พลิกโฉมสงกรานต์เหนือ แบบนิวนอร์มอล

12 เม.ย. 2564 | 05:55 น.

จังหวัดภาคเหนือปรับสงกรานต์ในสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ระบาด เชียงใหม่ชวน “สืบฮีตโตยฮอย เมืองเจียงใหม่ 725 ปี” งดเล่นน้ำรอบคูเมืองเด็ดขาด ด้านลำปางโชว์“สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง”

จังหวัดภาคเหนือปรับสงกรานต์นิวนอร์มอลในสถานการณ์เชื้อโควิด-19 ระบาด เชียงใหม่ชวน “สืบฮีตโตยฮอย เมืองเจียงใหม่ 725 ปี” งดเล่นน้ำรอบคูเมืองเด็ดขาด ด้านลำปางโชว์“สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง

 

จังหวัดภาคเหนือเป็นจุดเช็คอินหลักสำหรับเทศกาลสงกรานต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หวังร่วมประสบการณ์สาดน้ำ แต่ในสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ปีนี้คลายมาตรการเพิ่มจากปีที่แล้ว ที่ให้งดทุกกิจกรรมโดยสิ้นเชิง มาเป็นให้จัดเชิงประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิม งดสาดน้ำและให้เว้นระยะห่าง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ที่สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ นายสุรพล ภู่บุบผา รองปลัดเทศบาลนครเชียงใหม่ เป็นประธานการประชุมสรุปกิจกรรมในการจัดงานประเพณีสงกรานต์ ประจำปี 2564 โดยจังหวัดเชียงใหม่ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงใหม่ เทศบาลนครเชียงใหม่ และหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายภาคประชาสังคม กำหนดจัดงานประเพณีสงกรานต์เชียงใหม่ ประจำปี 2564 ภายใต้แนวคิด “สืบฮีตโตยฮอย เมืองเจียงใหม่ 725 ปี” ให้เป็นไปตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 

โดยมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่มีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก งดการเล่นสาดน้ำรอบคูเมืองโดยเด็ดขาด แต่ยังคงการจัดกิจกรรมประเพณีต่างๆ ไว้ เช่น กิจกรรมสรงน้ำพระพุทธสิหิงค์ ณ บริเวณด้านหน้าวิหารลายคำ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร เพื่อให้ประชาชนได้สรงน้ำ กิจกรรมยอสวยไหว้สาพญามังราย ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ พิธีขอขมาและบวงสรวงเศียรท้าวกบิลพรหม องค์มหาสงกรานต์ ณ สำนักงานเทศบาลนครเชียงใหม่ การประกวดแม่ญิงขี่รถถีบกางจ้อง ณ ลานประตูท่าแพ ฯลฯ เพื่อสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมของชาวล้านนาสืบไป โดยผู้เข้าร่วมงานต้องปฎิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด

เช่นเดียวกับที่จังหวัดลำปาง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง แถลงการจัดงาน “งานสลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมือง นครลำปาง ประจำปี 2564” ระหว่างวันที่ 10-13 เมษายน 2564 บริเวณสนามหน้าพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้เมืองลำปาง (มิวเซียมลำปาง) ตามแนวทางการจัดงานประเพณีวิถีใหม่ (New Normal) ภายใต้แนวคิด “สุขก๋าย ม่วนใจ๋ ปลอดภัย ไร้โควิด-19” เน้นการปฏิบัติตามมาตราการป้องกันโรคโควิด-19 ทั้งก่อนเข้างานและภายในงาน

โดยทางจังหวัดขอความร่วมมือกับทุกภาคส่วน สามารถทำกิจกรรมประเพณีวัฒนธรรมต่างๆ ตามประเพณีสงกรานต์ได้ อาทิ ทำบุญสรงน้ำพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ การสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง โดยวิถีปฏิบัติแต่ดั้งเดิม ใช้ขันสลุง (-ภาชนะใส่น้ำลักษณะเดียวกับขันน้ำ ส่วนใหญ่ทำจากโลหะเงิน) นั้นแทบไม่มีการสัมผัสกันเลย โดยจะตักน้ำส้มป่อยที่ใช้ในการขอขมาใส่สลุงหลวง แล้วไปสรงน้ำพระ ส่วนการเล่นน้ำสาดน้ำของด

“ตั้งแต่มีโควิด 19 ระบาด มาจะเห็นว่ากลไก ที่สำคัญที่สุดก็คือ อสม.กับกำนันผู้ใหญ่บ้านที่อยู่ในพื้นที่ ในการจัดงานประเพณี ก็คงจะดูให้เข้มมากขึ้น ไม่ได้ดูเรื่องโควิดเพียงอย่างเดียว ต้องดูเรื่องการจราจร อุบัติเหตุ เรื่องของแอลกอฮอล์ด้วย ก็พยายามจะดูแลให้พี่น้องประชาชนได้ปลอดภัย ออกไปทำบุญก็กลับบ้านโดยปกติสุขให้ดีมากที่สุด” นายณรงค์ศักดิ์กล่าว

การอัญเชิญสลุงหลวง (ขันเงินใบใหญ่) แห่ในขบวนนี้เพื่อที่จะรับน้ำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมจากประชาชนทั้งสองข้างทาง เพื่อรวบรวมที่จะสรงน้ำพระเจ้าแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง และในสลุงหลวงก็จะมีน้ำทิพย์ น้ำศักดิ์สิทธิ์จาก 13 อำเภออยู่ในสลุงด้วย

ด้านนายวิสูตร บัวชุม ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานลำปาง เปิดเผยว่า ปีนี้ ททท.โดยภาพรวมเราจัดให้ลำปางเป็นพื้นที่หลัก ของการส่งเสริมการท่องเที่ยวที่เป็นสงกรานต์ คาดว่างานคึกคักแน่นอน ในช่วงประเพณีสงกรานต์ของจังหวัดลำปาง ปกติจะมีเงินสะพัดประมาณ 50-60 ล้านบาท ปีนี้ขอแค่ 30 ล้านบาท แต่นักท่องเที่ยวเข้ามาคิดว่าการเข้าพักเกิน 50% ของห้องพักที่มี 3,500 ห้องแน่นอน บางวันจะเต็มแน่นอน เพราะว่าส่วนหนึ่งก็คนเดินทางกลับบ้าน มาพักโรงแรมก็จะสะดวกกว่า และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการท่องเที่ยวพ่วงลำปาง-ลำพูน

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,668 วันที่ 8 - 10 เมษายน พ.ศ. 2564

ข่าวที่เกี่ยวข้อง