มังกรพุ่งชนอินทรีย์ ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (1)

21 ส.ค. 2563 | 22:00 น.

มังกรพุ่งชนอินทรีย์ ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (1)  คอลัมน์มังกรกระพือปีก โดย... ดร.ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร รองประธานและเลขาธิการหอการค้าไทยในจีน

ฐานเศรษฐิจ  ฉบับ 3602 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 20-22 ส.ค.2563  

 

มังกรพุ่งชนอินทรีย์

ในเทควอร์ยุคหลังโควิด-19 (1)

 

ภายหลังสหรัฐฯ ออกมาตรการกีดกันทางการค้าต่อสินค้าของจีน และกลายพันธุ์เป็น “เทรดวอร์” (Trade War) ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ตามมาด้วยการยืมมือประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดาเปิดเกมส์ “เทควอร์” (Tech War) ผ่านผู้บริหารระดับสูงของหัวเหว่ย (Huawei)

 

ต่อมา รัฐบาลสหรัฐฯ ยังพยายามเรียกร้องให้พันธมิตรอย่างสหราชาณาจักร ออสเตรเลีย และอินเดีย ดำเนินมาตรการบอยคอตกิจการและกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านดิจิตัลของจีนหลายครั้งหลายหน

 

เข้าเดือนสิงหาคม 2020 ดูเหมือนว่าความร้อนแรงของเทควอร์จะพุ่งทะลุเกินพิกัด เมื่อผู้นำสหรัฐฯ ลงนามในคำสั่งประธานาธิบดี (Executive Order) บอยคอตแอพติ๊กต็อก (TikTok) และวีแชต (WeChat) ส่งผลให้โลกต้องหันกลับมาจับตามองความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนอย่างใกล้ชิดอีกครั้ง

 

การขับเคี่ยวจากภาครัฐและเอกชน …ลามถึงภาคประชาชน

 

คงไม่มีใครปฏิเสธถึงความเป็นผู้นำโลกด้านดิจิตัลและนวัตกรรมของสหรัฐฯ นับแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา แม้ว่ามีประเทศที่ก้าวขึ้นมาท้าชิงเป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นสหภาพโซเวียต เยอรมนี และญี่ปุ่น แต่ทั้งหมดต่างก็ต้องยอมยกธงขาวในเวลาต่อมา

 

บทบาทของภาครัฐนับว่ามีนัยความสำคัญสูงต่อความสำเร็จในการพัฒนาดังกล่าว การทุ่มเงินและสรรพกำลังอื่นของรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อการวิจัยและพัฒนาในสินค้าไฮเทค อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ จนแย่งชิงตำแหน่งผู้นำโลกจากญี่ปุ่นในยุคทศวรรษ 1990 นับเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด

 

บางคนอาจการนึกถึงการให้ความสำคัญกับการพัฒนาความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน และการพัฒนาองค์กรหลักอย่างนาซ่า สถาบันการศึกษา และการพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้อง

 

อย่างไรก็ดี นับแต่เปลี่ยนเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 จีนเริ่มขยับขึ้นมาเป็นคู่ต่อสู้รายใหม่ จีนเรียนรู้และเรียนลัดปัจจัยแห่งความสำเร็จจากผู้นำอย่างสหรัฐฯ

 

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้จัดสรรงบประมาณด้านวิจัยและพัฒนาในระดับ 3-4% ของจีดีพีในแต่ละปี ซึ่งหากพิจารณาว่า เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงก็เท่ากับว่า จีนใส่เงินเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน

 

ภาพการพัฒนาด้านนวัตกรรมและไฮเทคของจีนโดดเด่นชัดเจนมากขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ดัชนีนวัตกรรมของจีนก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วเฉลี่ยมากกว่า 1 อันดับต่อปี จนอยู่ในระดับที่ 15 ของโลกในปัจจุบัน ถึงขนาดตั้งเป้าจะก้าวแซงสหรัฐฯ ได้ภายในปี 2030 หรือในปีราว 10 ปีข้างหน้า

 

