ดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯแถม"อีลิทการ์ด"-ซื้อคอนโดเริ่ม8ล้านได้สมาร์ทวีซ่า

12 ต.ค. 2563 | 03:30 น.

รัฐบาล จ่อดึงต่างชาติกู้วิกฤติอสังหาฯไทย ถก 2 แนวทาง ไล่ตั้งแต่ บีโอไอ ปรับเกณฑ์สมาร์ท วีซ่า เปิดทางให้ซื้อคอนโดเริ่มต้น 8 ล้านบาท ทั้งหนุนซื้ออสังหา แถม อีลิทการ์ด พร้อมจ่อดึงสมาชิกลงทุน 31.5 ล้านบาท ซื้ออสังหา-พันธบัตร ภายใน 1 ปี ได้รับ Work Permit

อสังหาริมทรัพย์ จัดว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบศ. จึงอยู่ระหว่างหารือถึงแผนการดึงดูดให้ต่างชาติเข้ามาซื้อคอนโดมิเนียม-กองทุนอสังหาฯ 

 

ทั้งนี้จากการหารือเบื้องต้นพบว่ามีข้อเสนอ 2 แนวทางได้แก่ 

 

1. ปรับเกณฑ์สมาร์ท วีซ่า เพื่อเพิ่มหลักเกณฑ์ให้ต่างชาติเข้ามาซื้อคอนโด และกองทุนอสังหาฯ ลงทุนเริ่มต้น 8 ล้านบาท โดยห้ามขาย เป็นเวลา 5 ปี ตามข้อเสนอของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ)

 

2. ใช้บัตรสมาชิก “ไทยแลนด์ อีลิทการ์ด” ดึงดูดให้ต่างชาติลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งมีการหารือใน 2 ประเด็น ได้แก่ กรณีต่างชาติที่เข้ามาซื้อ อสังหาฯในไทยจะแถมบัตรอีลิทการ์ด ซึ่งอีลิทการ์ด มีหลายแพ็กเกจ ราคาตั้งแต่ 5 แสนบาทถึง 2 ล้านบาท ราคาขายอสังหาฯก็จะต้องใกล้เคียงกับราคาอีลิทการ์ด 

อีลิทการ์ด มีจุดเด่นเรื่องสิทธิพิเศษวีซ่า อายุ 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีตามราคาบัตร ซึ่งประเด็นนี้สามารถดำเนินการได้ทันที เพราะอีลิทการ์ด อยู่ในการดูแลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) อยู่แล้ว

   ดึงต่างชาติซื้ออสังหาฯแถม"อีลิทการ์ด"-ซื้อคอนโดเริ่ม8ล้านได้สมาร์ทวีซ่า
อีกกรณีหนึ่งคือ กรณีที่คนซื้อบัตรอีลิทการ์ด หากมีการลงทุนภายใน 1 ปี เช่นซื้ออสังหาฯในไทยหรือลงทุนในพันธบัตร วงเงิน1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (31.5 ล้านบาท) จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้เพิ่มเติม  อย่าง การให้ Work Permit (ใบอนุญาตทำงาน) ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวพันกับหลายหน่วยงาน จึงยังคงต้องหารือถึงความเป็นไปได้ก่อน

อย่างไรก็ตามข้อเสนอทั้ง 2 แนวทางจะต้องนำเข้าหารือในรายละเอียดในที่ประชุม ศบศ. หากได้ข้อสรุปก็จะนำเสนอครม.เห็นชอบต่อไป ซึ่งการดึงต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาฯในไทย ไม่เพียงช่วยเหลือผู้ประกอบการอสังหาฯเท่านั้น แต่ยังทำให้เกิดประโยชน์ในการใช้จ่ายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวด้วยเช่นกัน

 

ด้านแหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด (ทีพีซี) กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าในอดีต อีลิทการ์ด เคยพยายามผลักดันการขายบัตรควบคู่ไปกับการขายคอนโดมิเนียม ซึ่งก็มีบางกลุ่มเข้ามาติดต่อ เช่น บริษัท ณุศาศิริ จำกัด (มหาชน) แต่ถูก ครม.ตีกลับในปี2556 

