ระนองเดินหน้า ท่าเรือ3 รับแผนฮับขนส่งในภูมิภาค  

19 เมษายน 2564

ระนองเฮ แลนด์บริดจ์คืบ คมนาคมคลอดเกณฑ์เลือกที่ตั้ง 2 ท่าเรือเชื่อม 2 คาบสมุทร  มุ่งฮับคมนาคมขนส่ง ทางเลือกใหม่โลจิสติกส์ทดแทนช่องแคบมะละกา การท่าเรือฯเปิดเวทีฟังความเห็นโครงการสร้างท่าเทียบเรือแห่งที่ 3  

นายสมเกียรติ  ศรีษะเนตร ผู้ว่าราชการจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จังหวัดระนองเดินหน้าในการดำเนินสร้างท่าเรือแห่งที่ 3 เพื่อรองรับยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้อย่างยั่งยืน (Southern Economic Corridor: SEC) ที่ตั้งเป้าหมายให้จังหวัดระนองเป็นฮับ หรือศูนย์กลางการขนส่งทางทะเลด้านตะวันตกโดยในวันที่ 8-9 เมษายน 2564 การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ครั้งที่ 1 ต่อร่างข้อเสนอโครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการท่าเทียบเรือแห่งที่ 3 ท่าเรือระนอง ภายใต้งานจ้างที่ปรึกษาสำรวจออกแบบ (Detail Design) และศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาศักยภาพท่าเรือ  ระนองเดินหน้า ท่าเรือ3  รับแผนฮับขนส่งในภูมิภาค  

โครงการท่าเรือระนองเป็นท่าเรือหลักฝั่งตะวันตก ตั้งอยู่ริมฝั่งปากแม่น้ำกระบุรี ตำบลปากน้ำ อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง ซึ่งร่องน้ำมีความลึก 8-10 เมตรจากระดับน้ำลงต่ำสุด ปัจจุบันท่าเรือระนองมีท่าเรือ จำนวน 2 ท่า ได้แก่ 

ท่าเรือที่ 1 มีขนาดความยาวของท่า 134 เมตร มีขนาดความกว้าง 26 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าได้ขนาดไม่เกิน 12,000 เดตเวทตัน มีสะพานเชื่อมเข้าสู่ฝั่งกว้าง 10 เมตร ยาว 212 เมตร จำนวน 2 สะพาน และ

ท่าเรือที่ 2 มีขนาดความยาวของท่า150 เมตร มีขนาดความกว้าง 30 เมตร สามารถรองรับเรือสินค้าได้ขนาดไม่เกิน 12,000 เดตเวทตัน มีสะพานเชื่อมเข้าสู่ฝั่งกว้าง 7.50 เมตร ยาว 212 เมตร จำนวน 1 สะพาน และมีสะพานเชื่อมระหว่างท่าเทียบเรืออเนกประสงค์กับท่าเรือตู้สินค้า กว้าง 10 เมตร ยาว 40 เมตร 

แลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง

ปัจจุบัน กทท.เป็นผู้บริหารท่าเรือระนอง รองรับการขนส่งฝั่งอันดามัน เชื่อมโยงกับเส้นทางการค้ากับประเทศแถบเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง ยุโรป และแอฟริกา กทท. จัดจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา (Consortium) ประกอบด้วย บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ดำเนินการศึกษาและสำรวจออกแบบ (Detail Design) รวมทั้งศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในการพัฒนาศักยภาพท่าเรือระนอง และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ) เพื่อเสนอต่อหน่วยงานอนุญาต และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาให้ความเห็นชอบประกอบการขออนุญาตในลำดับถัดไป 

โดยท่าเทียบเรือที่ 3 จะมีความยาว 180 เมตร และลานวางตู้สินค้าจะมีพื้นที่ใช้สอยรวม 33,000 ตร.ม. สามารถรองรับปันจั่นหน้าท่าล้อยาง (Mobile Harbor Crane) จำนวน 1 คัน รองรับตู้สินค้าได้ 240,000 ทีอียู 

นอกจากโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือที่ 3 ท่าเรือระนองข้างต้น นายนิตย์   อุ่ยเต็กเค่ง  รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง กล่าวว่า ก่อนหน้านี้กรมเจ้าท่าทำแผนศึกษาด้านวิศวกรรม เศรษฐศาสตร์ และสิ่งแวดล้อม และบำรุงรักษาร่องน้ำท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง เพื่อขยายศักยภาพท่าเรือระนอง ให้รับเรือได้สูงสุด 12000  DWT สำหรับการดำเนินการขุดลอกและบำรุงรักษาร่องน้ำท่าเรืออเนกประสงค์ระนอง 

เป้าหมายเพื่อพัฒนาให้เป็นประตูสู่การท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ ให้สอดรับกับแนวทางการพัฒนาพื้นที่ ท่องเที่ยวชายฝั่งทะเลอ่าวไทย ( Royal  Coast) และเชื่อมโยงเส้นทางการท่องเที่ยวจาก จ.ชุมพรไปสู่แหล่งน้ำแร่และเกาะของ จ.ระนอง และเกาะของประเทศเมียนมา 

ระนองเดินหน้า ท่าเรือ3  รับแผนฮับขนส่งในภูมิภาค  

ควบคู่กับการพัฒนาเมืองระนองให้เป็น Smart Living City ที่มีการวางผังเมืองและระบบสาธารณูปโภค ที่ทันสมัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว ปรับปรุงทางหลวงเชื่อมโยงระหว่างชุมพร-ระนอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางได้อย่างสะดวกปลอดภัย การเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟสายใหม่ระหว่างชุม-ระนอง ที่จะสนับสนุนให้เกิดการใช้ประโยชน์จากท่าเรือระนอง สำหรับการเป็นประตูฝั่งตะวันตก (Western  Gatway)  ตลอดจนการเชื่อมโยงการขนส่งกับภูมิภาคเอเชียใต้ในอนาคต 

นายนิตย์กล่าวอีกว่า อีกทั้งเมื่อเร็ว ๆ นี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จัดประชุมออนไลน์ ติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ และเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ชี้แจงว่า ขณะนี้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) อยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์การคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนา 2 ท่าเรือ คือ 1.ท่าเรือระนอง และ 2.ท่าเรือชุมพร โดยพิจารณาทั้งพื้นที่โครงการฝั่งอันดามันและอ่าวไทย 

ทั้งนี้  ถือเป็นข่าวดีมากที่สุด และเริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนมากขึ้น สำหรับแผนการพัฒนาและการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาในพื้นที่ภาคใต้ของรัฐบาล ที่จะส่งผลให้จังหวัดระนองถูกยกขึ้นเป็นเมืองฮับแห่งการขนส่งสินค้าที่สำคัญในภูมิภาค เทียบเท่าช่องแคบมะละกา ซึ่งจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ของประเทศ  

ที่ประชุมมีรายละเอียดว่า การคัดเลือกทำเลที่ตั้งโครงการพัฒนาท่าเรือทั้ง 2 ฝั่ง ต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านวิศวกรรม ด้านสิ่งแวดล้อม และด้านเศรษฐกิจ คาดว่าจะสามารถสรุปผลการคัดเลือกได้ในช่วงเดือน มิ.ย.2564  นี้ ก่อนที่กรมทางหลวง (ทล.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะศึกษาความเหมาะสม และออกแบบเบื้องต้น แนวเส้นทางโครงการมอเตอร์เวย์ และทางรถไฟสายใหม่ชุมพร-ท่าเรือระนอง ตามกรอบดำเนินการโครงการแผนแม่บทโครงข่ายทางรถไฟร่วมกับมอเตอร์เวย์ (MR MAP) เชื่อมต่อท่าเรือ 2 ฝั่งทะเลต่อไป 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,671 วันที่ 18 - 21 เมษายน พ.ศ. 2564