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ตามมาด้วยวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจีนเอง ที่ผู้เขียนลองนับดูมีเฉลี่ย 1 วิกฤติใหญ่ต่อทุก 2 ปี อาทิ วิกฤติหนี้รัฐบาลท้องถิ่น วิกฤติหนี้นอกระบบธนาคาร แต่กระนั้นก็ตามเศรษฐกิจก็ยังไม่พัง

 

แน่นอนที่ประเทศจีนมีหลายปัจจัยและนโยบายกระตุ้นภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ มีแนวคิดเรื่องการยกระดับเทคโนโลยีและผลิกวิกฤติเป็นโอกาสเสมอ แต่มีอีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลจีนใช้แบบเงียบๆ มาโดยตลอดคือการนำนโยบายตลาดอสังหาริมทรัพย์มาใช้เป็นตัวปรับสมดุลการเติบโต 

 

กล่าวคือยอมให้ตลาดอสังหาฯ ที่ถึงแม้มีฟองสบู่ซ่อนอยู่แล้ว ร้อนแรงเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยประคองการเติบโตเป็นระยะๆ ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ประเทศไทยควรพิจารณาว่าน่าจะมีการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ ทั้งในส่วนความต้องการซื้อภายในประเทศและจากต่างประเทศ

 

ทำไมเศรษฐกิจจีนจึงยังไม่พัง

 

ในระยะ 10 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจจีนได้ผ่านจุดเสี่ยงรุนแรงมาหลายครั้ง ตั้งแต่วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ในช่วงปี ค.ศ. 2008-09 ตามมาด้วยวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจีนเอง ได้แก่ วิกฤติหนี้รัฐบาลท้องถิ่น วิกฤติหนี้นอกระบบธนาคาร ปัญหา P2P การลงทุนเกินตัวในหลายอุตสาหกรรม ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ร้อนแรง ไปจนถึงสงครามการค้าจีนสหรัฐ และประเด็นเงินหยวนอ่อนค่าลง มีนักเศรษฐกิจหลายค่ายที่ทำนายว่าเศรษฐกิจจีนจะถดถอยรุนแรงในลักษณะ hard landing แต่กระนั้นก็ตามเศรษฐกิจจีนก็ยังไม่พังทลาย ในทางตรงกันข้ามประเทศจีนสามารถหลีกเลี่ยงวิกฤติเศรษฐกิจและรักษาระดับการเติบโตของเศรษฐกิจให้อยู่ในระดับที่ต่ำลงแต่มีความยั่งยืนได้ 

 

แน่นอน ประเทศจีนมีหลายปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีความยืดหยุ่นมาก อาทิ ขนาดของประชากรและกำลังซื้อภายใน บัญชีทุนที่เป็นระบบปิด ฯลฯ และรัฐบาลจีนมีการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจจีนมีแนวคิดสอดคล้องกันเรื่องการยกระดับเทคโนโลยี มุ่งเน้นการวิจัยพัฒนาพื้นฐาน และผลิกวิกฤติเป็นโอกาสมาโดยตลอด  

เศรษฐกิจจีนไม่พัง  เพราะใช้อสังหาฯเป็นตัวปรับสมดุล

 

 

นโยบายอสังหาฯ ถูกใช้เป็นตัวปรับการเติบโตเศรษฐกิจ

แต่มีอีกเครื่องมือหนึ่งที่รัฐบาลจีนใช้แบบเงียบๆ มาโดยตลอดคือการนำนโยบายตลาดอสังหาริมทรัพย์มาใช้เป็นตัวปรับสมดุลการเติบโต (balancer) กล่าวคือยอมผ่อนปรนให้ตลาดอสังหาฯ (ที่ถึงแม้มีฟองสบู่ซ่อนในบางส่วนอยู่แล้ว) ร้อนแรงเพิ่มขึ้นเพื่อช่วยประคองการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมเป็นระยะๆ มาตรการผ่อนปรนที่ใช้มีตั้งแต่การผ่อนปรนมาตรการการห้ามซื้ออสังหาฯ การผ่อนปรนเงื่อนไขการกู้อสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการเร่งอนุมัติโครงการก่อสร้าง 

 

โดยตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมามีสองช่วงที่การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์โดยรวมเติบโตเร็วกว่าการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรโดยรวม (อนุมานได้ว่าเป็นช่วงที่มีนโยบายผ่อนปรนอสังหาริมทรัพย์) ได้แก่ช่วงปี 2010-11 หลังวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และช่วงปี 2018-19 ที่ระอุไปด้วยสงครามการค้าจีนสหรัฐที่ทำให้การเติบโตถดถอยรุนแรง และในวิกฤติโรคระบาดปีนี้ ก็ดูเหมือนว่ากำลังมีแนวโน้มเป็นไปในแบบเดียวกันอีก 

 

สำหรับในระยะเวลาอื่นๆ ที่ผ่านมา การเติบโตของการลงทุนของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีความถดถอยกว่าการลงทุนโดยรวมทั้งสิ้น เพราะทิศทางโดยรวมคือยังต้องลดความร้อนแรงของราคาอสังหาริมทรัพย์อยู่

 

ประเทศไทยควรกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์หรือไม่ 

 

บริบทในเชิงโครงสร้างและวงจรของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยเทียบกับประเทศจีนมีความต่างกันมาก ตั้งแต่จำนวนประชากร นโยบายการควบคุมการถือครองกรรมสิทธิ์ ไปจนถึงแนวคิดเรื่องการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ ฯลฯ แต่ในภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงที่เรากำลังเผชิญอยู่นี้ ประเทศไทยควรพิจารณาถึงความจำเป็นของกระตุ้นตลาดอสังหาฯ แบบเป็นระบบทั้งในส่วนความต้องการซื้อภายในประเทศและจากต่างประเทศ 

 

หมายเหตุ:  ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut
 

เกี่ยวกับผู้เขียน : มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการเงิน ธนาคารไทยพาณิชย์ มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสารสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาโท MBA มหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา

 

หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3619 วันที่ 18-21 ตุลาคม 2563