ลงทุนสตาร์ทอัพหงอย หน้าใหม่แจ้งเกิดยาก

27 มี.ค. 2564 | 10:30 น.

กูรูสตาร์ทอัพ ชี้ภาพรวมลงทุนเงียบเหงา เวนเจอร์แคป เลือกใส่เงินต่อยอดสตาร์ทอัพ ที่มีฐานตลาด-ลูกค้า ส่วนดีลเล็ก ระดับ Seed Stage เงินลงทุนไม่เกิน 60 ล้านบาท หายเรียบ โอกาสเกิดผู้ประกอบการรายใหม่ยากขึ้น

นายสมโภชน์จันทร์สมบูรณ์ ซีอีโอ เคทีเวนเจอร์ แคปิตอล (KT Venture Capital) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมการลงทุนสตาร์ทอัพในปีนี้จะเกิดขึ้นเฉพาะดีลใหญ่ๆ แต่ยังไม่เห็นตัวเลขที่ชัดเจน ขณะที่ดีลเล็กๆ อย่างการลงทุนในสตาร์ทอัพที่เป็น Seed Stage ที่มีเม็ดเงินลงทุนไม่ถึง 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 60 ล้านบาท (อัตรา 30 บาท ต่อดอลลาร์สหรัฐ) นั้นหายไปจำนวนมาก จะเห็นว่าในปีที่ผ่านมาสตาร์ทอัพกลุ่มนี้หายไปกว่าครึ่งและปีนี้ก็คาดว่าจะหายไปจากปีที่แล้วอีกไม่ต่ำกว่า 40%

“สตาร์ทอัพที่น่าสนใจในปีนี้ยังคงเป็น DeepTech, FoodeTech, AI, Machine Learning โดยฟู้ดเทค สตาร์ทอัพสายไบโอเทคที่ออกจากแล็บแล้วมาทำคอมเมอร์เชียลได้พวกนี้จะเติบโตได้ดี ซึ่งสตาร์ทอัพที่น่าจับตาในปีนี้ก็จะมี จู๊ซอินโนเวต (JuiceInnov8), เพอเซ็ปทรา (Perceptra) ใช้แมชชีนเลิร์นนิ่งในการจำแนกโรคต่างๆ การสแกนปอดที่มีความแม่นยำเท่าหมอสแตนฟอร์ด 14 คนตรงนี้ถือว่าน่าจับตา และสตาร์ทอัพที่ทำเกี่ยวกับเรื่อง 5G ก็เรียกว่ามีแนวโน้มที่ดี ที่อยู่ในช่วงของการลองพัฒนาซึ่งยังไม่เห็นออกมาเป็นรูปเป็นร่าง ขณะที่ทางด้านบล็อกเชน บิทคอยน์ที่ได้รับความสนใจตั้งแต่ปีที่
ผ่านมาและปีนี้ก็ยังคงเติบโตต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตามแนวโน้มที่ดีขึ้นของภาพการลงทุนในสตาร์ทอัพไทยนั้น จะเกิดขึ้น
ได้ถ้ามีสัญญาณบวกในเรื่องของวัคซีนและการเปิดประเทศ เนื่องจากที่สหรัฐอเมริกาก็เริ่มเห็นแล้ว ซึ่งถ้าทิศทางในไทยเป็นแบบนั้นมีการเปิดเมืองและการท่องเที่ยวที่ชัดเจน สตาร์ทอัพสายท่องเที่ยวที่ตายไปก็น่าจะเริ่มกลับมาได้ โดยคาดว่าจะได้เห็นทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงประมาณไตรมาส 3-4 ปี 2565

ด้าน นายภัทรพร โพธิ์สุวรรณ์ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ (Thailand Tech Startup Association : TTSA) กล่าวว่าการลงทุนสตาร์ทอัพมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก นักลงทุนเลือกลงทุนเฉพาะเฉพาะสตาร์ทอัพที่มีธุรกิจที่ดี มีโอกาสการเติบโต เป็นการลงทุนเพื่อต่อยอด หรือขยายตลาดออกไป ส่วนการลงทุนสตาร์ทอัพระดับเริ่มต้นนั้นหายไป โดยไม่ได้ถูกไฮไลต์เหมือนที่ผ่านมา และไม่ใช่เป้าหมายการลงทุนของ Corporate VentureCapital หรือ CVC ขณะที่การสนับสนุนภาครัฐในสตาร์ทอัพระดับเริ่มต้นนั้นไม่ได้รับความสนใจจากกลุ่มนักลงทุน เนื่องจากสตาร์ทอัพเริ่มต้นส่วนใหญ่ไม่มีตลาด

“ภาวะแวดล้อมการลงทุนสตาร์ทอัพ ก่อนโควิด และหลังโควิด เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ธุรกิจที่เคยเฟืองฟูหายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะทางด้านท่องเที่ยว หรือกิจกรรมอีเว้นต์ สัมมนา ต่างๆ ทำให้สตาร์ทอัพที่เกี่ยวข้องและวางแผนระดมทุนได้รับผลกระทบทั้งหมด ขณะเดียวกันยังมีผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามา มีองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ กระโดดลงมาพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการเองกับฐานลูกค้าที่มีระดับล้านราย ทำให้สตาร์ทอัพระดับบุคคลเกิดยาก ขณะที่เงินลงทุนในตลาดยังมีอยู่เหมือนเดิม แต่นักลงทุนเองก็ระมัดระวังมากขึ้นเลือกลงทุนเฉพาะธุรกิจที่มีโอกาสเติบโต มีตลาดอยู่แล้ว ไม่ได้เลือกลงทุนในธุรกิจที่มีเฉพาะไอเดียเหมือนในอดีต”

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการสตาร์ทอัพรายหนึ่ง กล่าวว่าการลงทุนในสตาร์ทอัพช่วงต้นปีนี้ ชะลอตัวต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยการลงทุนของ Corporate Venture Capital หรือ CVC องค์กรใหญ่เลือกลงทุนเฉพาะสตาร์ทอัพ ที่เกื้อหนุนกับธุรกิจของตัวเอง ทำให้การลงทุนในสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีเชิงลึก Deep Tech ไม่ค่อยเกิดขึ้น ส่วนการลงทุนของสตาร์ทอัพระดับเริ่มต้นธุรกิจนั้นแถบจะหายไปเกือบหมด

หน้า 1 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,663 วันที่ 21 - 24 มีนาคม พ.ศ. 2564