โควิดฉุดตลาดวูบ ‘สตีเบล’ฮึดสู้ ดันยอดเครื่องน้ำอุ่น

12 ก.ค. 2563 | 10:50 น.

โควิดฉุดตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นทรุด “สตีเบล” ปรับโยกงบลงออนไลน์ พร้อมอัดกิจกรรมการตลาดดันยอดครึ่งปีหลัง

นายพัลลภ เชี่ยวชาญวิทยเวช ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาด บริษัท สตีเบล เอลทรอน เอเซีย จำกัด ผู้ผลิตเครื่องทำน้ำอุ่น น้ำร้อน “สตีเบล เอลทรอน” ประเทศเยอรมนี เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การระบาดของโควิด19 ส่งผลกระทบต่อยอดขายในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค. ลดลงกว่า 50% เนื่องจากโมเดิร์นเทรดได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์การขายใหม่โดยโฟกัสการทำตลาดไปยังช่องทางออนไลน์ และช่องทาง Business to Business (B2B) ที่มีสัดส่วนยอดขายอยู่ 30% แทน โดยอีก 20% จำหน่ายผ่านเทรดดิชันแนลเทรด

 

“แม้ในส่วนของประเทศไทยจะมียอดขายลดลงในช่วงที่มีการล็อกดาวน์แต่ทว่าในส่วนของยอดขายทั่วโลกจากบริษัทแม่ โดยเฉพาะในทวีปยุโรป และออสเตรเลียนั้น กลับมียอดขายเติบโตมากกว่า 10%”

พัลลภ เชี่ยวชาญวิทยเวช

สำหรับแผนงานของบริษัทในช่วงครึ่งปีหลังนับจากนี้ จะเป็นการโยกงบประมาณการตลาดที่เคยชะลอไว้ตั้งแต่ช่วงต้นปี กลับมาทำการตลาดในช่วงครึ่งปีหลังตั้งแต่ช่วงเดือนก.ค.เป็นต้นไป ทั้งในส่วนของสปอนเซอร์ชิฟ กับสโมสรโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ (Borussia Dortmund) การทำโปรโมชัน และการสร้างแบรนด์อะแวเนส รวมถึงการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ในทิศทางที่ดีขึ้น โดยจะโฟกัสการทำตลาดไปทั้งในช่องทางออนไลน์ผ่านงบการตลาดที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าที่นิยมสั่งซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้น ควบคู่กับการจัดกิจกรรมโปรโมชัน พาร์ตเนอร์มาร์เก็ตเพลสต่างๆ ในการทำตลาด

พร้อมกันนี้ยังมีแผนเปิดตัวสินค้าใหม่ในกลุ่มเครื่องทำน้ำอุ่น-น้ำร้อน 5 โมเดล เครื่องกรองน้ำ 2 โมเดล และคาดว่าจะมีการเปิดตัวเครื่องกรองน้ำออกมารุกตลาดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ โดยมั่นใจว่าในสิ้นปีจะสามารถผลักดันยอดขายที่มาจากช่องทางออนไลน์ได้มากกว่า 5% อย่างแน่นอน”

 

อย่างไรก็ตามสำหรับภาพรวมตลาดเครื่องทำน้ำอุ่นน้ำร้อนเมืองไทยในปีนี้จะติดลบอยู่ที่ราว 10% จากปีที่ผ่านมามีมูลค่ากว่า 2,900 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากการชะลอตัวของตลาดในช่วงครึ่งปีแรก จากปัจจัยลบต่างๆ ที่เข้ามา
กระทบ โดยในส่วนของบริษัทเองคาดการณ์ว่า ยอดขายในประเทศจะทรงตัวจากปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ในส่วนของการส่งออกอาจจะชะลอตัวลงมาบ้างเล็กน้อย เนื่องจากมีหลายประเทศยังคงล็อกดาวน์ทำให้การส่งออกยังไม่ปกติเท่าที่ควร จึงจำเป็นต้องมีการมอนิเตอร์ภาพรวมตลาดอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ยากจะประเมิน 

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,591 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2563