 

แต่ปัจจุบันจากผลกระทบของโควิด-19 ทำให้มีแนวคิดในเรื่องนี้อีกครั้ง แต่จะเป็นในรูปแบบของการดึงสมาชิกที่ถือบัตรอีลิทการ์ด อยู่แล้ว จูงใจให้เข้ามาลงทุนซื้ออสังหาฯในไทย

 

"แม้จะเกิดโควิด-19 แต่ยอดขายบัตรอีลิทการ์ด ก็ยังมีการขายได้อย่างต่อเนื่อง อาทิ ในเดือนกุมภาพันธ์ ขายได้ 204 ใบ มีนาคม 295 ใบ เมษายน 240 ใบ พฤษภาคม 136 ใบ มิถุนายน 227 ใบ กรกฎาคม 245 ใบ ซึ่งลูกค้าคนจีน สนใจยื่นใบสมัครเข้ามาเป็นจำนวนมาก 

 

โดยนับจากกลางเดือนมิถุนายนเป็นต้นมา  ทางบริษัทตัวแทน อีลิท การ์ดในจีน ได้รับการสอบถามเข้ามาก หลังจากจีนเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวจากโควิด-19 ในไทยและมีคนจีนเริ่มมองหาบ้านหลังที่ 2 ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าวทิ้งท้าย

 

ปัจจุบันสมาชิกอีลิทการ์ด มี 9,380 ราย (เป็นสมาชิกเก่าก่อนปี 2556 ที่เป็นสมาชิกตลอดชีพที่เลิกขายไปแล้ว) 2,438 ราย และสมาชิกใหม่ (หลังปี2556 ที่กำหนดอายุบัตรตั้งแต่5-20 ปี) 6,942 ราย สมาชิกอีลิทการ์ด ในจำนวนนี้เป็นคนจีน 2,086 ราย คิดเป็น 22%  

 

จีนจึงเป็นลูกค้าหลักของอีลิทการ์ด และมีแนวโน้มที่คนจีน จะเข้ามาซื้ออีลิท การ์ด เพิ่มขึ้น และมีความเป็นไปได้สูงที่จะเข้ามาซื้ออสังหาฯในไทยหลังโควิด-19  เนื่องจากคนจีนมีสิทธิเป็นเจ้าของทรัพย์สิน ประกอบกับการเติบโตของชนชั้นกลาง ทำให้คนจีน มองการซื้ออสังหาฯในกรุงเทพ ภูเก็ต พัทยา เพื่อลงทุนระยะยาว และอยู่อาศัยเป็นบ้านหลังที่ 2 และไทยเป็นตัวเลือกที่ดี เพราะมีระบบสาธารณสุขที่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี  

 

สำหรับภาพรวมธุรกิจอสังหาฯของไทยขณะนี้ ท่ามกลางโควิด-19 ตลาดเรสซิเด้นท์ ในรูปแบบลักชัวรี ที่มีแบรนด์ หรือ Branded Residences ที่ใช้แบรนด์โรงแรม  จัดว่าเป็นอสังหาริมทรัพย์ในเซ็กเมนต์เดียว ที่ยังคงมีแรงซื้อแต่ตลาดอสังหาส่วนใหญ่ อยู่ในภาวะวิกฤติ จากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างมาก 

 

ดังนั้นภาครัฐ จึงมีแนวคิดที่จะดึงให้ต่างชาติเข้ามาซื้ออสังหาในไทย เพื่อลดกระทบในภาคอสังหาฯที่เกิดขึ้น เพราะถ้าอสังหาฯไทยมีปัญหา ก็จะกระทบต่อสถาบันการเงินด้วยเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

โคโรนาไม่กระทบ อีลิทการ์ด  รุกปั๊มยอดขาย 2.5 พันใบ

ข่าวหน้า1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3615 วันที่ 4-7ตุลาคม2563