สัญญาณเตือนดังกล่าวทำเอาสหรัฐฯ อยู่นิ่งเฉยไม่ได้ และเริ่มเดินหน้ามาตรการชะลอการสยายปีกของธุรกิจดิจิตัลและนวัตกรรมของจีนมาอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่มีครั้งใดที่การออกมาตรการสกัด “ดาวรุ่ง” จะเป็นแบบ “เปิดหน้าชก” เฉกเช่นในยุคสมัยของประธานาธิบดีโดนัลส์ ทรัมป์

 

นอกจากนี้ เรายังสังเกตเห็นรัฐบาลสหรัฐฯ เดินเกมส์อย่างสลับซับซ้อนมากขึ้นในระยะหลัง โดยขยายวงจากบทบาทนำในการพัฒนาระบบนิเวศน์ภายในประเทศไปสู่การแทรกแซงเพื่อกีดกันการเติบใหญ่ของธุรกิจต่างชาติ

 

รัฐบาลสหรัฐฯ กระโดดเข้าขัดขวางการส่งออกสินค้าไฮเทคไปยังตลาดจีน และการขายกิจการด้านดิจิตัลให้แก่นักลงทุนจีน บ่อยครั้งก็ยังแสดงท่าทีไม่เห็นด้วยกับการที่กิจการจีนไปขึ้นทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นิวยอร์ค

 

สถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยก็เป็นอีกเวทีหนึ่งที่ปะทะกันอย่างร้อนแรง รัฐบาลสหรัฐฯ ไม่ต้องการสูญเสียทรัพยากรมนุษย์ของตนเองในการโยกย้ายถิ่นฐานไปทำงานในจีน แม้กระทั่งนักศึกษาจีนจำนวนมากที่ไปศึกษาต่อในสหรัฐฯ ก็ถูก “เหยียดชาติ” หรือถูกกีดกันในการทำวิจัยเชิงลึกมากขึ้นโดยลำดับ

 

แต่ด้วยศักยภาพและชั้นเชิงที่ไม่ห่างชั้นกันมาก คู่ท้าชิงใหม่อย่างจีนก็ดูจะไม่ยอม “ตั้งรับ” เพียงฝ่ายเดียวดังเช่นประเทศอื่น เราจึงเห็นการออกมาตรการแก้แกมส์ของรัฐบาลจีนเป็นระยะเช่นกัน

ในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้ผลักดัน “โครงการพรสวรรค์พันคน” (Thousand Talents Program) ซี่งต่อมาขยายกรอบการดำเนินโครงการครอบคลุมในหลายมิติ อาทิ การดึงคนจีนที่มีความสามารถเฉพาะด้าน และคนจีนโพ้นทะเลกลับประเทศ รวมทั้งชาวต่างชาติที่มีความรู้ความสามารถจากทั่วโลกโดยไม่จำกัดสัญชาติผ่านระบบกรีนการ์ด แถมยังแยกกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุ 40-55 ปี และกลุ่มพรสวรรค์ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี เป็นต้น

 

ต่อมา การชิงไหวชิงพริบยังสะท้อนถึงความขัดแย้งระหว่างกันที่หยั่งลึกลงไปถึงภาคเอกชน โดยเมื่อเดือนเมษายน ที่ผ่านมา แบ้งค์ชาติจีนก็ชิงตัดหน้านำร่องทดลองใช้เงินหยวนดิจิตัล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินมาตรการสนับสนุนนโยบายการพัฒนาเงินหยวนเป็นสกุลเงินสากล อันจะนำไปสู่การลดระดับการพึ่งพาเงินเหรียญสหรัฐฯ ในเวทีเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

 

ขณะเดียวกัน สิ่งนี้เป็นเสมือนการลดบทบาทเงินลิบรา (Libra) ในเวทีเศรษฐกิจและการเงินโลก สกุลเงินดิจิตัลนี้ริเริ่มโดยเฟซบุ๊ก (Facebook) กิจการข้ามชาติรายใหญ่ของสหรัฐฯ และมีรัฐบาลสหรัฐฯ อยู่เบื้องหลัง การเปิดตัวเงินหยวนดิจิตัลเร็วกว่าเงินลิบราไปหนึ่งก้าวก็ทำให้แผนการที่วางไว้ของสหรัฐฯ ดูจะไปถึงฝั่งฝันยากมากขึ้นเป็นทวีคูณ