ธปท.จ่อบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานเครดิตเทอมกับธุรกิจรายใหญ่ธันวาคม63

26 ก.ย. 2563 | 03:30 น.

ธปท.จ่อบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานเครดิตเทอมกับธุรกิจรายใหญ่เดือน ธ.คปี63 ก่อนขยายผลไตรมาส1ปี64คู่ค้าSME

ตามที่ กรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบศ.) ได้เห็นชอบแนวทางมาตรการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา การให้สินเชื่อการค้า (Credit term) ในประเทศไทย ตามข้อเสนอของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และมหาวิทยาลัยหอการค้าเมื่อวันที่16กันยายน2563

 
นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ ที่ปรึกษา ประจำสภามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ผลศึกษา กลุ่มตัวอย่างสมาชิกสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยจำนวน 422 รายสำรวจระหว่างวันที่ 26-29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งครอบคลุมทุกภูมิภาคและอุตสาหกรรมนั้นพบว่า  ผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบจากคู้ค้าที่เป็นธุรกิจรายใหญ่ขยายระยะเวลาเครดิตเทอมเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวโดยเฉลี่ยเป็น 60 วันและบางธุรกิจขยายสูงถึง 120 วันเมื่อเทียบปี2559เครดิตเทอมเคยอยู่ที่ 30-45 วัน ทั้งนี้ส่วนใหญ่ 96% มีการซื้อขายสินเชื่อการค้า ที่เหลือเพียง 4% เป็นการซื้อขายเป็นเงินสด
อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจดังกล่าวยืนยันว่าเมื่อสภาพเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจหรือเป็นคู่ค้าหรือเป็น supplier ให้กับธุรกิจรายใหญ่มักจะถูกขยายเครดิตเทอมให้ยาวนานขึ้น ซึ่งSMEsที่เป็นคู้ค้าหรือ Supplier จะไม่มีอำนาจต่อรองซึ่งการที่ถูกขยายเครดิตเทอมออกไป 3-4เดือนทำให้SMEsประมาณ 38.5%สภาพคล่องทางการเงินลดลง 16.2% ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงและ 27.6%มีภาระหนี้มากขึ้นจากการกู้ยืมนอกระบบ 

ขณะที่SMEsได้มีการปรับตัวในรูปแบบต่างๆ เช่น เสนอให้ลูกค้าชำระบางส่วน 40.6% ให้ส่วนลดเพื่อจูงใจให้ลูกค้าชำระเงินตามกำหนดเดิมหรือเร็วขึ้น 35.5% หรือการขอสินเชื่อเพิ่มเติมจากสถาบันการเงิน และสินเชื่อนอกระบบถึง 15.3% และ 8.6% ตามลำดับ ทั้งนี้ การขอสินเชื่อหรือเงินกู้นั้นอาจจะรวมถึงรูปแบบของการขายหุ้นให้ผู้ร่วมลงทุนด้วย


นางสาวฐิตา เภกานนท์ เศรษฐกรอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ประเด็นSMEsถูกยืดเครดิตเทอมนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้น ในหลายประเทศทั่วโลก เห็นได้การกำหนดแนวปฏิบัติในประเทศอังกฤษ เกี่ยวกับเครดิตเทอม โดยกำหนดให้ลูกหนี้การค้าชำระเงิน 95%ของมูลค่าตามใบInvoiceด้วยเงื่อนเครดิตเทอมที่ 60 วัน และกำหนดบทลงโทษทั้งตัดหรือ ลดสิทธิ์ การทำธุรกิจร่วมกับภาครัฐหรือเพิกถอน Certlflcate กรณีผิดหรือเกินเงื่อนไข


ส่วนแนวปฎิบัติของสหภาพยุโรปหรือ EU กำหนดเครดิตเทอมที่ 60 วัน ส่วนมูลค่าที่ต้องชำระขึ้นอยู่กับบริบทแต่ละประเทศแต่กรณีผิดเงื่อนไขจะต้องเสียค่าปรับเป็นดอกเบี้ยจ่ายและชดเชย recovery Costขั้นต่ำ 40 ยูโร 

ส่วนออสเตรเลียกำหนดเครดิตเทอมที่ 30 วันกรณีเกินเงื่อนไขจะเพิกถอน certificateและในจีนแนวปฏิบัติกำหนด เครดิตเทอมไว้ที่ 30 วันสูงสุดไม่เกิน 60 วันกรณี ถ้าธุรกิจไม่ปฏิบัติหรือ ผิดเงื่อนไขจะต้องเสียดอกเบี้ยจ่ายเงินกู้ระยะ 1 ปีตามอัตราตลาด และเสียค่าปรับ ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1เดือนกันยายน2563 
" จีนเป็นประเทศตัวอย่างที่ออกแนวปฏิบัติมาช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ถูกกระทบจากโควิด แต่ในเมืองไทยยังไม่มีการกำหนดแนวปฎิบัติ  จึงใช้ผลศึกษานี้กำหนดเกณฑ์เครดิตเทอมมาตรฐานทั้งขารับและขาจ่าย ลูกหนี้การค้าควรชำระหนี้เงินให้คู่ค้าภายในระยะเวลา 30 ถึง 45 วัน ตามความเหมาะสมของแต่ละอุตสาหกรรม"


สำหรับ แพกเกจเกณฑ์มาตรฐานเครดิตเทอมที่ได้รับความเห็นชอบจากศบศ. ประกอบด้วย 1.กำหนดเครดิตเทอม 30-45 วัน  2.บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ต้องเปิดเผยเครดิตเทอมโดยเฉลี่ยในการจัดทำแบบแสดงรายการประจำปี(แบบ 56-1)และ 3.การสร้างแรงจูงใจด้านบวกให้กับภาคธุรกิจตามเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลา เครดิตเทอมอย่างต่อเนื่องและเคร่งครัด  เช่นการให้โควตาเข้าประมูลจัดซื้อจัดจ้าง หรือให้สิทธิพิเศษทางการเงินและการเข้าถึงสินเชื่อ 


นายจิตเกษม พรประพันธ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท. กล่าวว่า ข้อเสนอเกี่ยวกับการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานเครดิตเทอม นี้ทางสศช.ได้นำเสนอศบศ.และที่ประชุมศบศ.เห็นชอบแล้วเมื่อวันที่16กันยายนที่ผ่านมา ซึ่งกระบวนการได้กำหนดTimeframe เสนอให้มีผลบังคับใช้กับธุรกิจรายใหญ่เดือนธันวาคมปีนี้และคู่ค้าที่เป็นSMEs จะเริ่มใช้ไตรมาส1ปี2564 ระหว่างนี้ทาง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กรมธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ กลต.ศึกษาและกำหนดบทลงโทษและสร้างแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจนำไปปฏิบัติ"