ต้องอัดฉีด เงินก้อนโต พยุงเศรษฐกิจ

04 เม.ย. 2563 | 02:00 น.

บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3563 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 5-8 เม.ย.63

องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีโลกปีนี้จะหดตัวเหลือ 1.6% จากปี 2562 ขยายตัว 2.9% ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ปรับลดคาดการณ์จีดีพีไทยปีนี้เป็นติดลบที่ 5.3% และส่งออกติดลบถึง 8.8% จากผลกระทบโควิด-19 กระทบต่อการค้าระหว่างประเทศหดตัว

 

ขณะที่ศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินหากสถานการณ์เลวร้ายโควิด-19 หากยาวถึงปลายปี 2563 นี้ จีดีพีโลกจะติดลบ 2.5% และจีดีพีไทยติดลบ 5.3%

 

ส่วนดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกุมภาพันธ์ 2563 หดตัวลงเมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.19% รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ระดับ 90.2 ต่ำสุดในรอบ 21 เดือน และคาดการณ์ว่าถึงพฤษภาคม 2563 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ จะปรับตัวลดลงอีก

ตัวเลขดังกล่าวถือว่าอยู่บนสมมติฐานของสถานการณ์ปัจจุบัน ที่ยังไม่ทราบว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะรุนแรงถึงระดับไหน เพราะนับวันสถานการณ์ยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเป็นลำดับ โดยตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสมทั่วโลกเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2563 พุ่งขึ้นไปกว่า 1 ล้านราย เสียชีวิต 52,298 ราย ส่วนของไทยมีผู้ติดเชื้อสะสมที่ 1,978 ราย มีผู้เสียชีวิต 19 ราย

 

การคาดการณ์จากตัวเลขต่างๆ ถือว่า เป็นสัญญาณอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจ และจะยิ่งรุนแรงมากขึ้น หากรัฐบาลไม่ใช้ยาแรงหรืออัดเม็ดเงินก้อนใหญ่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนให้มีรายได้ อยู่รอดท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น เพราะเพียงมาตรการแจกเงิน 5 พันบาท ยังไม่ครอบคลุมกับผู้ที่ได้รับผลกระทบในทุกภาคส่วน

 

หลายฝ่ายมองว่า การออกอนุมัติพระราชกำหนดการเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาและบรรเทาผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการโอนงบประมาณบางส่วนของแต่ละกระทรวง จำเป็นต้องมีเม็ดเงินก้อนใหญ่เข้ามาช่วย เพื่อให้ เพียงพอที่จะมาบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ เพราะวิกฤติครั้งนี้ถือว่ารุนแรงกว่าครั้งใดๆ ประชาชน ผู้ประกอบการธุรกิจภาคบริการ ถูกผลกระทบกันทั่วหน้า

 

ขณะที่การออกมาตรการเยียวยาผลกระทบระยะที่ 3 เพื่อมาดูแลทุกกลุ่มที่ได้รับผลกระทบ ทั้งกลุ่มภาคเอกชนที่ต้องการความช่วยเหลือ การดูแลภาคเกษตรกร ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจค้าปลีก พนักงานกินเงินเดือน เป็นต้น ก็พอปะทังไปได้ระดับหนึ่งเท่านั้น

 

การจะฝ่าวิกฤติไวรัสโควิด-19 ครั้งนี้ ไปได้ นอกจากทุกภาคส่วนจะช่วยกันหยุดเชื้อเพื่อชาติตามมาตรการต่างๆ และต้องปฏิบัติตัวตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินหรือเคอร์ฟิวระหว่างเวลา 22.00-04.00 น. แล้วก็ตาม ต้องฝากความหวังไปที่รัฐบาลด้วยว่าจะหาเม็ดเงินก้อนโตมากพอ ที่จะมาเร่งอัดฉีดเงินเข้าไปต่อลมหายใจให้ธุรกิจทุกขนาดที่เกิดปัญหา ประชาชนที่เดือดร้อน ให้มีชีวิตรอดอยู่ได้ ภายใต้การรักษาระบบการเงินของประเทศเอาไว้ให้ได้อย่างไร