ปลดล็อก “บริษัทมหาชน” แก้กฎหมายในรอบ 29 ปี รวดเดียว 6 ประเด็น

12 พ.ค. 2564 | 00:00 น.

มติที่ประชุมครม. เห็นชอบแก้ไข ร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด 2535 แก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น ให้ทันสมัยขึ้นในรอบ 29 ปี

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันอังคารที่ 11 พ.ค. 64 มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมให้ทันสมัย 6 ประเด็น ถูกเสนอโดยกระทรวงพาณิชย์ (พณ.) ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรต่อไป 

ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 หรือเมื่อ 29 ปีที่แล้ว โดยเป็นการปรับปรุงใน 6 ประเด็น ให้สามารถดำเนินการผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์หรือโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันและอำนวยความสะดวกแก่บริษัทมหาชนจำกัด 

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ  เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 สรุปได้ดังนี้ 

1. เพิ่มเติมช่องทางโฆษณาทางอื่นนอกจากทางหนังสือพิมพ์ โดยกำหนดให้การโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัท สามารถดำเนินการทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์อื่นใดแทนการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ก็ได้ (เดิมกำหนดให้บริษัทมหาชนจำกัดมีหน้าที่บอกกล่าว แจ้งข้อความ หรือโฆษณาข้อความเกี่ยวกับบริษัทให้ประชาชน ผู้ถือหุ้นทราบทางหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาไทย) 

2. เพิ่มเติมช่องทางการส่งเอกสาร โดยกำหนดให้บริษัทหรือคณะกรรมการสามารถส่งหนังสือหรือเอกสารให้แก่กรรมการ ผู้ถือหุ้น หรือเจ้าหนี้ของบริษัท โดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้  

3. แก้ไขเพิ่มเติมวิธีการประชุมกรรมการ และเพิ่มเติมช่องทาง เพื่อให้คณะกรรมการอาจประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยกำหนดให้มีการประชุมคณะกรรมการ หรือการประชุมผู้ถือหุ้นผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมายว่าด้วยการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดสถานที่ที่ถือเป็นสถานที่จัดการประชุมในกรณีดังกล่าว 

ได้แก่ สำนักงานใหญ่ของบริษัทหรือจังหวัดใกล้เคียงเว้นแต่ข้อบังคับจะกำหนดให้ประชุม ณ ท้องที่อื่น ทั้งนี้ จะต้องอยู่ภายในราชอาณาจักร และกำหนดให้การประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นการประชุม ณ สำนักงานใหญ่ของบริษัท 

4. แก้ไขเพิ่มเติมการเรียกประชุมกรรมการ โดยกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการเรียกประชุม เช่น กำหนดให้มีการเรียกประชุมได้ในกรณีที่ไม่มีประธานกรรมการ โดยให้รองประธานเป็นผู้เรียกประชุม และถ้าไม่มีทั้งประธานกรรมการและรองประธานกรรมการ ให้กรรมการตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปมีอำนาจเรียกประชุมได้  

5. กำหนดให้ผู้ถือหุ้นที่เรียกประชุมผู้ถือหุ้นเองส่งหนังสือนัดประชุมโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้เช่นเดียวกับกรณีที่คณะกรรมการบริษัทมหาชนจำกัดเรียกประชุม 

6. กำหนดให้มีการมอบฉันทะโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าประชุมผู้ถือหุ้นแทนได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :