สรุป 3 ปรากฏการณ์เด่น ปิดฉากท่องเที่ยวปี 63

01 ม.ค. 2564 | 06:15 น.

โควิด-19 กระทบต่อการท่องเที่ยวโลก ไทยก็หนีไม่พ้น ซึ่งในปี 63 มีปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด และท่ามกลางวิกฤติก็เกิดการลงทุนใหม่ด้วย “ฐานเศรษฐกิจ” ได้สรุปประเด็นมานำเสนอ

1. ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์

นับเป็นครั้งแรกในรอบ 50 ปี ที่ในเดือนเม.ย.63 ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นศูนย์ และยังคงเป็นศูนย์ต่อเนื่องมาเป็นเวลาร่วม 6 เดือน (เมย.-ก.ย.63) จากมาตรการห้ามอากาศยานพาณิชย์บินเข้าไทย เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 

เพิ่งจะเริ่มมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทยอยขยับเข้ามาได้บ้างในเดือนต.ค.63 จากการที่รัฐบาลทยอยผ่อนคลายให้ต่างชาติบางกลุ่มเดินทางเข้าไทยได้ โดยปลดล็อกวีซ่าประเภทต่างๆ ให้เดินทางเข้าไทยได้ แต่ยังคงต้องกักตัว 14 วัน และอนุญาติให้สายการบินเปิดให้บริการเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ 

แต่ตั้งแต่เดือนต.ค.-9 พ.ย.63 มีต่างชาติเข้าไทยได้เพียง 1,277 คนเท่านั้น อาทิ นักท่องเที่ยวกลุ่มSpecial Tourist Visa (STV) 315 คน กลุ่มสมาชิกบัตรอีลิทการ์ด 261 คน กลุ่มวีซ่าลองสเตย์ (วีซ่าOA/OX) 420 คน  ทัวริสต์ วีซ่า 54 คน ซึ่งก็เทียบไม่ได้กับช่วงก่อนโควิด-19 ที่ไทยจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาราว 3 ล้านคนต่อเดือน 

การหายไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงดับฝันการท่องเที่ยวไทยในปี 63 ลงอย่างสิ้นเชิง และกระทบต่อธุรกิจท่องเที่ยวทั้งระบบ เพราะรายได้จากต่างชาติ อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท จากจำนวน 39.7 ล้านคนในปี62 คิดเป็นสัดส่วน 64% ขณะที่รายได้จากเที่ยวในประเทศ อยู่ที่ 1.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 36%

สรุป 3 ปรากฏการณ์เด่น ปิดฉากท่องเที่ยวปี 63

แม้ตลอดปี 63 รัฐบาลจะพยายามกระตุ้นการเดินทางเที่ยวในประเทศ แต่ก็ไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยงให้ธุรกิจท่องเที่ยวในภาพรวมเดินหน้าได้ โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวหลักที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ธุรกิจต่างๆต้องทยอยปิดกิจการ และเริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการหลังจากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวได้ 

โดยการออกมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายที่พัก 40% ให้คนไทยเดินทางท่องเที่ยวผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ส่งผลให้ในปี 63 อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของธุรกิจโรงแรมในภาพรวมขยับจาก 2% มาเป็น 37% ในปัจจุบัน 

แต่สำหรับโรงแรมในเมืองท่องเที่ยวหลักที่รองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ถึงวันนี้

ก็ยังกลับมาเปิดให้บริการได้ไม่เหมือนเดิม อย่างภูเก็ต สมุย จากโรงแรมที่เคยมีอยู่เกือบ 1 แสนห้อง กลับมาเปิดให้บริการได้ไม่ถึง 20% ส่วนโรงแรมที่รองรับนักท่องเที่ยวไทยภายในรัศมีขับรถไม่เกิน 350 กิโลเมตร ก็พอจะขายได้บ้างในช่วงสุดสัปดาห์ ขณะที่อีกหลายธุรกิจจนถึงวันนี้ก็ยังคงปิดให้บริการอยู่ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทนำเที่ยวอินบาวด์ มัคคุเทศก์ 

ปี 63 จึงเป็นปีที่ดับฝันการท่องเที่ยวอย่างแท้จริง จากก่อนโควิด-19 ไทยวางเป้าหมายการสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 3.22 ล้านล้านบาท จากต่างชาติเที่ยวไทย 40.14 ล้านคน สร้างรายได้ 2.05 ล้านล้านบาท และไทยเที่ยวไทย 172.99 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 1.17 ล้านล้านบาท แต่หลังโควิด คาดว่าไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวอยู่ที่ 8.32 แสนล้านบาท โดยจะมีต่างชาติเที่ยวไทยอยู่ที่ 6.69 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่สะสมมาจากไตรมาสแรก สร้างรายได้ 3.32 แสนล้านบาท และเที่ยวในประเทศอยู่ที่ 90.23 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้อยู่ที่ 5 แสนล้านบาท

2.  ธุรกิจสายการบินโคม่า-ล้มละลาย

ปี63 จัดว่าเป็นปีที่มีสายการบินต่างๆทยอยล้มละลายมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ ส่วนที่ยังคงประกอบการได้อยู่ ก็ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางในการลดต้นทุน และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนงบจากรัฐบาลของประเทศนั้นๆเพื่อต่อลมหายใจ

เพราะธุรกิจการบินหลังโควิด-19 ทุกสายการบินล้วนแต่อยู่ในอาการโคม่า จากการเดินทางทั่วโลกที่ต้องหยุดชะงักไป 

 สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาต้า) ประเมินล่าสุดว่าในปี63 อุตสาหกรรมการบินโลกจะขาดทุนมากถึง 118,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากจำนวนผู้โดยสารจะลดลงเหลือ 1,800 ล้านคน ลดลงจาก 4,500 ล้านคนในปี 2562 

การประเมินดังกล่าวตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ว่าในกลางปี64 จะมีการเปิดพรมแดนระหว่างประเทศ โดยได้แรงหนุนจากการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และการพัฒนาวัคซีน

สรุป 3 ปรากฏการณ์เด่น ปิดฉากท่องเที่ยวปี 63

ทั้งนี้ตั้งแต่เกิดโควิดจนถึงปัจจุบันมีสายการบินต่างๆระงับการเปิดให้บริการรวมแล้ว
กว่า 43 ราย ขณะที่สายการบินรายใหญ่ต่างๆก็ทยอยล้มละลายไปแล้วหลายราย

โดยในส่วนของประเทศไทย สายการบินนกสกู๊ต ได้ปิดฉากไปแล้ว ขณะที่การบินไทย และนกแอร์ อยู่ระหว่างกระบวนการฟื้นฟูกิจการ ภายใต้ศาลล้มละลายกลาง 

จากภาระหนี้สินล้นพ้นตัว  ซึ่งนกแอร์ มีภาระหนี้  25,500 ล้านบาท ขณะที่ การบินไทย มีหนี้อยู่ 332,199 ล้านบาท

นอกจากนี้สายการบินเอกชนของไทย ไม่ว่าจะเป็น ไทยสมายล์,ไทยแอร์เอเชีย, ไทยไลอ้อนแอร์, ไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์, ไทยเวียตเจ็ท, บางกอกแอร์เวย์ส, นกแอร์ ต่างก็รอความหวังการขอรับการสนับสนุนซอฟท์โลนจากรัฐบาลที่ขอลดลงจาก 2.4 หมื่นล้านบาทเหลือ 1.4 หมื่นล้าน เพื่อหวังประคองการจ้างแรงงาน เพื่อกันไว้สำหรับจ่ายเงินเดือนพนักงานของสายการบินเหล่านี้นั่นเอง 

3.  คิกออฟลงทุนเมืองการบินอู่ตะเภา

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.63 โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก ก็ถึงเวลาเดินหน้า เมื่อบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ซึ่งประกอบไปด้วยบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)  บริษัท บีทีเอส กรุ๊ปโฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามในสัญญาร่วมลงทุนกับทาง อีอีซี สัญญา 50 ปี 

สรุป 3 ปรากฏการณ์เด่น ปิดฉากท่องเที่ยวปี 63

หลังประมูลชนะกลุ่มซีพี ขาดลอยกับการเสนอผลตอบแทนให้ 305,555 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มซีพี ที่เสนอ 102,217 ล้านบาท และกลุ่มแกรนด์ คอนซอเตียม เสนอ 100,903 ล้านบาท

 ทั้งนี้การลงทุนของ UTA จะมีการลงทุน แบ่งเป็น 4 เฟส ใช้เงินลงทุน 186,566 ล้านบาท แยกเป็นค่าซ่อมบำรุง 61,849 ล้านบาท ที่เหลือเป็นค่าก่อสร้าง 124,717 ล้านบาท จะใช้ระยะเวลาคืนทุน 15-16 ปี

สรุป 3 ปรากฏการณ์เด่น ปิดฉากท่องเที่ยวปี 63 ระยะที่ 1 ลงทุน 31,219 ล้านบาท ใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี เปิดปี 2567 มีอาคารผู้โดยสารขนาดพื้นที่กว่า 157,000 ตร.ม. พื้นที่กิจกรรมเชิงพาณิชย์ อาคารจอดรถ ศูนย์ขนส่งภาคพื้นดิน และหลุมจอดอากาศยาน 60 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปี พ.ศ. 2567 สามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 15.9 ล้านคน/ปี

ระยะที่ 2 ลงทุน 23,852 ล้านบาท มี อาคารผู้โดยสารมีพื้นที่เพิ่มขึ้นกว่า 107,000 ตร.ม.พร้อมทั้งติดตั้งระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) และระบบทางเดินเลื่อน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 16 หลุมจอด คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณปีพ.ศ.2573 โดยประมาณการว่า จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 30 ล้านคน/ป

ระยะที่ 3 ลงทุน 31,377 ล้านบาท เป็นการต่อขยายอาคารผู้โดยสารเพิ่มเติมจากระยะที่ 2 กว่า 107,000 ตร.ม.เพิ่มจำนวนรถขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) อีก 1 ขบวน รวมทั้งเพิ่มหลุมจอดอากาศยานอีก 34 หลุมจอด คาดว่าจะ แล้วเสร็จประมาณปีพ.ศ. 2585 ประมาณการรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 45 ล้านคน/ปี

ระยะที่ 4 หรือระยะสุดท้าย ลงทุน 38,198 ล้านบาท มีพื้นที่อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 เพิ่มขึ้น 82,000 ตร.ม.พร้อมติดตั้งระบบ Check-In อัตโนมัติ รวมทั้งเพิ่มหลุมจอด 14 หลุม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2598 และจะรองรับผู้โดยสารได้สูงสุด 60 ล้านคน/ปี 

หน้า 22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,640 วันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563 - 2 มกราคม พ.ศ. 2564